ยาทำแท้ง ใกล้แจ้งเกิดแล้ว (ตอนที่ 3)

นพ. กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า การศึกษาถึงประสิทธิภาพของตัวยายุติการตั้งครรภ์ที่ยังไม่พร้อม พบว่า หากตั้งครรภ์ในระยะเวลาไม่เกิน 9 สัปดาห์ การใช้ยาดังกล่าวจะได้ผลสูงสุดคือ 95–97% ซึ่งให้ผลที่ดีกว่าการกินยาคุมฉุกเฉิน นอกจากเรื่องของเวลา เพราะยาคุมฉุกเฉินจะใช้ได้แค่ใน 3–5 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์ และมีประสิทธิผลเพียง 60–75% ตามระยะเวลาที่กินว่าเร็วหรือช้า

ลักษณะหัตถการของการยุติการตั้งครรภ์ที่ยั่งไม่พร้อม มักจะทำให้สตรีตกเลือดและเสี่ยงต่อมดลูกทะลุ จากสถิติพบว่ากลุ่มสตรีเสียชีวิตเพราะทำแท้งเนื่องจากท้องไม่พร้อมมีกว่า 300 รายต่อประชากร 1 แสนคน แต่สตรีที่เสียชีวิตเพราะการคลอดปกติมีเพียง 20 รายต่อประชากร 1 แสนคน หากการนำร่องใช้ยายุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมใน 4 โรงพยาบาลสัมฤทธิ์ พร้อมๆ กับการศึกษาการใช้ยาดังกล่าวอย่างเหมาะสม ก็จะกระจายยาสู่สถานพยาบาลทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2556

โดยทั่วไป การใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum aspiration) ใน 3 เดือนแรก เป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดของการทำแท้งด้วยวิธีทางศัลยกรรมซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ทั้งการเกิดมดลูกทะลุ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ รวมทั้งการหลงเหลืออยู่ของชิ้นเนื้อที่ทำให้ต้องมีการดูดซ้ำ

การทำแท้งในระยะ 3 เดือนแรกไปจนอายุครรภ์ 9 สัปดาห์ แพทย์อาจใช้ยามิโซพรอสตตอล (Misoprostol) ที่เป็นอนุพันธ์ของพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เพียงตัวยาเดียว ซึ่งมีประสิทธิผลน้อยกว่า (แต่เจ็บปวดมากกว่า) การใช้ยาสูตรผสมของยาไมฟีพริสโตน (Mifepristone) และมิโซพรอสตอล หรือการทำแท้งด้วยการผ่าตัด

การทำแท้งในระยะครรภ์ 3-6 เดือน หรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ แพทย์อาจใช้วิธีอื่นๆ อาทิ การชักนำให้คลอดก่อนกำหนดด้วยยาพรอสตาแกลนดิน ซึ่งอาจให้ร่วมกับการฉีดสารความดันออสโมซิส (Osmosis) สูงที่ประกอบด้วยน้ำเกลือ หรือยูเรีย (Urea) เข้าในนำคร่ำ การทำแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 16 สัปดาห์อาจใช้วิธีทำแท้งบางส่วน (Partial-birth abortion) โดยการทำลายศีรษะทารกในครรภ์ด้วยวิธีทางศัลยกรรมก่อนถ่ายทารกในครรภ์ออก (Intrauterine cranial decompression/intact dilation and extraction: IDX)

แล้วในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ จะใช้วิธีการผ่ามดลูก (Hysterotomy) ซึ่งคล้ายกับการผ่าท้องคลอดขณะให้ยาสลบทั่วไป แต่จะเปิดแผลผ่าตัดเล็กกว่าการผ่าท้องคลอด อย่างไรก็ตาม ราชวิทยาลัยสูติแพทย์และนรีแพทย์ได้แนะนำวิธีการฉีดยาเพื่อหยุดการทำงานของหัวใจของทารกในครรภ์ในระยะแรกของการทำแท้งด้วยวิธีทางศัลยกรรม

การให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ อาทิ ยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) หรือเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)) มักให้ก่อนการทำแท้งที่ไม่ฉุกเฉิน เพราะจะลดอัตราการติดเชื้อในมดลูกหลังการทำแท้งด้วยการผ่าตัดได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งใน ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ นั้นคล้ายกับใน 3 เดือนแรก โดยขึ้นอยู่กับวิธีการทำแท้งที่เลือกใช้

ความเสี่ยงทางสุขภาพของการทำแท้งขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของวิธีการ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่าการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยว่าคือการทำแท้งโดยผู้ไม่มีทักษะ ด้วยเครื่องมืออันตราย หรือในสภาวะที่ผิดสุขอนามัย การทำแท้งอย่างถูกกฎหมายในประเทศพัฒนาแล้วเป็นหัตถการการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูงมาก

แหล่งข้อมูล:

  1. ไฟเขียวใช้ยายุติท้องไม่พร้อมได้ผลดีกว่ากินยาคุมฉุกเฉิน-ทำแท้ง/เริ่ม4รพ. http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/27049 [2012, March 11].
  2. Medical abortion. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_abortion [2012, March 11].
  3. การทำแท้ง http://th.wikipedia.org/wiki/การทำแท้ง [2012, March 11].