มะเร็งเต้านม (Breast cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งเต้านม/มะเร็งเต้านม(Breast cancer)คือ โรคที่เซลล์เนื้อเยื่อเต้านมมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกินปกติ โดยที่ร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จึงส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามในเต้านม ลุกลามออกนอกเต้านมเข้าสู่เนื้อเยื่อผนังหน้าอก เช่น กล้ามเนื้อใต้เต้านม เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เต้านม ที่สำคัญคือ ต่อมน้ำเหลืองรักแร้รวมถึงต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าด้านเดียวกับเต้านมที่เกิดโรค นอกจากนั้นยังอาจลุกลาม/แพร่กระจายเข้าสู่เต้านมและ/หรือต่อมน้ำเหลืองรักแร้และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าอีกด้านได้อีกด้วย และเมื่อโรครุนแรงขึ้นก็จะแพร่กระจายทางกระแสโลหิตสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ กระดูก ปอด ตับ และสมอง และยังแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ไกลจากเต้านม เช่น ในช่องอก และ/หรือในช่องท้องรอบๆท่อเลือดแดง

โรคมะเร็งเต้านมในสตรี/ในผู้หญิง เป็นโรคมะเร็งพบบ่อยของหญิงไทยและของผู้หญิงทั่วโลกโดยอยู่ในลำดับ 1 - 2 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด คิดเป็นประมาณ12%ของ ประชากรหญิงทั่วโลก และเป็นประมาณ25%ของมะเร็งในผู้หญิง ทั้งนี้เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ พบได้สูงขึ้นตั้งแต่อายุ 45-50 ปีขึ้นไป (ประมาณ 5% พบในอายุต่ำกว่า 40 ปี) โดยผู้ชายพบน้อยกว่าผู้หญิง100 เท่า ซึ่งข้อมูลในโรคมะเร็งเต้านมของผู้ชายยังมีน้อยมากเนื่องจากพบได้น้อย ทางการแพทย์จึงอนุโลมให้ดูแลรักษาเช่นเดียวกับโรคมะเร็งเต้านม ผู้หญิง

สถิติการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและภูมิประเทศ มีรายงาน พบได้ ดังนี้

  • 18 - 28 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนในภูมิภาคเอเชีย
  • 22 - 28 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนในภูมิภาคอัฟริกา
  • 49 - 78 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนในทวีปยุโรป
  • ประมาณ 42 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และ
  • ประมาณ 90 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนในอเมริกาเหนือ
  • ส่วนในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 รายงานมะเร็งเต้านมในหญิงไทย 28.5 รายต่อประชากรหญิงไทย 100,000 คนและในชายไทย 0.5 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน

อนึ่ง:

  • ในผู้ชายก็พบมะเร็งเต้านมได้ แต่พบได้น้อย โดยพบได้ประมาณ 1รายต่อชาย1,000คน ทั้งนี้ ธรรมชาติของโรค การดำเนินโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง ระยะโรค การวินิจฉัย การรักษา และการพยากรณ์โรค จะเช่นเดียวกับในมะเร็งเต้านมผู้หญิง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งเต้านมชาย)’
  • ทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งเต้านม จะหมายถึงเฉพาะ ‘มะเร็งเต้านมในผู้หญิง’เท่านั้น ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย

มะเร็งเต้านมมีกี่ชนิด?

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมมีหลากหลายชนิดทั้งในกลุ่มของ มะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมา ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งเต้านม’ จะหมายถึงชนิด ‘คาร์ซิโนมา’ เท่านั้น เช่นเดียวกับในบทความนี้

มะเร็งเต้านมคาร์ซิโนมาชนิดพบบ่อยเกือบ80-90%คือ มะเร็งที่เกิดกับเซลล์เยื่อบุผิวของท่อน้ำนม ชนิดที่เรียกว่า Ductal carcinoma, และมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมน้ำนม ที่เรียกว่า Lobular carcinoma ที่พบได้ประมาณ 10% , นอกนั้นเป็นชนิดอื่นๆที่พบได้น้อย เช่น Mucinous carcinoma, Adenocarcinoma

