ยาฝังคุมกำเนิด (ตอนที่ 3)

ยาฝังคุมกำเนิด-3

      

      สำหรับขั้นตอนการเอาออกนั้น แพทย์จะฉีดยาชาที่ท้องแขนและกรีดแผลขนาดเล็ก แล้วดันหลอดยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยคีบหลอดยาออกมาจากรอยแผลที่กรีดเอาไว้ เมื่อนำออกมาได้เรียบร้อยแล้วแพทย์ก็จะทำแผล เป็นอันเสร็จขั้นตอน และเมื่อมีการเอายาฝังคุมกำเนิดออกก็จะสามารถตั้งครรภ์ได้ทันที

      ทั้งนี้ เราสามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทุกเวลา ซึ่ง

      - หากมีการฝังยาคุมกำเนิดระหว่าง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที

      - แต่หากมีการฝังยาคุมกำเนิดในวันอื่น จะต้องหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้ถุงยางไปก่อนเป็นเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

      ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด

  • มีอายุนาน 3-5 ปี
  • แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ (Reversible) เพราะสามารถใส่เข้าหรือถอดออกได้ทุกเวลาที่ต้องการ และหลังการถอดออกก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้เหมือนเดิม
  • มีประสิทธิภาพมากถึงร้อยละ 99 (โดยมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่อาจตั้งครรภ์ใน 1 ปี และเมื่อใช้ไป 3 ปี มีน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ที่ตั้งครรภ์ใน 3 ปี)
  • ไม่ต้องกังวลถึงการคุมกำเนิดในแต่ละวัน
  • สามารถให้นมบุตรได้ขณะใช้ยา

      ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด

  • อาจทำให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนในช่วง 6 เดือนแรก อาจมีประจำเดือนบ่อยขึ้นหรือไม่มีเลย หรืออาจมีประจำเดือนมากขึ้นหรือน้อยลง หรือเป็นเวลานานกว่า (กรณีเลือดออกมากอาจใช้ยาช่วยได้) หรือมีประจำเดือนปกติ แต่ไม่เป็นอันตรายอย่างใด และจะหายไปในช่วง 3-5 ปี
  • อาจรู้สึกเจ็บหรือเป็นแผลที่แขนหลังการฝังยา
  • มีความลำบากในการเอาแท่งออก กรณีที่หาแท่งไม่พบ
  • เกิดการติดเชื้อบริเวณที่ฝังแท่ง
  • มีปฏิกริยาแพ้วัสดุแท่งที่ฝัง
  • อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาในครั้งแรกของการเริ่มต้น เช่น ปวดศีรษะ เต้านมกดเจ็บ และอารมณ์เปลี่ยนแปลง และอาจมีอาการดังต่อไปนี้

      - คลื่นไส้

      - น้ำหนักตัวขึ้น

      - ปวดท้องหรือปวดหลัง

      - ความต้องการทางเพศลดลง

      - เวียนศีรษะ หน้ามืด

      - ช่องคลอดอักเสบหรือแห้ง

      - มีความเสี่ยงในการเป็นซีสต์ที่รังไข่ (Noncancerous ovarian cysts) มากขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Contraceptive implant. http://www.familyplanning.org.nz/advice/contraception/contraceptive-implant [2018, July 17].
  2. Contraceptive implant. https://sexwise.fpa.org.uk/contraception/contraceptive-implant [2018, July 17].
  3. Contraceptive implant. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/contraceptive-implant/about/pac-20393619 [2018, July 17].
  4. Contraceptive implant. https://www.fpnsw.org.au/health-information/contraception/contraceptive-implant [2018, July 17].