ยาขับลม ยาลดแก๊ส (Carminative)

ยาขับลม ยาลดแก๊ส แก้ท้องอืด แก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้

โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือโรคอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย เป็นอาการผิดปกติของ ท้องหรือกระเพาะอาหารและลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ

ตัวอย่างอาการของโรคท้องอืด ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดท้อง แน่นท้อง มีการบีบรัดของลำไส้ ท้องป่อง ตึงๆ อืดๆ มีลม หรือแก๊สในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอา การแสบร้อนกลางอกเหนือลิ้นปี่ และบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วเมื่อกินอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้

สาเหตุของโรคท้องอืด

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องอืด เกิดจาก ประเภทอาหาร และ/หรือพฤติกรรมการกิน (เช่น กินเร็ว เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด) เป็นสำคัญ

รองลงมาคือ โรคระบบทางเดินอาหาร ผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาเอ็นเสด) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกาเฟอีน (ชา กาแฟ โคล่า ยาชูกำลัง) สูบบุหรี่ เป็นต้น

โรคท้องอืดคู่กับการกินอาหาร อาหารที่คนเรากินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติ ถ้าไม่ถูกสุขลักษณะอนามัยที่ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดขึ้นได้ เริ่มตั้งแต่ชนิด/ประเภทของอาหาร (เพราะอาหารบางชนิดทำให้ท้องอืด แต่บางชนิดไม่ก่อให้เกิด) พฤติ กรรมการกินอาหาร การกินลม (เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง) เป็นต้น

ชนิดของอาหาร ที่ทำให้เกิดท้องอืด ได้แก่

  • อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ ช็อกโกแลต เนย นม (โดยเฉพาะคนเอเชียที่ไม่เคยกินนมมานาน)
  • อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
  • อาหารที่ย่อยได้ยาก เช่น เนื้อสัตว์ กากใยอาหารบางชนิด (เช่น สับปะรด หน่อไม้)

พฤติกรรม หรืออุปนิสัย ลักษณะการกินอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดท้องอืดได้ เช่น เร่งรีบกินอา หาร เคี้ยวไม่ละเอียด กินอาหารผิดเวลา กินอาหารจนอิ่มมากเกินไป หรือการล้มตัวลงนอนหลัง จากกินอาหารเสร็จใหม่ๆ ล้วนเป็นลักษณะการกินอาหารที่ไม่ดี ทำให้เกิดท้องอืดได้

ท้องอืดจากโรคของระบบทางเดินอาหาร โรคของระบบทางเดินอาหารหลายโรคก็ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน (Gastro-esopha geal Reflux Disease: GERD) กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร นิ่วถุงน้ำดี เป็นต้น

ท้องอืดจากยาบางชนิด แอลกอฮอล์ กาเฟอีน และบุหรี่

ยาที่เป็นสาเหตุโรคท้องอืดพบได้บ่อย คือยาลดการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti- inflammatory Drugs: NSAIDs) หรือเรียกตามชื่อย่อว่า เอ็นเสด ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น แอสไพริน ไดโคลฟีแนก (Diclofenac) ไพร็อกซิแคม (Pyroxicam) นาโพรเซน (Naproxen) อินโดเมทาซิน (Indomethacin) เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มเอ็นเสดนี้มีคุณสมบัติเป็นกรด ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย

นอกจากยาที่ทำให้ท้องอืดได้แล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟ อีน และบุหรี่ ก็ทำให้ท้องอืด และอาหารไม่ย่อยได้

จากสาเหตุต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าพบต้นเหตุและสามารถขจัดหรือหลีกเลี่ยงเสียได้ อา การท้องอืดก็จะทุเลาหรือหายได้ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้ยาขับลมช่วย ซึ่งยาขับลม (ยาไล่ลม ยาขับแก๊ส ยาลดแก๊ส) แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

  • กลุ่มที่ทำให้หูรูดของทางเดินอาหารเปิด
  • กลุ่มต้านการเกิดฟอง
  • กลุ่มที่มีฤทธิ์ดูดซับ

1. ยากลุ่มที่ทำให้หูรูดของทางเดินอาหารเปิด

ยากลุ่มนี้ได้แก่ พวกน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืชต่างๆ ได้แก่

  • เอ็ม คาร์มิเนทิฟ (M. Carminative)
  • ยาธาตุน้ำแดง
  • ยาธาตุน้ำขาว
  • น้ำมันซินนามอน (Cinnamon) น้ำมันเปปเปอร์มิ้นท์ (Peppermint) น้ำมันเฟนเนล (Fennel)