นอกจากนั้น ยังแบ่งมะเร็งเต้านมเป็นชนิด/กลุ่มที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนเพศหญิง(Hormone ย่อว่า H)หรือไม่ คือ มีตัวรับ(Receptor ย่อว่า R)ฮอร์โมนหรือไม่, และกลุ่มที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับ จีน/ยีน/Geneที่เรียกว่า Her2 (Her 2 receptor)หรือไม่

ก. กลุ่มที่จับฮอร์โมนฯ/มีตัวรับฮอร์โมนฯ: โดย

  • กลุ่มที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนฯ/มีตัวรับฮอร์โมนฯ จะเรียกว่า ‘Hormone receptor positive(HR+)’ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองได้ดีต่อการรักษาด้วยยาฮอร์โมนฯ/ยาต้านฮอร์โมนฯ เช่นยา Tamoxifen, Letrozole
  • กลุ่มที่เซลล์มะเร็งไม่จับฮอร์โมนฯ จะเรียกว่า Hormone receptor negative (HR-) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ตอบสนองต่อยาฮอร์โมน

ทั้งนี้ฮอร์โมนเพศหญิงนี้จะมี2ชนิดคือ เอสโตรเจน/Estrogen ย่อว่า ‘ER’ และโพรเจสเทอโรน/Progesterone ย่อว่า ‘PR’ ดังนั้น การที่เซลล์จับฮฮร์โมนฯหรือไม่จึงแยกย่อยเป็น

  • กลุ่มเซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนเอสโตรเจน/มีตัวรับเอสโตรเจน เรียกว่า ER+, ถ้าไม่มีตัวรับนี้ เรียกว่า ER-
  • กลุ่มเซลล์มะเร็งจับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน /มีตัวรับโพรเจสเทอโรน เรียกว่า PR+, ถ้าไม่มีตัวรับนี้ เรียกว่า PR-

ข. กลุ่มมี และไม่มีตัวรับ Her2 (เฮอร์ทู)โดย

  • ถ้ามีตัวรับHer2 เรียกว่า กลุ่มมี Her2+ ซึ่งแบ่งเป็น4กลุ่มย่อยขึ้นกับว่ามีตัวรับนี้มากหรือน้อย เรียงจากน้อยไปหามาก คือ Her2(0), Her2(1+), Her2(2+), และ Her2 (3+), โดยผู้ป่วยกลุ่มHer2 (3+) จะตอบสนองดีต่อยารักษาตรงเป้าชนิดที่ต้านตัวรับจีนนี้ คือ ยา ‘Trastuzumab ชื่อการค้าคือ Herceptin’
  • ถ้าไม่มีตัวรับ Her2 เรียกว่ากลุ่ม Her2 (–) หรือ (0) ที่ผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อยารักษาตรงเป้าชนิดต้านตัวรับ Her2

อนึ่ง:

  • Her2 หรือ Her2/neu (Human epidermal growth factor receptor 2) คือ จีนที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตและหยุดยั้งการตายของเซลล์มะเร็ง พบได้ในมะเร็งหลายชนิด ที่นำมาผลิตเป็นยาต้านตัวรับนี้ และได้นำมาใช้ทางคลินิกแล้ว ที่ให้ผลการรักษาที่ดีคือในมะเร็งเต้านม โดยจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง
  • ค่า ER, PR, และ Her2 ตรวจจากก้อนเนื้อมะเร็งฯด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

โรคมะเร็งเต้านมเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในมะเร็งเต้านมผู้ชาย แต่พบปัจจัยเสี่ยงในผู้หญิงได้แก่

  • อายุ เพราะพบโรคได้สูงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น
  • พันธุกรรม เพราะพบคนที่มีครอบครัวสายตรง (บิดา มารดา พี่ น้องท้องเดียวกัน) เป็นโรคมะเร็งเต้านม มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้สูงกว่า
  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคในคนเชื้อชาติตะวันตกสูงกว่าเชื้อชาติเอเซีย
  • ประจำเดือน พบโรคสูงขึ้นเมื่อมีประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 12 ปี
  • มีโรคก้อนเนื้อบางชนิดของเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ก้อนในเต้านม)
  • กินยาฮอร์โมนเพศหญิงเป็นประจำต่อเนื่อง
  • กินอาหารไขมันสูงต่อเนื่อง
  • โรคอ้วนที่เกิดหลังจากภาวะ/วัยหมดประจำเดือนแล้ว
  • จากสูบบุหรี่
  • ดื่มสุราเรื้อรัง
  • มีการตั้งครรภ์เพียง 0-2 ครรภ์
  • ไม่เคยให้นมบุตร

