ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาปฏิชีวนะคือยาอะไร?

ในวงการแพทย์มักเรียกยาปฏิชีวนะ ว่า แอนไทไบโอติก หรือ บางคนออกเสียงว่า แอนติไบโอติก (Antibiotics) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก หมายถึง ยาต้านสิ่งมีชีวิต (Anti หมายถึง ต่อต้าน Bios หมายถึง ชีวิต) ซึ่งสิ่งมีชีวิตในที่นี้ คือ จุลชีพ หรือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ซึ่งคือ เชื้อโรคนั่นเอง ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ ก็คือ ยายับยั้ง ฆ่า และ/หรือ ต้าน จุลชีพซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย บางคนจึงเรียกว่า ยาต้านแบคทีเรีย (แอนติแบคทีเรียล/Antibacterial) แต่ยังอาจครอบคลุมถึงเชื้อไวรัสบางชนิด และเชื้อราบางชนิดได้ด้วย

ในร่างกายของมนุษย์จะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น เม็ดเลือดขาวที่ใช้ป้อง กันการบุกรุกของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อาทิ เชื้อวัณโรค เป็นต้น ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เชื้อโรคมีมากจนภูมิต้านทานหรือเม็ดเลือดขาวสู้ไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องหาผู้ช่วย เช่น ยาปฏิชีวนะ เข้ามาเป็นกำลังเสริม ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดในการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอย่างมาก ใช้ผิดวิธีโดยมิได้ตั้งใจและก่อให้เกิดผลเสียตามมา ซึ่งบางครั้งอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ทั้งจาก การแพ้ยา และ/หรือ เชื้อดื้อยา

อนึ่ง ยาปฏิชีวนะ จัดเป็นยากลุ่มใหญ่ของ’ยาต้านจุลชีพ(Antimicrobial agent/drug)’

ยาปฏิชีวนะมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะ กลุ่มแรกเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่

ก. ยาเพนิซิลลิน (Penicillin): ซึ่งสังเคราะห์ได้จากเชื้อรา แต่ในยุคปัจจุบัน ได้กำเนิดยาต้านเชื้อโรค โดยเฉพาะ เชื้อแบคทีเรีย รุ่นลูกหลานออกมามากมายจนนับไม่ถ้วน ดังขอยกตัว อย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้ในบ้านเรา ดังนี้

เพนิซิลลิน เป็นยาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ในหลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เช่น คออักเสบ เป็นต้น เป็นกลุ่มยาที่ไม่ทนกับกรดในกระเพาะอาหาร จึงต้องกินยาก่อนอาหาร และถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไต แต่ยาบางตัวในกลุ่มนี้ก็ถูกขับออกโดยผ่านกระบวนการที่ตับก่อน

ตัวอย่างยาในกลุ่มเพนิซิลลิน เช่น

  • อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)
  • แอมปิซิลลิน (Ampicillin)
  • คาร์เบนิซิลลิน (Carbenicillin)
  • คลอกซาซิลลิน (Cloxacillin)
  • และ ฟลูคลอซาซิลลิน (Flucloxacillin)

ข. อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides): เป็นยาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูก ข้อ การติดเชื้อที่ผิวหนัง การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบหายใจ การติดเชื้อหลังผ่าตัด ยากลุ่มนี้ไม่ค่อยดูดซึมทางลำไส้ ต้องใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือด มีความเป็นพิษต่อไตและหูชั้นใน

ตัวอย่างยากลุ่มอะมีโนไกลโคไซด์ เช่น

  • เจนตามัยซิน (Gentamycin)
  • โทบรามัยซิน (Tobramycin)
  • อะมิคาซิน(Amikacin)
  • สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)
  • สเปคทิโนมัยซิน (Spectinomycin)
  • กานามัยซิน (Kanamycin)
  • และนีโอมัยซิน (Neomycin)

ค. เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin): จัดเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น ชนิดก่อการอักเสบของทางเดินหายใจ/โรคติดเชื้อระบบหายใจ และของทางเดินอาหาร /โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ยากลุ่มนี้ไม่ทนกรดเช่นเดียวกับกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) และดูดซึมในทางเดินอาหารได้ไม่ดี จึงต้องใช้การฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือด แต่ก็พบว่า ยาเซฟาโลสปอรินบางตัวมีคุณสมบัติทนกรดได้ดี ทั้งยังสามารถให้ยาโดยการรับประทานได้

ยาเซฟาโลสปอรินขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางไตออกมากับปัสสาวะ บาง ส่วนถูกทำลาย และผ่านออกมาทางตับแต่เป็นส่วนน้อย

ตัวอย่างยาในกลุ่ม เซฟาโลสปอริน เช่น

  • เซฟาโซลิน (Cefazolin)
  • เซฟาคลอร์ (Cefaclor)
  • เซฟูรอกซีม (Cefuroxime)
  • เซโฟแทคซีม (Cefotaxime)
  • และ เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)

ง. แมคโครไลด์ (Macrolide): จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้แพร่หลายอีกกลุ่มหนึ่ง สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียโดยการก่อกวนที่สารพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า อาร์เอนเอ (RNA) ทำให้เชื้อไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนในการดำรงชีวิตได้ มักใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในทางเดินหายใจส่วนบน/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง(เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ)

