ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาขับปัสสาวะในทางการแพทย์คือ ยาที่มีผลเพิ่มการขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายโดยการเพิ่มปริมาตรของปัสสาวะ ยาจะออกฤทธิ์โดยตรงที่ไต

ยาขับปัสสาวะ มีผลทำให้ยับยั้งการดูดซึมกลับของน้ำและเกลือแร่จากท่อไต ซึ่งส่งผลให้น้ำและเกลือแร่ ถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะมากขึ้น

ยาขับปัสสาวะใช้ประโยชน์ในการช่วยรักษาและป้องกันภาวะคั่งของน้ำ และลดอาการบวมน้ำที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension), ภาวะหัวใจวาย (Conges tive Heart Failure), ภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน (Acute Pulmonary Edema) เป็นต้น นอกจาก นั้น ยาขับปัสสาวะยังใช้ประโยชน์อื่นๆอีก เช่น

  • ในการลดความดันในลูกตา (ในโรคต้อหิน) หรือ ในสมอง (ภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง)
  • ใช้ประโยชน์ในการเพิ่มปริมาตรปัสสาวะโดยตรง เช่น ในภาวะไตวาย
  • ใช้ประโยชน์ในการขับสารพิษออกทางปัสสาวะด้วย

***ขนาดยา

ยาขับปัสสาวะปกติให้รับประทานเพียงวันละครั้ง หรือสองครั้งเท่านั้น

  • ถ้าแพทย์ให้รับประทานวันละครั้ง ควรรับประทานตอนเช้า
  • ถ้าแพทย์ให้รับประทานวันละสองครั้ง ควรรับประทานตอนเช้าและตอนบ่าย ไม่ควรรับประทานตอนเย็นหรือก่อนนอน เพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะตอนกลางคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับได้

ทั้งนี้ ยาขับปัสสาวะที่ใช้กันทั่วไป มักออกฤทธิ์นานตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป บางชนิดออกฤทธิ์นานเกิน 12 ชั่วโมงก็มี

***ข้อควรปฏิบัติ

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะ คือ

  • ยานี้ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น
  • ควรไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และควรเจาะเลือดตรวจเป็นครั้งคราวดูการทำงานของไตและตับ ตามแพทย์แนะนำ เพื่อตรวจสภาพของไตและตับว่าเป็นปกติหรือ ไม่
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาขับปัสสาวะเอง โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ และต้องมียาเตรียมไว้เพียงพอแก่การใช้เสมอเวลาเดินทางหรือไปพักผ่อน
  • อาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน ควรเป็นอาหารที่ไม่เค็ม กล่าวคือ เป็นอาหารรสจืด

    เช่น ไม่ควรรับประทานปลาเค็ม ไข่เค็ม น้ำปลา กะปิ หรือซอสปรุงรส

  • ควรรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ไม่ควรรับประทานอาหารที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมกรุบกรอบ ขนมปังโดยทั่วไป
  • ควรรับประทาน ผัก ผลไม้สด มากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้หรือน้ำผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม แตงโม เป็นต้น เพราะยาขับปัสสาวะจะขับเกลือ โพแทสเซียมออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงอาจขาดโพแทสเซียมได้

***ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงของยาขับปัสสาวะ ได้แก่

  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ถ้าสูญเสียโพแทสเซียมไปในปัสสาวะมาก จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว กระหายน้ำ ให้รับ ประทานอาหาร/น้ำดื่มที่ชดเชยโพแทสเซียมตามแพทย์สั่ง หรือรับประทานน้ำผลไม้เช่นที่กล่าวข้างต้น
  • นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกนั่งหรือลุกยืนอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอาการวิงเวียนหน้ามืด จากการมีความดันโลหิตต่ำลง จากการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
  • ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาขับปัสสาวะแล้วมีอาการ เจ็บคอ ตาพร่า ปวดศีรษะ ผื่นขึ้น หรือเป็นจ้ำเลือดตามผิวหนัง หรืออาการผิดปกติต่างๆ ควรติดต่อแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดการแพ้ยา หรือมี ปฏิกิริยาระหว่างยาขับน้ำกับยาอื่นที่ใช้ร่วมอยู่ด้วย

***ข้อควรระวัง

ข้อควรระวังอื่นๆเมื่อใช้ยาขับปัสสาวะ ได้แก่

  • ผู้ที่เคยแพ้ยาปฏิชีวนะพวกซัลฟา เช่น แบคทรีม (Bactrim), แฟนซิดาร์ (Fansidar), โคไตรม็อกซาโซล (Cotrimoxazole) ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เพราะมียาขับปัสสาวะหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเหล่านี้ได้
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ควรบอกแพทย์ทุกครั้ง เพราะยาขับปัสสาวะมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้มากมายหลายชนิด ถ้าท่านรับประทานยาอื่นเป็นประจำอยู่ ควรบอกชื่อยาหรือนำตัว อย่างยาที่ใช้อยู่ไปให้เภสัชกรตรวจสอบด้วย เช่น ยาเบาหวาน ยาแก้ข้ออักเสบ ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิตอื่นๆ รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
  • ก่อนการผ่าตัด หรือแม้แต่การถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่า ท่านใช้ยาขับปัสสาวะอยู่ เพราะมีผลต่อความดันโลหิตของท่าน
  • ไม่ควรแบ่งยาขับปัสสาวะของท่านให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ควรระมัดระวังการใช้ยาใน หญิงตั้งครรภ์, หญิงที่ให้นมบุตร, เด็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีภาวะต่อมลูก หมากโต, ตับวาย, หรือไตวาย

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดรวมถึงยาขับน้ำ ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

***การเก็บรักษายา

ถ้าเป็นยาขับน้ำเม็ด ให้เก็บในภาชนะมิดชิด ที่อุณหภูมิห้องธรรมดา

ถ้าเป็นยาฯชนิดน้ำ ควรเก็บในตู้เย็น แต่ห้ามแช่แข็ง

ยาฯชนิดน้ำ ต้องเขย่าขวดก่อนรินยา และใช้ช้อนยาหรือหลอดหยดยาที่มีขีดมาตรฐานในการแบ่งยาเท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. www.elearning.msu.ac.th/ [2014,Feb9].
  2. http://www.pooyingnaka.com [2014,Feb9].
  3. http://www.thailabonline.com/drug/drug11.htm [2014,Feb9].