โรคมะเร็งเต้านมมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคมะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายคือ คลำได้ก้อนเนื้อในเต้านม มักเกิดเพียงข้างเดียว (โอกาสเกิดสองข้างมีประมาณ 5%) แต่อาจพบจากมีแผลเรื้อรังที่หัวนม หรือมีน้ำนมผิดปกติโดยเฉพาะเป็นน้ำเลือด

อาการอื่นๆที่มักเป็นอาการของโรคที่ลุกลาม เช่น

  • เต้านมบวมใหญ่ ผิวเต้านมมีลักษณะหนา และมีลักาษณะเหมือนด้านในของเปลือกส้ม/ เหมือนหนังหมู
  • เต้านมอาจมีอาการบวม แดง ร้อน คล้ายการอักเสบ อาจคลำได้ก้อนเนื้อ หรือไม่ได้ก้อนเนื้อ ก็ได้ เรียกว่า ‘Inflammatory breast cancer’
  • หัวนมบุ๋มและยึดติดกับเนื้อเยื่อเต้านมด้านในโดยที่ไม่เคยมีหัวนมบุ๋มฯมาก่อน
  • คลำได้ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า โต ค่อนข้างแข็ง ไม่เจ็บ อาจมีเพียงต่อมเดียว หรือหลายต่อม

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อายุ, อาการ, ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวที่รวมถึงประวัติมะเร็งเต้านม, ประวัติกินยา/ใช้ยาต่างๆต่างๆ, ประวัติประจำเดือน, การตั้งครรภ์, การให้นมบุตร
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำเต้านม
  • การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม/Mammogram) อาจร่วมกับตรวจอัลตราซาวด์เต้านม แต่ที่ให้ผลแน่นอนคือ เจาะ/ดูดเซลล์หรือตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งตรวจทางเซลล์วิทยาหรือ ตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้นคือ การตรวจชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาตัวรับ ER, PR, และHer2(ดังกล่าวในหัวข้อ ชนิดของมะเร็งเต้านม)เพื่อแพทย์ใช้เลือกวิธีรักษาแก่ผู้ป่วย

โรคมะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?

มะเร็งเต้านมทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายแบ่งเป็น 4 ระยะ (ระยะ1-4)เช่นเดียวกับโรคมะเร็งทั่วไป ซึ่งระยะต่างๆนี้ยังแยกย่อยเป็น A,B,C ตามความรุนแรงโรคที่เพิ่มขึ้นเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยเลือกวิธีรักษา, ให้การพยากรณ์โรค, และเพื่อการศึกษาวิจัย

ระยะต่างๆของมะเร็งเต้านม นิยมจัดระยะโรคตามองค์กรด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา(American Joint Committee on Cancer Staging, ย่อว่า AJCC) ปัจจุบันคือ AJCC 8th,Ed ซึ่งการจัดระยะโรคจะมีรายละเอียดซับซ้อนยุ่งยากมาก เพราะขึ้นกับปัจจัยสำคัญที่แพทย์ต้องทราบจากการตรวจชิ้นเนื้อก้อนมะเร็ง(การตรวจทางพยาธิวิทยา)หลังการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับก้อนเนื้อ เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยบอกวิธีรักษาและบอกการพยากรณ์โรค ปัจจัยสำคัญดังกล่าวได้แก่

  • ขนาดก้อนมะเร็ง(ย่อว่า T)โดยจัดเป็นระยะโรคแบบ ‘ทีเอ็นเอ็ม (TNM, แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความชื่อ ‘ที่เอ็นเอ็ม ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็ม’)
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Cell grading ย่อว่า G) แบ่งเป็นชนิดเซลล์แบ่งตัวน้อย (G1), แบ่งตัวปานกลาง(G2), หรือ แบ่งตัวสูง(G3)
  • จำนวนต่อมน้ำเหลืองรักแร้ที่มีโรคลุกลาม(ย่อว่า N) โดยจัดเป็นระยะโรคแบบ ‘ทีเอ็นเอ็ม(TNM)’เช่นกัน
  • มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน(ER)หรือไม่
  • มีตัวรับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน(PR)หรือไม่
  • มีตัวรับจีน HER2 หรือไม่ และในระดับไหน(0, 1+, 2+, หรือ 3+)

