มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ตอนที่ 6)

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เช่นเดียวกัน สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าภาวะต่อไปนี้ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

  • ระบบภูมิคุ้มกันด้อยจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • กลุ่มอาการจากพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter's syndrome)

[กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ เป็นภาวะหนึ่งที่เพศชายมีโครโมโซมเอกซ์ (X) เกินมาอันหนึ่ง อาการหลักคือผู้ป่วยจะมีอัณฑะเล็กกว่าปกติ มีภาวะเจริญพันธุ์บกพร่อง (มีลูกยาก) นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรมที่พบบ่อยอีกหลายอย่าง ซึ่งแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยหลายคนมีอาการน้อยมากจนยากจะสังเกตพบ]

  • มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน (Immune disorders) และการรักษา เช่น กลุ่มอาการโจเกรน (Sjögren's syndrome = SS) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Systemic lupus erythematosus = SLE)

[กลุ่มอาการโจเกรน เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบด้วยอาการตาแห้งและปากแห้ง อันสืบเนื่องมาจากการมีลิมโฟไซต์เข้าไปแทรกอยู่ภายในต่อมน้ำตาและต่อมน้ำลายเป็นจำนวนมาก อาการดังกล่าวจัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของโรคภูมิทำลายตนเอง (Autoimmune) ที่มีผลต่อระบบทั่วร่างกาย]

  • โรคเซลีแอค (Celiac Disease)

[โรคเซลีแอค เป็นโรคอักเสบของลำไส้ซึ่งเกิดจากการแพ้สารกลูเตน (Gluten) ซึ่งเป็นสารโปรตีนชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ ในพวกแป้งสาลี หรือพวกธัญพืช เช่น พวกข้าวโอ๊ต ไรน์ หรือบาร์เลย์ มักเป็นกับเด็กวัย 1-5 ขวบ แต่อาจเป็นกับผู้ใหญ่ได้ โดยผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระเหลว เป็นฟอง สีซีด มีกลิ่นเหม็น มีอาการของโลหิตจาง ซูบซีด เด็กจะไม่เติบโตจะมีพัฒนาการตามที่ควร ท้องโต ปากและลิ้นเจ็บ กระดูกเปราะ]

  • ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease = IBD) โดยเฉพาะโรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหาร โรคติดเชื้อแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi ที่สัมพันธ์กับโรคไลม์ (Lyme disease) โรคติดเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter jejuni โรคติดเชื้อแบคทีเรีย Chalmydia psittaci
  • ติดเชื้อไวรัส HIV เชื้อ HTLV-1 เชื้อ SV-40 เชื้อ HHV-8 เชื้อ Epstein Barr virus เชื้อ Hepatitis virus

แหล่งข้อมูล

  1. Understanding Non-Hodgkin Lymphoma -- the Basics. http://www.webmd.com/cancer/lymphoma/understanding-non-hodgkins-lymphoma-basics [2015, July 26].