ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไป

ยาฟูโรซีไมด์

ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) เป็นยาขับปัสสาวะที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคหัวใจล้มเหลว และอาการบวมของร่างกาย หลังจากที่ได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ฟูโรซีไมด์สามารถจับตัวกับโปรตีนในเลือดได้ 91-95% และบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ ตับและไต ยานี้ถูกขับออกจากร่าง กายทางไต/ทางปัสสาวะ โดยมิได้ถูกเปลี่ยนโครงสร้างได้ถึง 80-90% การบริหารยาทางคลินิก /ทางการปฏิบัติ มี 2 ช่องทาง คือ การฉีด (เข้าเส้นเลือด, เข้ากล้าม) และการรับประทาน

ยาฟูโรซีไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

สรรพคุณของยาฟูโรซีไมด์ คือ ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดอาการบวมน้ำของร่าง กาย

ยาฟูโรซีไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟูโรซีไมด์ นี้จะยับยั้งการดูดกลับของเกลือโซเดียม และ เกลือคลอไรด์จากปัสสาวะกลับสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณการขับออกทางปัสสาวะของเกลือโปแตสเซียมและสารแอมโมเนียออกจากร่างกาย ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น

ทางการแพทย์ได้นำยาฟูโรซีไมด์ มาใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูง และลดภาวะบวมน้ำของร่างกาย หลังการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ยาฟูโรซีไมด์จะออกฤทธิ์และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ โดยมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกับช่วงที่รับประทานยาเข้าไป สำหรับผู้ที่มีภาวะตับ-ไตทำหน้าที่บกพร่อง จะทำให้ยานี้อยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้น ดังนั้นแพทย์จึงเป็นผู้ที่สามารถสั่งจ่ายยานี้ได้ถูกต้องและปลอดภัยที่สุด

ยาฟูโรซีไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟูโรซีไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ดขนาด 40 มิลลิกรัม
  • ยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ยาฟูโรซีไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟูโรซีไมด์ มีขนาดรับประทาน ดังนี้

  • ผู้ใหญ่รับประทาน 1–2เม็ด/วัน ปริมาณสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 1 กรัม/วัน สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การปรับขนาดการรับประทาน หรือการให้ยาฉีด ขึ้น อยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
  • สำหรับในเด็ก ขนาดการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟูโรซีไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดัง นี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ความพิ การ หรือการแท้งบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟูโรซีไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาฟูโรซีไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟูโรซีไมด์ นี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำ การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน วิงเวียน และปวดศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟูโรซีไมด์อย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาฟูโรซีไมด์ ได้แก่

  • ห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (ส่วนในหญิงให้นมบุตร ต้องขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ เพราะยาผ่านออกมาในน้ำนมได้) ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดเกลือแร่ และผู้ที่มีโรคตับระยะรุนแรง
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคไต โรคต่อมลูกหมากโต
  • ควรระวังการใช้ยากับผู้ที่อยู่ในภาวะจำกัดน้ำและเกลือแร่

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาฟูโรซีไมด์) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟูโรซีไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟูโรซีไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ดังนี้

  • การรับประทานยาฟูโรซีไมด์ร่วมกับยาแก้ปวด สามารถทำให้เกิดพิษและก่อให้เกิดความเสียหายกับไตได้ ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่น ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAID)
  • การใช้ยาฟูโรซีไมด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษกับไต และสูญเสียการได้ยิน วิงเวียน ซึ่งโดยมากมักเกิดกับผู้สูงอายุ ยาปฏิชีวนะกลุ่มดังกล่าว เช่น Amikacin Tobramycin และ Gentamycin เป็นต้น
  • การใช้ยาฟูโรซีไมด์ร่วมกับยาที่เพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ สามารถทำให้เกิดภาวะการเต้นของหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการเวียนศีรษะ เป็นลม ติดตามมา ยาที่เพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ดังกล่าว เช่น Cisapride

ควรเก็บรักษายาฟูโรซีไมด์อย่างไร?

สามารถเก็บยาฟูโรซีไมด์ ในอุณหภูมิห้อง พ้นแสงแดดและความชื้น และต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ

ยาฟูโรซีไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นทางการค้าของยาฟูโรซีไมด์ และบริษัทผู้ผลิตยานี้ในประเทศไทย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dema (ดีมา)T. Man Pharma
Dirine (ไดรีน)Atlantic Lab
Femide (ฟีไมด์)MacroPhar
Frusemide (ฟรูซีไมด์)Utopian
Frusil (ฟรูซิล)Suphong Bhaesaj
Fudirine (ฟูไดรีน)P P Lab
Furetic/Furetic-S (ฟูเรติก/ฟูเรติก-เอส)Siam Bheasach
Furide (ฟูไรด์)Polipharm
Furine 40 (ฟูรีน-40)Medicine Products
Furomed (ฟูโรเมด)Inpac Pharma
Furomide (ฟูโรไมด์)Medicpharma
Furosemide GPO (ฟูโรซีไมด์ จีพีโอ)GPO
Furozide (ฟูโรไซด์)A N H Products
Fuseride (ฟูซีไรด์)Pharmasant Lab
Fusesian (ฟูซีเซียน)Asian Pharm
Hawkmide (ฮอคไมด์)L. B. S.
H-Mide (เฮท-ไมด์)Macro Phar
Lasiven (เลซีเวน)Umeda
Lasix/Lasix High Dose (เลซิก/เลซิก ไฮท์ โดส)Sanofi-aventis
Prosix (โพรซิก)Inpac Pharma
T P Furosemide (ที พี ฟูโรซีไมด์)T P Drug

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/drug-interactions/furosemide-index.html?filter=3&generic_only= [2014,Jan19].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Furosemide [2014,Jan19].
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/furosemide [2014,Jan19].