ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) จัดเป็นยาประเภท แอลฟา1-แอดริเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ อะโกนิส (Alpha 1- Adrenergic receptor agonist, ยาเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ) ถูกนำมา ใช้ด้วยวัตถุประสงค์ระงับน้ำมูกมากเนื่องจากโรคหวัด ใช้เป็นยาขยายรูม่านตา และช่วยเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ

ยาฟีนิลเอฟรีน ถูกวางจำหน่ายและใช้เป็นทางเลือกทดแทนยาซูโดเอฟิดรีน (Pseudoephedrine) ด้วยซูโดเอฟิดรีนสามารถนำไปผลิตเป็นยาเสพติดประเภทยาบ้าได้

ในด้านการบริหารยา/การนำยามาใช้มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นยาเม็ดและยาน้ำสำหรับรับประทาน หรือยาหยอดจมูก หรือสเปรย์ทางจมูก เป็นยาหยอดตา ยาเหน็บทวาร หรือยาฉีด

ร่างกายสามารถดูดซึมฟีนิลเอฟรีนจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 38% เมื่อยาเข้าสู่กระ แสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 95% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของฟีนิลเอฟ รีน และร่างกายต้องใช้เวลา 2.1 - 3.4 ชั่วโมงเพื่อขับยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะเป็นส่วนมาก

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาฟีนิลเอฟรีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยอยู่ในหมวดยาหยอดตา

สำหรับตลาดยาของบ้านเรา สามารถพบเห็นฟีนิลเอฟรีนในรูปแบบยาผสมชนิดรับประทานเช่น กลุ่มยาแก้โรคหวัดที่มีส่วนผสมยาฟีนิลเอฟรีนกับยาคลอเฟนิรามีน(Chlorpheniramine) หรือกับยาบรอมเฟนิรามีน(Brompheniramine) ร่วมกับยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยังมีการใช้ในรูปแบบยาใช้ภายนอกอีกหลายรายการที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นด้วยวัตถุประสงค์การรักษาโรคใดๆก็ตาม จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาฟีนิลเอฟรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาฟีนิลเอฟรีน

ยาฟีนิลเอฟรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บรรเทาอาการคัดจมูกเนื่องจากมีน้ำมูกมาก
  • รักษา ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก
  • ใช้ขยายรูม่านตาในการรักษาโรคทางตา
  • รักษาโรคริดสีดวงทวารในรูปแบบยาเหน็บ (ไม่ขอกล่าวรายละเอียดในบทความนี้)

ยาฟีนิลเอฟรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟีนิลเอฟรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดฝอย และจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรูม่านตาขยายออกเมื่อนำมาหยอดตา จากกลไกเหล่านี้ทำให้ฟีนิลเอฟรีนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ยาฟีนิลเอฟรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีนิลเอฟรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาแก้ปวด+ยาลดไข้ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 5 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้+ยาลดไข้ ขนาดความแรง 10 และ 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดที่ผสมรวมกับยาลดไข้+ยาแก้ไอ+ยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้ ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้+ยาลดไข้ ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาน้ำที่ผสมรวมกับยาแก้แพ้+ยาแก้ไอ ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.09 และ 0.12 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 2.5 และ 10 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

ยาฟีนิลเอฟรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟีนิลเอฟรีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับอาการ คัดจมูก น้ำมูกมาก: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine HCl รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 2 - 6 ปี: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 1.87 - 3.75 มิลลิ กรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6 - 12 ปี: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine HCl รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุกๆ 4 ชั่ว โมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 3.75 - 7.5 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine HCl รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 7.5 - 15 มิลลิกรัมทุกๆ 12ชั่วโมง
  • ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

ข. สำหรับอาการความดันโลหิตต่ำ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ตัวยารูปแบบ Phenylephrine HCl เริ่มต้นฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดใต้ผิวหนัง 2 - 5มิลลิกรัม หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ขนาด 100 - 500 ไมโครกรัม อาจให้ยาซ้ำโดยรอเวลาอีก 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ
  • เด็ก: ขนาดยาฉีดในเด็กขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เพราะต้องขึ้นกับความรุนแรงของอาการ อายุ และน้ำหนักตัวของเด็ก

อนึ่ง:

  • ขนาดการใช้ยานี้ในตัวยาทุกรูปแบบต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ในยารับประทานผู้ป่วยไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานหรือเพิ่มขนาดการรับประทานด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีนิลเอฟรีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีนิลเอฟรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีนิลเอฟรีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาฟีนิลเอฟรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีนิลเอฟรีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • วิตกกังวล
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า ผิดปกติ
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ปวดหัว
  • ปลายมือ - เท้าเย็น
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • เหงื่อออกมาก
  • อ่อนแรง
  • หวาดกลัว
  • กระสับกระส่าย
  • นอนไม่หลับ
  • รู้สึกสับสน
  • เบื่ออาหาร
  • ปัสสาวะขัด
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • ร่างกายมีภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น อาการเช่น อ่อนเพลีย ซึม หายใจเร็ว หายใจลำบาก
  • หัวใจมีการบีบตัวเพิ่มขึ้นจนอาจเกิด ภาวะเจ็บหน้าอก และ หัวใจหยุดเต้น หรือ
  • เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจนเป็นเหตุให้มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนิลเอฟรีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟีนิลเอฟรีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Ventricular tachycardia)
  • ห้ามรับประทานร่วมกับยากลุ่ม MAOI ต้องเว้นระยะเวลาหลังการใช้ MAOI อย่างน้อย 14 วัน ขึ้นไป จึงค่อยรับประทานฟีนิลเอฟรีน
  • ห้ามใช้ยาฟีนิลเอฟรีนที่เป็นชนิดยาหยอดตาในผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ), ผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดระยะรุนแรง, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต
  • การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนในรูปยาหยอดจมูกหรือยาพ่นจมูกเป็นเวลานานๆ สามารถก่อให้เกิดอาการคัดจมูกจากจมูกบวมเมื่อหยุดใช้ยาหรือที่เราเรียกกันว่า Rebound congestion
  • ระวังการใช้ยาหยอดตาที่มีฟีนิลเอฟรีนในปริมาณสูงๆกับ เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ด้วยยาหยอดตาฟีนิลเอฟรีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาชนิดรับประทาน
  • เลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อหายามาใช้ด้วยตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ไอ ยาแก้โรคหวัด/ไข้หวัด ที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนจากร้านขายยามาใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และการใช้ยานี้กับเด็กเล็กควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนิลเอฟรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนร่วมกับยากลุ่ม Nonselective beta-blockers และกลุ่ม MAOI สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจนถึงขั้นเป็นอันตรายกับผู้ป่วย จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนร่วมกับยารักษาอาการปวดเกร็งของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เช่นยา Hyoscyamine อาจทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับเวลาหรือขนาดของการรับประทานยาให้เหมาะสม และควรต้องเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจอย่างใกล้ชิด
  • การใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนในผู้ป่วยโรคต้อหิน จะก่อให้เกิดแรงดันในลูกตาเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นข้อห้ามมิให้ใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของฟีนิลเอฟรีนกับผู้ป่วยโรคต้อหินโดยเด็ดขาด
  • การใช้ยาฟีนิลเอฟรีนกับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือต้องเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาฟีนิลเอฟรีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาฟีนิลเอฟรีน เช่น

  • ยาชนิดเม็ดและยาน้ำ เก็บที่อุณหภูมิห้อง
  • ควรเก็บยาฉีดที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สามารถเก็บยาหยอดตาที่อุณหภูมิห้อง แต่ยาหยอดตาบางสูตรตำรับแนะนำให้เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องอ่านฉลากยา/ เอกสารกำกับยาให้ดี)
  • นอกจากนี้ ควรเก็บยานี้ทุกรูปแบบ โดย
    • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
    • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาฟีนิลเอฟรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีนิลเอฟรีน มียาชื่อการค้า และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aorinyl (เอโอรีนิล)Medicine Products
Apracur (อะพราเคอร์)Apracure
Asiatapp (เอเชียแท็ป)Asian Pharm
Bepeno (เบเพโน)Milano
Bepeno-G (เบเพโน-จี)Milano
Bromceryl (บรอมเซอริล)Suphong Bhaesaj
Bromesep (บรอมอีเซพ)Siam Bheasach
Bromlamine (บรอมลามีน)Chinta
Bromped (บรอมเพด)B L Hua
Bromtussia (บรอมทัสเซีย)Asian Pharm
C-Colotab (ซี-โคโลแท็บ)Chinta
Centapp (เซนแท็บ)Central Poly Trading
Chlorgest (คลอเจส)Ranbaxy
CliniCold (คลีนิโคล)Bangkok Lab & Cosmetic
Coolby Cough (คูลบี คอท)Central Poly Trading
Decolgen (ดีคอลเจน)Great Eastern
Dimetapp Elixir (ไดมีแท็บ อิลิเซอร์)Pfizer Consumer Healthcare
Ditap (ไดแท็บ)T. O. Chemicals
Eye-Gene (อาย-จีน)LF Asia
K.B. Fedamol (เค.บี. เฟดามอล)K.B. Pharma
McXY Cold (แม็กซ์ซี คูล)Millimed
Meditapp (เมดิแท็บ)Medifive
Mexy (เม็กซี่)Millimed
Nasotane (นาโซแทน)Community Pharm PCL
Nasotapp (นาโซแท็บ)Community Pharm PCL
Pacogen (พาโคเจน)Chinta
Painol (ไพนอล)The Forty-Two
Phemine (เฟมีน)T. Man Pharma
Phenylephrine HCl Silom Medical (ฟีนิลเอฟรีน เฮชซีไอ สีลม เมดิคอล)Silom Medical
Polydrop (โพลีดร็อป)Central Poly Trading
Sinufen (ซินูเฟน)Medicpharma
St Luke's Cold (เซนต์ ลุกส์ โคล)British Dispensary (L.P.)
Tiffy (ทิฟฟี่)Thai Nakorn Patana
Unihist (ยูนิฮิสท์)Unison
Visotone (วิโซโตน)British Dispensary (L.P.)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenylephrine [2020, May 2].
  2. https://www.drugs.com/mtm/phenylephrine.html [2020, May 2].
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/phenylephrine.html [2020, May 2].
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fusa%2fdrug%2finfo%2fphenylephrine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020, May 2].
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=phenylephrine [2020, May 2].
  6. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fphenylephrine%3fmtype%3dgeneric [2020, May 2].
  7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Eye-Gene/?type=brief [2020, May 2].