ตัวอย่าง ยากลุ่มแมคโครไลด์ เช่น

  • อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin)
  • คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin)
  • และรอซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)

จ. เตตราไซคลีน (Tetracyclines): ใช้รักษาการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในลำไส้ /โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ใช้รักษา โรคหลอดลมอักเสบอักเสบ แผล ฝี หนอง มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ก่อ กวนการทำงานของสารพันธุกรรม หรือ อาร์ เอน เอ ของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เชื้อไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ และทำให้เชื้อหยุดการเจริญเติบโต

อนึ่ง ข้อควรระวังของยากลุ่มเตตราไซคลีน มีดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้ใน เด็กอ่อน และหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลถึงการเจริญเติบโตของกระดูกของเด็กและของทารกในครรภ์ได้
  • หากใช้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด จะลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด จึงอาจตั้งครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาลดกรด และ/หรือ ยากลุ่มวิตามินที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ เพราะจะลดการดูดซึมยาเตตราไซคลีนได้

ทั้งนี้ ตัวอย่างยากลุ่มเตตราไซคลีน เช่น

  • เตตราไซคลีน
  • ดอกซีไซคลีน (Doxycycline)
  • และ ออกซีเตตราไซคลีน (Oxytetracycline)

ฉ. ควิโนโลน (Quinolones): ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางไต และต่อมลูกหมาก (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) แต่ไม่ค่อยนำไปใช้รักษาการติดเชื้อในโพรงไซนัส(Sinusitis/ไซนูไซติส/ไซนัสอักเสบ) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดย รบกวนการสร้างโปรตีนในสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า ดี เอน เอ(DNA)

อนึ่ง ข้อควรระวังและห้ามใช้ยากลุ่มควิโนโลน คือ ในผู้ที่เป็นโรคลมชัก เพราะอาจกระตุ้นสมอง เป็นสาเหตุให้ชักได้บ่อยขึ้น

ทั้งนี้ ตัวอย่างยากลุ่มควิโนโลน เช่น

  • ไซโปรฟลอซาซิน หรือ ซิโปรฟลอซาซิน (Ciprofloxacin)
  • เลโวฟลอซาซิน(Levofloxacin)
  • นอร์ฟลอซาซิน(Norfloxacin)
  • และ โอฟลอซาซิน(Ofloxacin)

ยาปฏิชีวนะรักษาโรคได้อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ มีกระบวนการทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียโดย

  • ทำลายเยื้อหุ้มเซลล์ ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เซลล์ เมมเบรน (Cell membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆที่หุ้มตัวเชื้อแบคทีเรีย (มีหน้าที่แลกเปลี่ยนสารต่างๆระหว่างภายในและภายนอกเซลล์) ส่งผลให้สมดุลในการดำรงชีวิตของเชื้อโรคเสียไปและตายในที่สุด
  • ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เซลล์วอลล์ (Cell Wall) ซึ่งเป็นผนังภายนอกสุดของเซลล์ ที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มเซลล์อีกที (มีหน้าที่ปกป้อง และคงรูปร่างของเซลล์ มักพบกับเซลล์แบคทีเรีย และเซลล์พืช ไม่พบในเซลล์สัตว์) ด้วยกลไกนี้ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียต่างๆไม่สามารถแพร่พันธุ์ จึงหยุดการเจริญเติบโต
  • ก่อกวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมในตัวของเชื้อแบคทีเรีย สารพันธุกรรมที่เรามักคุ้นเคยกัน เรียกว่า ดีเอนเอ(DNA) และ อาร์เอนเอ(RNA) กลไกดังกล่าวจะทำให้เชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถผลิตลูกหลานออกมาทำอันตรายต่อร่างกายคนเราได้อีกต่อไป
  • กระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรีย ปลดปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยตัวเองและตายลงในที่สุด

อนึ่ง ความสามารถในการทำลายเชื้อแบคทีเรียของยาปฏิชีวนะ ไม่ได้ขึ้นกับวิธีการ หรือกลไกทำลายเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับ

  • ความสามารถในการนำ หรือพายาปฏิชีวนะไปยังอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากร่างกายไม่สามารถนำยาไปยังอวัยวะที่มีการติดเชื้อได้ ก็ไม่สามารถทำลายเชื้อโรคได้ ซึ่งการนำยาไปยังอวัยวะเป้าหมาย มีหลายช่องทาง เช่น
    • การกิน
    • การฉีดใต้ผิวหนัง
    • การฉีดเข้ากล้าม(กล้ามเนื้อ)
    • การฉีดเข้าหลอดเลือด (มักเป็นหลอดเลือดดำ)
    • และ การทาที่ผิวหนัง

ใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ หรือ พร่ำเพรื่อ ส่งผลเสียอะไรบ้าง?

การใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องใช้ให้เหมาะสม และตรงกับชนิดของโรคที่จะรักษา ดังนั้นการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะควรต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ หรือขอคำแนะนำจากเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพราะ

  • การได้รับยาไม่ครบตามปริมาณ และในขนาดที่เหมาะสม ส่งผลเสียโดยตรง คือ อาการของโรคไม่ดีขึ้น
  • แต่การใช้ยาปฏิชีวนะนานเกินไป หรือใช้มากเกินไปก็มีผลเสีย ผลเสียจากใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ หรือ พร่ำเพรื่อ ที่พบบ่อย คือ
    • เชื้อโรคมีพัฒนาการต่อต้านยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยา (เชื้อดื้อยา)
    • เกิดการกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่มีตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ด้วยภูมิคุ้มกันของตัวเอง ซึ่งมักพบภาวะกดภูมิคุ้มกันกับการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในเด็ก
    • เกิดการทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร ส่งผลให้การสร้าง และ/หรือ การดูดซึมวิตามิน บางกลุ่มสูญเสียไป เช่น วิตามินเค เป็นต้น
    • ได้รับผลอันไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง)สูงขึ้น เช่น ท้องเสีย ผื่นคัน ลมพิษ และ โรคหืด
    • รบกวนการทำงานของยากลุ่มอื่น (ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับยาเม็ดคุมกำเนิด จะทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดลดลง จนอาจเกิดการตั้งครรภ์ตามมาได้

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไรบ้าง?

ยาปฏิชีวนะที่มีจำหน่ายในร้านยา และสถานพยาบาลมีหลายรูปแบบ อาทิเช่น

  • ยาเม็ด
  • ยาแคปซูล
  • ยาฉีดชนิดผงแห้ง (ต้องนำมาละลายน้ำก่อนฉีด)
  • ยาฉีดในรูปสารละลาย
  • ยาครีม
  • ยาเจล
  • ยาขี้ผึ้ง
  • และ ยังมีการนำยาปฏิชีวนะมาผสมรวมกัน หรือ ผสมกับยาตัวอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคได้มากยิ่งขึ้น เช่น ยาออกเมนติน (Augmentin)

มีคำแนะนำการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะไหม? อย่างไร?

ด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง หรือใช้ตามคำบอกเล่า มักส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ควรได้รับ เช่น

  • สูญเสียความสามารถในการรักษาโรค ด้วยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะไม่ตรงกับโรค
  • ก่อให้เกิดพิษหรือการแพ้ยา ปฏิชีวนะ บางรายอาจถึงขั้นรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด
  • สูญเสียทางเศรษฐกิจ ด้วยค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและไม่ได้รับประสิทธิผลของยาที่ใช้ในการรักษา
  • เป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยา ซึ่งต่อไปเมื่อเกิดติดเชื้อ มักจะรุนแรง รักษาได้ยาก มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงขึ้น

ดังนั้น คำแนะนำสำคัญในการใช้ยาปฏิชีวนะ คือ

  • ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสมอ หรือ อย่างน้อยควรต้องปรึกษาเภสัชกร(มักประจำอยู่ตามร้านขายยาที่ขายยาปฏิชีวนะ) หรือ พยาบาล ก่อนซื้อยากินเองเสม
  • เพราะนอกจากอันตรายดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยที่ต้องใช้ประกอบในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะอีกมากมาย เช่น
    • ภาวะหอบหืด
    • ภาวะตับ และ/หรือไตทำงานผิดปกติหรือไม่
    • วัยของผู้ป่วย ซึ่งต้องคำนวณขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป
  • นอกจากนี้ การแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร ให้ทราบว่าตนเองแพ้ยา (การแพ้ยา)ปฏิชีวนะกลุ่มใด หรือ ตัวใด จะเป็นการปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง จากการได้รับยาที่ผู้ป่วยเคยแพ้มาก่อน ถึงแม้โดยทั่วไป แพทย์ พยาบาล เภสัชกร มักสอบถามผู้ป่วยเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยาให้ยิ่งสูงขึ้น

*อนึ่ง: ทั่วไป สามารถเก็บยาปฏิชีวนะโดย

  • สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ แต่ต้องให้พ้นจากแสงแดด และความชื้น
  • ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ต้องไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ต้องไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • และไม่เก็บยาหมดอายุ

***** หมายเหตุ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาปฏิชีวนะทุกชนิดด้วย) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อนึ่ง:

ผู้เขียน ได้แยกเขียนยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้บ่อยแต่ละตัว เป็นแต่ละบทความเพื่อให้ได้รายละเอียดของยาแต่ละตัว แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com เช่น

1. Amikacin

2. Amoxicillin

3. Ampicillin

4. Azithromycin

5. Ciprofloxacin

6. Clarithromycin

7. Cloxacillin

8. Erythromycin

9. Neomycin

10. Tetracycline

บรรณานุกรม

  1. https://www.sigmaaldrich.com/technical-documents/protocols/biology/antibiotics.html [2019,Jan26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Antibiotic [2019,Jan26]
  3. http://haamor.com [2019,Jan26]
  4. https://www.nhs.uk/conditions/antibiotics/ [2019,Jan26]
  5. http://emerald.tufts.edu/med/apua/about_issue/agents.shtml [2019,Jan26]