ยาลดความอ้วน ล้วนมีภัยแฝง (ตอนที่ 1)

เมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ เข้าตรวจสอบสินค้าบางส่วนที่วางจำหน่ายในร้านบิวตี้สกิน ย่านถนนวัวลายในตัวเมืองเชียงใหม่ พบสินค้าประเภทอาหารเสริม ยาลดความอ้วน และเครื่องสำอางรวม 54 ชนิด จำนวนกว่า 1,000 รายการ ซึ่งไม่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสินค้าบางรายการ เช่น ยาลดความอ้วน มีส่วนผสมของยาอันตราย ที่อาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงได้ยึดสินค้าทั้งหมด พร้อมกับดำเนินคดีกับเจ้าของร้านดังกล่าว

ปัจจุบัน ยาลดความอ้วน (Weight-loss pills) หาซื้อได้ง่ายมากขึ้น ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรอแพทย์ออกใบสั่งยา (Prescription) สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปดังเช่นในข่าว หรือแม้กระทั่งออนไลน์ แต่ทว่าความสะดวกที่มาในรูปของยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (Over-the-counter drug) เช่นนี้มีความเสี่ยงแฝงมาด้วย

เนื่องจากยาจำพวกที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์นี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับที่เข้มงวดเหมือนกับยาตามใบสั่งแพทย์ ดังนั้นจึงสามารถวางจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานยืนยันความได้ผลหรือความปลอดภัยมากนัก สินค้าที่วางตลาดแล้วจะได้รับการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) หากพบว่าเป็นสินค้าอันตราย ก็จะถูกสั่งเพิกถอน (Recall) ออกจากตลาด และสั่งห้ามจำหน่ายอีกต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก่อนจะตัดสินใจซื้อ เราจึงควรศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสารประกอบในยาแต่ละตัว ให้ละเอียดถี่ถ้วนจากฉลาก (Label) และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงความได้ผล (Effectiveness) และผลข้างเคียง (Side effects)

ยาอย่าง Alli ซึ่งชื่อสามัญที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ของยาที่ชื่อมีการค้าว่า Xenical นั้น มีสรรพคุณลดการดูดซึมของไขมัน ตามที่กล่าวอ้างจริง แต่ประสิทธิภาพนั้นด้อยกว่าตัวยา Xenical มาก และยังมีผลข้างเคียงอย่าง อุจจาระเหลว (Loose stool)ความไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย (Bowel movement) ได้ หรือแม้กระทั่งอาการที่พบน้อยแต่อันตรายอย่าง โรคตับ

ส้มซ่า (Bitter Orange) ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มการเผาผลาญของแคลอรี่ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าแทบไม่ได้ผล แถมยังมีผลข้างเคียงช่วยเพิ่มความดันเลือด และการเต้นของหัวใจ ส่วน โครเมียม (Chromium) ที่เข้าใจกันว่าช่วยลดความอยากอาหาร และเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่นั้น แทบจะไม่ได้ผล และยังมีผลข้างเคียง ทำให้ปวดหัว นอนไม่หลับ (Insomnia) อารมณ์แปรปรวน และประสาทการรับรู้ผิดปกติ (Cognitive dysfunction)

แม้กระทั่ง สารสกัดจากชาเขียว (Green tea) ยอดนิยม ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าได้ผลจริง ตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างว่า ช่วยลดความอยากอาหาร และเพิ่มการเผาผลาญไขมัน (Fat metabolism) และแคลอรี่ แต่สิ่งที่แน่นอนคือรายการยาวเหยียดของผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็น อาการวิงเวียน นอนไม่หลับ ปวดหัว คลื่นเหียน/คลื่นไส้ (Nausea) กระสับกระส่าย (Agitation) อาเจียน ท้องอืด (Bloating) และท้องเสีย (Diarrhea)

นอกจากผลข้างเคียงที่ไม่ดีต่อสุขภาพพอๆ กันแล้ว สิ่งที่ยาเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ ความไร้ประสิทธิภาพที่จะทำให้ผู้บริโภค “ผอม” ได้จริงไปตลอด หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ให้รอบคอบเสียก่อน แต่สิ่งที่จะทำให้รูปร่างคุณเปลี่ยนไปอย่างแท้จริง คือการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณต่างหาก หันมาควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อชีวิตที่ดีปราศจากผลข้างเคียงของยาจะดีกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.เชียงใหม่ ยึดเครื่องสำอางไม่ได้มาตรฐานกว่าพันรายการ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000122199&Keyword=%CA%D2%B8%D2%C3%B3%CA%D8%A2 [2012, October 6].
  2. Over-the-counter weight-loss pills: Do they work? http://www.mayoclinic.com/health/weight-loss/HQ01160 [2012, October 6].