ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาแอนติฮิสตามีน (Antihista mine) แพทย์นำมาใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ อาทิเช่น แพ้อากาศ ในตลาดยาของบ้านเรา สามารถพบเห็นได้ทั้งในรูปแบบยาเดี่ยวและยาผสมซึ่งมีส่วนประกอบของยาอื่นรวมอยู่ด้วย

หลังรับประทาน ยาบรอมเฟนิรามีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหาร ในทุกๆ 25 ชั่วโมงระดับยาในกระแสเลือดจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง โดยจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ

หากเปรียบเทียบคุณประโยชน์ ถือได้ว่ายาบรอมเฟนิรามีนเป็นทางเลือกที่ดี และมีใช้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งมีราคาถูก พบได้ทั้งในร้านขายยาและในโรงพยาบาลทั่วไป

เพื่อความเหมาะสม ปลอดภัย ต่อผู้บริโภค จึงควรต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือปรึกษาเภ สัชกรทุกครั้งก่อนใช้ ด้วยยาบรอมเฟนิรามีนจัดเป็นยาอันตราย ผู้ป่วยจึงไม่สมควรซื้อหามารับประ ทานเอง

ยาบรอมเฟนิรามีน

ยาบรอมเฟนิรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาบรอมเฟนิรามีน ใช้รักษาและบรรเทาอาการ โรคหวัด คัดจมูก อาการคันตา ตาแฉะ จาม

ยาบรอมเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาบรอมเฟนิรามีน จะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน (Antihistamine) อีกทั้งยังยับ ยั้งฤทธิ์ของสารคลอลิเนอจิก (Antichlorinergic, สารต้านการทำงานของสารสื่อประสาทจากระ บบประสาท) ด้วยกลไกดังกล่าว ส่งผลให้บรอมเฟนิรามีนมีฤทธิ์ในการรักษาอาการแพ้ได้

ยาบรอมเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบรอมเฟนิรามีน จัดจำหน่ายในรูปแบบ

  • ยาเม็ดขนาด 4 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำขนาด 2 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา

ยาบรอมเฟนิรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบรอมเฟนิรามีนมีขนาดรับประทาน ดังนี้

  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 4–8 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง
  • ขนาดสูงสุดของการรับประทานไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมภายใน 24 ชั่วโมง
  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดและกำหนดระยะเวลาในการรับประทานยา โดยเฉพาะกรณีผู้ ป่วยเด็ก

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบรอมเฟนิรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภ สัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาบรอมเฟนิรามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบรอมเฟนิรามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาบรอมเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบรอมเฟนิรามีน สามารถส่งผลข้างเคียง (ผลไม่พึงประสงค์) ต่อสมอง ทำให้รู้สึกมึนงง และง่วงนอน นอกจากนี้อาจพบอาการ ปวดศีรษะ ชัก ตัว/มือสั่น สับสน รู้สึกไม่สบายในระบบทาง เดินอาหาร ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจพบน้อย ได้แก่ อาการผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาบรอมเฟนิรามีนอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาบรอมเฟนิรามีน คือ

  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดรวมไปถึงเด็กทารก
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้เป็นโรคตับ ผู้ที่มีภา วะท่อปัสสาวะตีบตัน ผู้สูงอายุ
  • ขณะรับประทานยานี้ไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะ หลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจง่วงนอน จนก่อให้เกิดอันตรายได้

***** อนึ่ง

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาบรอมเฟนิรามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน

ยาบรอมเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบรอมเฟนิรามีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ดังนี้

  • การรับประทานยาบรอมเฟนิรามีน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้เกิดอาการ วิง เวียน สับสน และง่วงนอนมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาบรอมเฟนิรามีนร่วมกับยาที่บรรเทาอาการแพ้อื่นๆ สามารถเพิ่มฤทธิ์ของผลข้างเคียงของยาบรอมเฟนิรามีนได้มากขึ้น เช่น มีอาการมึนงง ง่วงนอน การควบคุม การทรงตัวทำได้ไม่ดี ยาที่ใช้บรรเทาอาการแพ้ดังกล่าว เช่น Cetirizine
  • การใช้ยาบรอมเฟนิรามีน ร่วมกับกลุ่มยาที่รักษาอาการวิตกกังวล (ยาคลายเครียด) อาการนอนไม่หลับ สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากกลุ่มยาดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น เช่น รู้สึกง่วงนอนมาก ฤทธิ์ในการสงบประสาทมากขึ้น ยาที่บรรเทาอาการวิตกกังวลดังกล่าว เช่น Diazepam, Loraze pam
  • การใช้ยาบรอมเฟนิรามีนร่วมกับยาลดน้ำมูกบางตัว สามารถลดอาการข้างเคียงของยาบรอมเฟนิรามีนได้ เช่น อาการง่วงนอนน้อยลง ยาลดน้ำมูกดังกล่าว เช่น Phenylephrine, Pseudoe phedrine
  • การใช้ยาบรอมเฟนิรามีนร่วมกับยาแก้ปวดที่เป็นกลุ่มยาเสพติด สามารถเพิ่มฤทธิ์ในการสงบประสาทได้มากขึ้น ยาแก้ปวดที่เป็นกลุ่มยาเสพติด เช่น Morphine

ควรเก็บรักษายาบรอมเฟนิรามีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาบรอมเฟนิรามีน ในอุณหภูมิห้อง พ้นแสงแดด และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ

ยาบรอมเฟนิรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ในประเทศไทย ยาบรอมเฟนิรามีน มีชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bomine (โบไมน์)Pharmasant Lab
Bromma (บรอมมา)T. Man Pharma
Bromphen (บรอมเฟน)T. Man Pharma
Brompheniramine A.N.H (บรอมเฟนิรามีน เอ.เอ็น.เฮท)A N H Products
Brompheniramine Asian Pharm (บรอมเฟนิรามีน เอเซียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Brompheniramine Medicpharma (บรอมเฟนิรามีน เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Brompheniramine T Man (บรอมเฟนิรามีน ที แมน)T. Man Pharma
Brompheniramine Utopian(บรอมเฟนิรามีน ยูโทเปียน)Utopian
Bromsin (บรอมซิน)Patar Lab
Probrom (โพรบรอม)Medicine Products

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=brompheniramine [2014,March22].
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Brompheniramine [2014,March27].
  3. http://www.drugs.com/drug-interactions/brompheniramine.html [2014,Marc27].
  4. http://reference.medscape.com/drug-interactionchecker [2014,March27].
  5. MIMS Pharmacy Thailand 9th Edition 2009, page 74