ทั้งนี้ เมื่อทานยากลุ่มนี้เข้าไปแล้ว จะรู้สึกอุ่นที่ทางเดินอาหาร ยาจะทำให้หูรูดทางเดินอาหารส่วนล่างเปิดออก และขับไล่ลมหรือแก๊สออกทางทวารหนัก ยากลุ่มนี้ขับลมได้ดี ควรรับประ ทานก่อนอาหาร

  • ยากลุ่มนี้ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ, เด็ก รับประทาน 1-2 ช้อนชา, วันละ 3 ครั้ง
  • ยากลุ่มนี้มีข้อจำกัด คือ ยาธาตุน้ำแดง และ ยาธาตุน้ำขาว มี แอลกอฮอล์เป็นส่วนประ กอบ ควรใช้อย่างระมัดระวัง, ไม่ควรใช้ในคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือ โรคไต
  • ยากลุ่มนี้ เด็กทานได้ ส่วนหญิงมีครรภ์ และให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน เนื่องจากมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอยู่

2. ยากลุ่มต้านการเกิดฟอง

ยากลุ่มนี้สามารถลดอาการอืด แน่นท้อง และอาการปวดท้อง ที่เกิดจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะอาหารบีบเกร็ง เนื่องจากมีก๊าซ/แก๊ส/ลมมาก

ยาออกฤทธิ์ลดแรงตึงผิวของฟองก๊าซในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ฟองก๊าซไม่จับตัวเป็นก้อน หรือทำให้ฟองก๊าซที่เป็นก้อนแตกกระจาย และถูกขับออกมาทางปากด้วยการเรอ

นอกจากนั้น ยายังป้องกันไม่ให้เมือกเกาะหุ้มฟองอากาศเหล่านี้ ทำให้เรอ ขับลม หรือผายลม ได้สะดวกขึ้น

ข้อดีของยาอีกอย่างคือ การที่ยาต้านการเกิดฟองก๊าซ ทำให้การดูดซึมยาและสารอาหารต่างๆในกระเพาะและลำไส้เล็กดีขึ้น

ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไซเมทิโคน (Simethicone) และซิลิคอน เมทิลโปลีไซโลเซน (Silicone methylpolysiloxane) ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น แอร์เอ็กซ์ (Air-X), ดิสฟาทิล (Dysfatyl) เป็นต้น

ยากลุ่มนี้ ถ้าเป็นยาเม็ด ต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ส่วนที่เป็นยาน้ำมักผสมกับยาลดกรด เช่น เบลซิด (Belcid)

  • ยากลุ่มนี้ทานโดย เคี้ยวให้ละเอียด หลังอาหาร ครั้งละ 1-2 เม็ด
  • ยากลุ่มนี้ ไม่มีข้อจำกัด ข้อควรระวัง หรือ ข้อห้าม แต่อย่างใดในการใช้
  • ยากลุ่มนี้ สามารถใช้ในเด็ก ส่วนในหญิงมีครรภ์ไม่ควรใช้ นอกจากแพทย์สั่ง

3. ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ดูดซับ

ยากลุ่มนี้สามารถดูดซับฟองแก๊ส/ก๊าซ มาไว้ที่อนุภาคของมันได้ เป็นการช่วยกำจัดก๊าซ หรือลมที่มีมากในกระเพาะอาหาร ทำให้ลมในกระเพาะอาหารลดลงได้

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น ผงถ่าน ในชื่อการค้า อุลตราคาร์บอน (Ultracarbon) ซึ่งเป็นผงถ่านที่มีขนาดอนุภาคเล็กละเอียดอย่างมาก มีพื้นที่ผิวในการดูดซับก๊าซมาก และแตกตัวเร็ว ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็ว

  • ยากลุ่มนี้ รับประทานครั้ง 3-4 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร
  • ยากลุ่มนี้ ควรรับประทาน ก่อน หรือ หลังรับประทานยาอื่น 2 ชั่วโมง
  • ยากลุ่มนี้ควรใช้ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป หญิงมีครรภ์และให้นมบุตรสามารถรับ ประทานได้

อนึ่ง นอกจากยาขับลมดังกล่าวข้างต้น สมุนไพรไทยหลายชนิด ซึ่งรวมถึง "ยาหอม" ก็ช่วยขับลม และบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ผลดี เช่น ขิง น้ำขิง ขมิ้นชัน กานพลู ชะพลู พริกไทย กะเพรา ดีปลี กระเทียม เปล้าน้อย ลูกกระวาน เกล็ดสะระแหน่ เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. http://www.doctor.or.th/article/detail/4103 [2013, Nov12].
  2. คู่มือร้านยา “โรคและยาระบบทางเดินอาหาร”, เล่มที่ 6, จิรัชฌา อุดมชัยสกุล, ภญ., สิงหาคม , 2552