ดังนั้น

  • มะเร็งระยะศูนย์(0):ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่มีการรุนราน/ลุกลามออกนอกเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิว คือระยะ Non-invasive ที่ยังไม่จัดเป็นมะเร็งที่แท้จริง เรียกโรคระยะนี้ได้อีกชื่อว่า Ductal carcinoma in situ ย่อว่า ดีซีไอเอส(DCIS) และระยะนี้เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ซึ่งระยะนี้ การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง, หรือ ตัวรับฮอร์โมนฯ, หรือ ตัวรับจีนHER2, จะมีค่าเป็นอย่างไรก็ได้
  • ระยะที่ 4: โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) สู่อวัยวะอื่นๆที่พบบ่อยคือ ปอด กระดูก ตับ สมอง ผิวหนัง และไขกระดูก, และ/หรือแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองนอกเหนือต่อมรักแร้ด้านเดียวกับก้อนมะเร็ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองรักแร้อีกด้าน, ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก, ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง, ซึ่งระยะนี้ การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง, หรือ ตัวรับฮอร์โมนฯ, หรือ ตัวรับจีนHER2, จะมีค่าเป็นอย่างไรก็ได้เช่นกัน

อนึ่ง ในระยะที่1-3: จะยุ่งยากมีรายละเอียดซับซ้อนและมีหลายกลุ่มย่อยๆมาก ใช้จัดระยะเฉพาะแพทย์โรคมะเร็งเท่านั้น เพราะต้องใช้ทุกปัจจัยดังกล่าวในตอนต้นมารวมกันเพื่อจัดเป็นระยะโรค ซึ่งยุ่งยากเกินกว่าจะกล่าวให้คนทั่วไปเข้าใจได้ จึงจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ เช่น

  • ขนาดก้อนมะเร็งโตมากกว่า2ซม. แต่ไม่เกิน5ซม., ร่วมกับมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ไม่เกิน 3 ต่อม, G1, ER+, PR+, HER2(3+): ระยะโรคคือ ‘ระยะ1B’
  • แต่ถ้าขนาดก้อนมะเร็งโตมากกว่า2ซม. แต่ไม่เกิน5ซม.ร่วมกับมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ไม่เกิน 3 ต่อม เช่นกัน, แต่เป็น G3, ER-, PGR-, HER2(-), ระยะโรคจะเป็น ‘ระยะ 3B’ เป็นต้น

โรคมะเร็งเต้านมมีวิธีรักษาอย่างไร?

วิธีรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี แต่มักใช้หลายวิธีร่วมกันโดยมีการผ่าตัดเป็นวิธีหลัก ซึ่ง แพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ระยะโรค, ภาวะประจำเดือน คือ ยังมีประจำเดือน หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน , การจับฮอร์โมนของเซลล์มะเร็ง(HR+หรือ -), ค่าจีนHer2 3+, อายุ, สุขภาพร่างกายผู้ป่วยที่รวมถึงโรคประจำตัวต่างๆ, และความต้องการของผู้ป่วย

  • การผ่าตัด: มีทั้งชนิดเก็บเต้านมไว้ (มักต้องรักษาร่วมกับรังสีรักษา) และผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับก้อนมะเร็ง ทั้งนี้ จะผ่าตัดแบบไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะโรค, ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ, ขนาดเต้านมผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์
  • รังสีรักษา: มีได้ทั้งการฉายรังสีซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ที่สุด และการใส่แร่ การจะเลือกใช้วิธีใด อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • ยาเคมีบำบัด: ที่มีทั้งยากิน และยาฉีด
  • ยาฮอร์โมน: ทั่วไปเป็นยากิน บางกรณีอาจเป็นการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง2ข้าง โดยจะใช้ในกรณีที่เซลล์มะเร็งจับฮอร์โมน(HR+) เช่นยา Tamoxifen, Letrozole
  • ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง:เช่นยา Trastuzumab จะใช้กรณีโรครุนแรง และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด Her2 (3+) โดยใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ: เป็นการรักษาในโรคระยะรุนแรงมาก หรือสุขภาพผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาแบบหายขาดได้ เช่น โรคระยะที่4ที่โรคแพร่กระจายหลายอวัยวะ, ผู้สูงอายุมากๆ

