ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 สิงหาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาคลอเฟนิรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาคลอเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาคลอเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาคลอเฟนิรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาคลอเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอเฟนิรามีนย่างไร?
- ยาคลอเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาคลอเฟนิรามีนอย่างไร?
- ยาคลอเฟนิรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคหวัด (Common cold)
- วิงเวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน (Dizzy หรือ Vertigo)
- ท้องผูก (Constipation)
- ปากแห้ง (Dry mouth)
บทนำ
ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine หรือ Chlorpheniramine maleate ย่อว่า CPM/ ซีพีเอ็ม หรือ CP) เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ที่ต้านสารฮีสตามีน (Anti histamine) ใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น แพ้อากาศจากไข้หวัด ผื่นคัน ลมพิษ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ มีอาการง่วงนอน อย่างไรก็ตาม ยานี้ยังเป็นที่นิยมใช้ด้วยมีราคาถูก โอกาสแพ้ยาและ/หรือเกิดผลข้างเคียงจากยามีน้อย และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป ในสูตรตำรับมีทั้งเป็นยาเดี่ยว และยาสูตรผสมกับยาแก้หวัดและยาลดไข้ ซึ่งการเลือกใช้ควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรหรือจากแพทย์เท่านั้น
ยาคลอเฟนิรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคลอเฟนิรามีน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการแพ้ จากผื่นคัน ลมพิษ อาการแพ้น้ำมูกไหล จาม
- คัดจมูกจากโรคหวัด
- รักษาอาการคันระคายเคือง
- ในบริเวณตา
- และในกรณีใส่เฝือกรักษาโรคกระดูก
ยาคลอเฟนิรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอเฟนิรามีนคือ ป้องกันร่างกายไม่ให้ตอบสนองกับสารก่อภูมิแพ้ที่เข้ามากระตุ้นภายในร่างกาย
ยาคลอเฟนิรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาคลอเฟนิรามีน เช่น
- ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาน้ำเชื่อม ขนาด 2 มิลลิกรับ/5 มิลลิลิตร
- ยาเม็ด ขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาคลอเฟนิรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาคลอเฟนิรามีน เช่น
ก. ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปี ขึ้นไป:
- รับประทาน 4 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
- ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 24 มิลลิกรัม/วัน
ข. เด็กอายุ 6 – 12 ปี:
- รับประทาน 2 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
- ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 12 มิลลิกรัม/วัน
ค. เด็กอายุ 2 – 5 ปี:
- รับประทาน 1 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
- ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 4 มิลลิกรัม/วัน
ง. เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: การใช้ยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย
อนึ่ง:
- ยาคลอเฟนิรามีนสามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรได้ แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคลอเฟนิรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอเฟนิรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาต่อทารกได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยารวมถึงยาคลอเฟนิรามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาคลอเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคลอเฟนิรามีนมีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจก่อให้เกิด อาการง่วงนอน
- ปาก-คอ-จมูกแห้ง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูก
- ปวดศีรษะ
- ถ่ายปัสสาวะลำบาก
- การมองเห็นไม่ชัดเจน/ตามัว
มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอเฟนิรามีนอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ ยาคลอเฟนิรามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะ เพราะยานี้มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกง่วงนอนจึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง การใช้ยาทุกชนิด รวมถึงยาคลอเฟนิรามีน ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของบทความนี้ ในเว็บ haamor.com) รวมทั้งเมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
ยาคลอเฟนิรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคลอเฟนิรามีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ เช่น
- การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการง่วงนอนมากขึ้น รู้สึกสับสน การควบคุมสติได้ไม่ดีเหมือนปกติ ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่น Propoxyphene
- การใช้ยาคลอเฟนิรามีนร่วมกับยากลุ่มที่ให้เกลือแร่โพแทสเซียม (ชนิดรับประทาน) กับร่างกาย อาจก่อให้เกิดภาวะระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร หรือทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนที่อาจมีเลือดปนออกมา /อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีคล้ำดำ ยากลุ่มโพแทสเซียมดังกล่าว เช่น โปแตสเซียมคลอไรด์(Potassium chloride)
- การใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ และง่วงนอนมากขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้สูญเสียการควบคุมสติสัมปชัญญะได้
ควรเก็บรักษายาคลอเฟนิรามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาคลอเฟนิรามีน เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
- เก็บยาพ้นแสงแดดและความชื้น/ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาคลอเฟนิรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคลอเฟนิรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทที่ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acetacol-P (อเซตาคอล-พี) | P P Lab |
Allergin (อัลเลอร์จิน) | P P Lab |
Aly (อลี) | The Forty-Two |
Arc-Chlor (อาร์ค-คลอ) | The United Drug (1996) |
Chlophe (คลอเฟ) | Thai Nakorn Patana |
Chlophen (คลอเฟน) | Medicine Products |
Chlorahist (คลอราฮีส) | Burapha |
Chloramine-S (คลอรามายน์-เอส) | Utopian |
Chlordon (คลอดอน) | Acdhon |
Chlorleate (คลอลีเอท) | Silom Medical |
Chlorphencap (คลอเฟนแคพ) | SSP Laboratories |
Chlorpheniramine A.N.H. (คลอเฟนิรามีน เอ.เอ็น.เฮท.) | A N H Products |
Chlorpheniramine Acdhon (คลอเฟนิรามีน แอคดอน) | Acdhon |
Chlorpheniramine ANB (คลอเฟนิรามีน เอเอ็นบี) | ANB |
Chlorpheniramine Asian Pharm (คลอเฟนิรามีน เอเซียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Chlorpheniramine Asian Union (คลอเฟนิรามีน เอเซียน ยูเนียน) | Asian Union |
Chlorpheniramine Chew Brothers (คลอเฟนิรามีน ชิว บาร์เทอร์ส) | Chew Brothers |
Chlorpheniramine GPO (คลอเฟนิรามีน จีพีโอ) | GPO |
Chlorpheniramine K.B. (คลอเฟนิรามีน เค.บี) | K.B. Pharma |
Chlorpheniramine Medicpharma (คลอเฟนิรามีน เมดิคฟาร์มา) | Medicpharma |
Chlorpheniramine Nakornpatana (คลอเฟนิรามีน นครพัฒนา) | Nakornpatana |
Chlorpheniramine Picco (คลอเฟนิรามีน พิคโค) | Picco Pharma |
Chlorpheniramine T Man (คลอเฟนิรามีน ที แมน) | T. Man Pharma |
Chlorpheniramine T.O. (คลอเฟนิรามีน ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Chlorpheno (คลอเฟโน) | Milano |
Chlorpyrimine (คลอไพริมายน์) | Atlantic Lab |
Chorphen (คลอเฟน) | T. Man Pharma |
Hisdaron (ฮีสดารอน) | Chew Brothers |
Histatab/Histatapp (ฮีสทาแทบ/ฮีสตาแทป) | Pharmasant Lab |
llcid (อิลซิด) | Utopian |
K.B. Ramine (เค.บี. รามายน์) | K.B. Pharma |
Kloramin (คลอรามิน) | B L Hua |
Koolnox (คูลนอกซ์) | Charoen Bhaesaj Lab |
Patarphen (พาตาเฟน) | Patar Lab |
Pophen (โพเฟน) | Asian Union |
Sinchlormine (ซินคลอมายน์) | SSP Laboratories |
Suramine (ซูรามายน์) | Suphong Bhaesaj |
T.M. Cough Syrup (ที.เอ็ม. โคท ไซรัป) | T. Man Pharma |
บรรณานุกรม
- พิสิฐ วงศ์วัฒนะ. (2547). ยา. THE PILL BOOK
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorphenamine [2019,July20]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4156/chlorpheniramine-oral/details [2019,July20]