มิโนไซคลีน (Minocycline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามิโนไซคลีน(Minocycline หรือ Minocycline hydrochloride) เป็นยาปฏิชีวนะประเภทเดียวกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) มีการออกฤทธิ์กว้างขวาง สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้หลายชนิด ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ทำได้นาน รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาจะถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหาร ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาที่ยานี้อยู่ในร่างกายประมาณ 11 – 22 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้ง โดยผ่านไปกับอุจจาระเสียส่วนใหญ่ และบางส่วนถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

ประโยชน์ทางคลินิกของยามิโนไซคลีน ได้แก่ การบำบัดรักษาโรคที่เกิดการติดเชื้อแอคติโนมัยโคซิส(Actinomycosis,แบคทีเรียชนิดหนึ่งมักก่อโรคที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน), ใช้รักษาสิว, การติดเชื้อของผิวหนัง, รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ทั้งนี้ ยามิโนไซคลีน ไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยอาจส่งผลทำให้การเจริญเติบโตของฟันทารกผิดปกติไป ยามิโนไซคลีนสามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดาและถูกส่งผ่านไปยังทารกที่ดื่มนมมารดา ผลที่ตามมาคือ อาจทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกและฟันผิดปกติไป

นอกจากนี้ ห้ามรับประทานยามิโนไซคลีนร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก แคลเซียม ยาลดกรด ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ด้วยยาดังกล่าวจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยามิโนไซคลีนต่ำลง แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลารับประทานให้ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

การใช้ยามิโนไซคลีนที่หมดอายุหรือยาที่เสื่อมสภาพ อาจทำความเสียหายต่อไตของผู้ป่วยได้

การรับประทานยาปฏิชีวนะทุกชนิดรวมถึงยามิโนไซคลีน จะต้องให้ครบคอร์ส(Course)ของการรักษาตามแพทย์สั่ง กล่าวคือ หลังรับประทานยาแล้ว ถึงแม้อาการดีขึ้น ก็ต้องรับประทานยาต่อจนครบตามที่แพทย์กำหนด

หากรับประทานยามิโนไซคลีนเกินขนาด อาจพบอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน กรณีนี้ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ยามิโนไซคลีนอาจเป็นเหตุให้ผู้ใช้ยานี้มีอาการท้องเสีย อันมีสาเหตุจากเชื้อโรคชนิดอื่น กรณีนี้ห้ามมิให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้ท้องเสียด้วยตนเอง ควรมารับคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลเท่านั้น ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่าย ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้อาจต้องสวมเสื้อผ้าปกคลุมมิดชิดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง หรือถ้าต้องออกแดดกลางแจ้งควรทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดด โดยใช้ขนาด SPF 30 หรือสูงกว่า SPF 30 ทุกครั้ง

ผู้ที่ได้รับยามิโนไซคลีน ต้องควบคุมและตรวจสอบการทำงานของอวัยวะในร่างกายว่าผิดปกติหรือไม่ตามแพทย์แนะนำ ซึ่งถ้าสงสัยเกิดความผิดปกติ ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน เช่น

  • ตรวจสอบการทำงานของไต สังเกตง่ายๆ คือ มีปัสสาวะขัด ปวดขณะปัสสาวะหรือ มีอาการเท้าบวมหรือไม่
  • ตรวจสอบความผิดปกติการทำงานของตับและตับอ่อน โดยสังเกตว่ามีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องโดยมีอาการปวดลุกลามไปทางด้านหลัง เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้มจัด อุจจาระสีคล้ำคล้ายโคลน หรือมีอาการดีซ่านเกิดขึ้น
  • ตรวจสอบว่าความดันในกะโหลกศีรษะสูง หรือไม่ ให้สังเกตจากมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง มีเสียงในหู วิงเวียน การมองเห็นภาพผิดปกติ ปวดบริเวณ ด้านหลังของตา
  • ตรวจสอบมีภาวะอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ สังเกตจากมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด เกิดภาวะเลือดออกง่าย ชาตามร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บหน้าอก ไอมาก และมีไข้ร่วมด้วย

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ใช้ยามิโนไซคลีนอาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้บ้างเช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร วิงเวียน ปวดศีรษะ ไอ กลืนลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีผื่นคัน ผิวหรือเล็บซีดจาง อาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เองหลังหยุดใช้ยานี้

ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนใช้ยามิโนไซคลีน ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาในกลุ่มต่อไปนี้

1. ยากลุ่มPenicillin เช่น Amoxicillin, Ampicillin, Dicloxacillin, Oxacillin, Ticarcillin

2. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่น Warfarin, Coumadin, Jantoven

3. ยาประเภทเออร์กอต (Ergot medicine) อย่างเช่น Dihydroergotamine Ergotamine, Ergonovine, Methylergonovine

อนึ่ง หากมองในภาพรวม ยามิโนไซคลีนมีความจำเพาะเจาะจงต่อโรค มีข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้ อยู่หลายประการ ผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการซื้อหายานี้มารับประทานด้วยตนเอง และควรใช้ยานี้เฉพาะตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

มิโนไซคลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มิโนไซคลีน

ยามิโนไซคลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาสิว (การใช้รักษาสิวกับเด็ก ผู้ป่วยต้องมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป)
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแอคติโนมัยโคซิส
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นทั่วไป
  • รักษาการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • รักษาการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง

มิโนไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยามิโนไซคลีนจะออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียได้หลายสายพันธุ์/หล่ายชนิด เช่น Streptococcus aureus, Neisseria meningitides, Bacteroides, Haemophilus, Nocardia , Mycobacteria, Enterobacteria, และ Acinetobacter โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า 30s และ 50s Ribosomal subunits จนเกิดการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน จนแบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามาถกระจายพันธุ์ต่อไปได้ จากกลไกที่กล่าวมา จึงทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ

มิโนไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามิโนไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50,75,และ100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 45, 50, 65, 75, 90, และ 135 มิลลิกรัม/เม็ด

มิโนไซคลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยามิโนไซคลีนในบางกรณีโรค เช่น

ก.สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียแอคติโนมัยโคซิส (Actinomycosis)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง

ข.สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป(Bacteria infection):

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 200 มิลลิกรัม จากนั้นให้รับประทานยา 100 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง

ค.สำหรับการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง (Meningtis จากเชื้อแบคทีเรีย Meningococcal):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง

ง.สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อต่างๆตามร่างกาย:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แพทย์จะใช้น้ำหนักตัวเด็กมาเป็นเกณฑ์คำนวณขนาดรับประทาน, แต่กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการรับประทานได้อย่างเหมาะสมที่สุด
  • กรณีใช้ยามิโนไซคลีนรักษาโรคหนองใน(Gonorrlea) แพทย์ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วย ไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิส (Syphilis) หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์อื่นร่วมด้วย
  • มีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจกำเริบได้ง่ายเมื่อได้รับยามิโนไซคลีน เช่น โรคตับ โรคไต โรคหืด เมื่อเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพื่อการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • ควรรับประทานยานี้เมื่อท้องว่าง คือ ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือประมาณ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามิโนไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหืด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามิโนไซคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามิโนไซคลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อนึ่ง ยามิโนไซคลีนเป็นยาปฏิชีวนะที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องจนครบ คอร์สตามคำสั่งแพทย์เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเชื้อดื้อยา

มิโนไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามิโนไซคลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เป็นตะคริวที่ท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย ท้องอืด ฟันมีสีเหลืองและฟันผุง่าย ช่องปากอักเสบ คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ อาเจียน ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน วิงเวียน การได้ยินเสียงแย่ลง ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ ตับวาย ดีซ่าน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น เกิดอาการเหมือนโรคลูปัส (Lupus-like reactions)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง ผื่นคัน ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ กระดูกและข้อมีสีซีดจาง กล้ามเนื้ออักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย ไตอักเสบ ค่าฟอสเฟต(Phosphate)ในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบ ระบบการหายใจล้มเหลว ไอ หลอดลมตีบ/หดเกร็งตัวส่งผลให้หายใจลำบาก มีอาการหอบหืด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อารมณ์แปรปรวน

มีข้อควรระวังการใช้มิโนไซคลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามิโนไซคลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยา Tetracycline
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดเชื้อราในช่องปากบ่อยๆ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • ต้องรับประทานยานี้จนครบคอร์สการรักษา ถึงแม้ระหว่างการใช้ยาจะทำให้รู้สึกอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา ยามิโนไซคลีน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

มิโนไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามิโนไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยามิโนไซคลีนร่วมกับวิตามินเอ การใช้ยาร่วมกันอาจทำให้เกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น
  • การใช้ยามิโนไซคลีนร่วมกับยา Mipomersen (ยาลดไขมันในเลือด) อาจเสี่ยงทำให้ตับทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยามิโนไซคลีนร่วมกับยา Methoxyflurane (ยาสลบ) ด้วยยาทั้ง 2 ตัวจะทำให้เกิดอันตรายต่อไตได้มากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามิโนไซคลีนร่วมกับยา Leflunomide ด้วยอาจส่งผลต่อการ ทำงานของตับ โดยสังเกตจากอาการ มีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีคล้ำ และปวดข้อ เป็นต้น

ควรเก็บรักษามิโนไซคลีนอย่างไร?

ควรเก็บยามิโนไซคลีนในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

มิโนไซคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามิโนไซคลีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Minocin (มิโนซิน)Lederle Laboratories
Dynacin (ไดนาซิน)Medicis Pharmaceutical Corporation
Solodyn (โซโลดีน)Medicis Pharmaceutical Corporation
Myrac (มายแร็ค)Glades Pharmaceuticals

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Minoz, Minostar, Cynomycin, Cynomycine, Cyomin, Divaine

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Minocycline [2016,Dec10]
  2. https://www.drugs.com/minocycline.html [2016,Dec10]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/minocycline-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Dec10]
  4. https://www.drugs.com/imprints/dyn-75-748-176.html [2016,Dec10]