อนึ่ง:

  • การรักษามะเร็งเต้านมทุกวิธีการ จะอยู่ในสิทธิการรักษาของคนไทยทุกกลุ่มสิทธิรวมทั้งสิทธิบัตรทองในกรณีที่รักษาตามข้อบ่งชี้ทางการรักษาที่กระทรวงสาธารณสุข จัดทำร่วมกับสมาคมแพทย์โรคมะเร็งของไทย ทั้งศัลยแพทย์ แพทย์ทางเคมีบำบัด และแพทย์ทางรังสีรักษา
  • วิธีรักษามะเร็งเต้านมผู้ชาย มีแนวทางรักษาเช่นเดียวกับในมะเร็งเต้านมผู้หญิง

มีผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งเต้านมอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านมขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/เต้านม การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีเต้านม)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ยาฮอร์โมน: เช่น ตกขาวโดยไม่มีการติดเชื้อ, เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (พบได้น้อย), มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (พบได้น้อยมากประมาณ 0.2 - 1.6 รายต่อผู้ใช้ยา 1,000 รายกรณีใช้ยาTamoxifen), ปวดข้อ ปวดกระดูก(กรณีใช้ยา Letrozole)
  • ยารักษาตรงเป้า: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งเต้านมขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งเต้านมรักษาหายไหม?

โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมีการพยากรณ์โรค รุนแรงปานกลาง มีโอกาสรักษาหายค่อนข้างสูงเมื่อเป็นโรคในระยะต้นๆ ดังนั้นโอกาสรักษาหายของโรคมะเร็งเต้านมจึงขึ้น กับระยะโรค, การตอบสนองต่อการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง ยาเคมีบำบัด, อายุ, และสุขภาพของผู้ป่วย, ซึ่งการพยากรณ์โรคจะคล้ายกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

อนึ่ง อัตรารอดที่ห้าปีของโรคมะเร็งเต้านมในระยะต่างๆทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกันประมาณได้ดังนี้

  • ระยะ 0: ประมาณ 95 - 100%
  • ระยะ 1: ประมาณ 90 - 100%
  • ระยะ 2: ประมาณ 85 - 90%
  • ระยะ 3: ประมาณ 60 - 70%
  • ระยะ 4: ประมาณ 0 - 20%

ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในโรคมะเร็งทุกชนิด รวมถึงมะเร็งเต้านมจะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญ เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัว เกิน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมไหม?

ปัจจุบันมีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงคือ การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง ร่วมกับการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเรื่อง การตรวจภาพรังสีเต้านม) ทั้งนี้ เพื่อให้ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการ

อนึ่ง เนื่องจากมะเร็งเต้านมในผู้ชายพบได้น้อยมาก จึงยังไม่มีการแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้ชาย แพทย์เพียงแนะนำให้สังเกตตนเอง ซึ่งถ้าพบมีก้อนเนื้อผิดปกติหรือมีเลือดออกจากหัวนม ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

โรคมะเร็งเต้านมป้องกันได้ไหม?

การป้องกันโรคมะเร็งเต้านมคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวที่หลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘ปัจจัยเสี่ยงฯ’

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคมะเร็งเต้านม?

ในผู้หญิงและในผู้ชายเมื่อคลำพบก้อนในเต้านมหรือพบความผิดปกติของเต้านม ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 1 - 2 สัปดาห์

แต่เมื่ออาการปกติในผู้หญิงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาขอรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่อายุ 40-50 ปี หรือที่อายุ 30 - 40 ปีเมื่อมีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านม

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual , 8th ed.
  2. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
  3. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1947145-overview#showall [2019,Aug10]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Breast_cancer [2019,Aug10]
  6. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/breast-cancer-survival-rates.html [2019,Aug10]