ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine หรือ Chlorpheniramine maleate ย่อว่า CPM/ ซีพีเอ็ม หรือ CP) เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ที่ต้านสารฮีสตามีน (Anti histamine) ใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อากาศจากไข้หวัด ผื่นคัน ลมพิษ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ มีอาการง่วงนอน อย่างไรก็ตาม ยานี้ยังเป็นที่นิยมใช้ด้วยมีราคาถูก โอกาสแพ้ยาและ/หรือเกิดผลข้างเคียงจากยามีน้อย และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป ในสูตรตำรับมีทั้งเป็นยาเดี่ยว และยาสูตรผสมกับยาแก้หวัดและยาลดไข้ ซึ่งการเลือกใช้ควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรหรือจากแพทย์เท่านั้น

ยาคลอเฟนิรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาคลอเฟนิรามีน

ยาคลอเฟนิรามีน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาอาการแพ้ จากผื่นคัน ลมพิษ อาการแพ้น้ำมูกไหล จาม
  • คัดจมูกจากโรคหวัด
  • รักษาอาการคันระคายเคือง
    • ในบริเวณตา
    • และในกรณีใส่เฝือกรักษาโรคกระดูก

ยาคลอเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอเฟนิรามีนคือ ป้องกันร่างกายไม่ให้ตอบสนองกับสารก่อภูมิแพ้ที่เข้ามากระตุ้นภายในร่างกาย

ยาคลอเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาคลอเฟนิรามีน เช่น

  • ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 2 มิลลิกรับ/5 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ด ขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาคลอเฟนิรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาคลอเฟนิรามีน เช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปี ขึ้นไป:

  • รับประทาน 4 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
  • ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 24 มิลลิกรัม/วัน

ข. เด็กอายุ 6 – 12 ปี:

  • รับประทาน 2 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
  • ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 12 มิลลิกรัม/วัน

ค. เด็กอายุ 2 – 5 ปี:

  • รับประทาน 1 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
  • ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 4 มิลลิกรัม/วัน

ง. เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: การใช้ยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย

อนึ่ง:

  • ยาคลอเฟนิรามีนสามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรได้ แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคลอเฟนิรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอเฟนิรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาต่อทารกได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยารวมถึงยาคลอเฟนิรามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาคลอเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจก่อให้เกิด อาการง่วงนอน
  • ปาก-คอ-จมูกแห้ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปวดศีรษะ
  • ถ่ายปัสสาวะลำบาก
  • การมองเห็นไม่ชัดเจน/ตามัว

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอเฟนิรามีนอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ ยาคลอเฟนิรามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะ เพราะยานี้มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกง่วงนอนจึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง การใช้ยาทุกชนิด รวมถึงยาคลอเฟนิรามีน ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของบทความนี้ ในเว็บ haamor.com) รวมทั้งเมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

ยาคลอเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอเฟนิรามีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ เช่น

  • การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการง่วงนอนมากขึ้น รู้สึกสับสน การควบคุมสติได้ไม่ดีเหมือนปกติ ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่น Propoxyphene
  • การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับยากลุ่มที่ให้เกลือแร่โพแทสเซียม (ชนิดรับประทาน) กับร่างกาย อาจก่อให้เกิดภาวะระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร หรือทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนที่อาจมีเลือดปนออกมา /อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีคล้ำดำ ยากลุ่มโพแทสเซียมดังกล่าว เช่น โปแตสเซียมคลอไรด์(Potassium chloride)
  • การใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ และง่วงนอนมากขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้สูญเสียการควบคุมสติสัมปชัญญะได้

ควรเก็บรักษายาคลอเฟนิรามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาคลอเฟนิรามีน เช่น

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาพ้นแสงแดดและความชื้น/ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาคลอเฟนิรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอเฟนิรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทที่ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Acetacol-P (อเซตาคอล-พี)P P Lab
Allergin (อัลเลอร์จิน)P P Lab
Aly (อลี)The Forty-Two
Arc-Chlor (อาร์ค-คลอ)The United Drug (1996)
Chlophe (คลอเฟ)Thai Nakorn Patana
Chlophen (คลอเฟน)Medicine Products
Chlorahist (คลอราฮีส)Burapha
Chloramine-S (คลอรามายน์-เอส) Utopian
Chlordon (คลอดอน)Acdhon
Chlorleate (คลอลีเอท) Silom Medical
Chlorphencap (คลอเฟนแคพ)SSP Laboratories
Chlorpheniramine A.N.H. (คลอเฟนิรามีน เอ.เอ็น.เฮท.)A N H Products
Chlorpheniramine Acdhon (คลอเฟนิรามีน แอคดอน)Acdhon
Chlorpheniramine ANB (คลอเฟนิรามีน เอเอ็นบี)ANB
Chlorpheniramine Asian Pharm (คลอเฟนิรามีน เอเซียน ฟาร์ม)Asian Pharm
Chlorpheniramine Asian Union (คลอเฟนิรามีน เอเซียน ยูเนียน)Asian Union
Chlorpheniramine Chew Brothers (คลอเฟนิรามีน ชิว บาร์เทอร์ส)Chew Brothers
Chlorpheniramine GPO (คลอเฟนิรามีน จีพีโอ)GPO
Chlorpheniramine K.B. (คลอเฟนิรามีน เค.บี)K.B. Pharma
Chlorpheniramine Medicpharma (คลอเฟนิรามีน เมดิคฟาร์มา)Medicpharma
Chlorpheniramine Nakornpatana (คลอเฟนิรามีน นครพัฒนา)Nakornpatana
Chlorpheniramine Picco (คลอเฟนิรามีน พิคโค)Picco Pharma
Chlorpheniramine T Man (คลอเฟนิรามีน ที แมน)T. Man Pharma
Chlorpheniramine T.O. (คลอเฟนิรามีน ที.โอ.)T.O. Chemicals
Chlorpheno (คลอเฟโน)Milano
Chlorpyrimine (คลอไพริมายน์)Atlantic Lab
Chorphen (คลอเฟน)T. Man Pharma
Hisdaron (ฮีสดารอน)Chew Brothers
Histatab/Histatapp (ฮีสทาแทบ/ฮีสตาแทป)Pharmasant Lab
llcid (อิลซิด)Utopian
K.B. Ramine (เค.บี. รามายน์)K.B. Pharma
Kloramin (คลอรามิน)B L Hua
Koolnox (คูลนอกซ์)Charoen Bhaesaj Lab
Patarphen (พาตาเฟน)Patar Lab
Pophen (โพเฟน)Asian Union
Sinchlormine (ซินคลอมายน์)SSP Laboratories
Suramine (ซูรามายน์)Suphong Bhaesaj
T.M. Cough Syrup (ที.เอ็ม. โคท ไซรัป)T. Man Pharma

บรรณานุกรม

  1. พิสิฐ วงศ์วัฒนะ. (2547). ยา. THE PILL BOOK
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorphenamine [2019,July20]
  3. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4156/chlorpheniramine-oral/details [2019,July20]