มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง/โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma หรือ Malignant lymphoma ) คือโรคที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิ้มโฟไซต์(Lymphocyte)ที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายเกิดการเจริญแบ่งตัวผิดปกติอย่างรวดเร็ว โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวผิดปกตินี้ได้ ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายโต คลำได้ แต่มักพบที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอเป็นจุดแรก รวมถึงจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายผิดปกติคือ มีการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เพราะเซลล์ลิ้มโฟไซต์นี้มีหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจัดเป็นโรคมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา หรือระบบโรคเลือด เป็นมะเร็งที่เกิดกับเซลล์/เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งคือต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง และนอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทั่วไปในอวัยวะทุกๆอวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น ไขกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง ของกระเพาะอาหาร ของลำไส้เล็ก ของลำไส้ใหญ่ ของผิวหนัง ของโพรงจมูก และของไซนัส ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งของต่อมน้ำเหลืองเอง และของเนื้อเยื่อต่างๆ มีสาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย ระยะโรค แนวทางการรักษา และความรุนแรงโรคคล้ายคลึงกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีได้หลากหลายชนิดเซลล์มะเร็ง ซึ่งแต่ละชนิดของเซลล์มะเร็งจะมีความรุนแรงโรคต่างกัน อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งได้เป็นสองชนิดหลัก คือ

ก. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease เรียกย่อว่า HD/เอชดี หรือ มีอีกชื่อว่า Hodgkin’s lymphoma เรียกย่อว่า HL/เอชแอล) เป็นมะเร็งพบได้ไม่บ่อยนัก อ่านรายละเอียดมะเร็งชนิดนี้เพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน

ข. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิ้น (Non-Hodgkin’s lympho ma หรือ เรียกย่อว่า NHL/เอ็นเอชแอล) ซึ่งมะเร็งกลุ่ม NHL นี้เป็นมะเร็งพบบ่อยติด10ลำดับแรกของหญิงและชายไทย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมมะเร็งชนิดนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคมะเร็งพบบ่อยทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงเล็กน้อย

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ คือ

  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส เอชไอวี (HIV) ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ (AIDS)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น ชนิดทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ (H. pylori/เอชไพโลริ/เอชไพโลไร)
  • พันธุกรรม
  • โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) บางชนิด เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ ชนิดไม่ติดเชื้อ
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น กินยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ปลูกถ่ายไต
  • อาจจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีทางการเกษตรเพราะพบโรคได้สูงกว่าในคนมีอาชีพเกษตรกรรม

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่เป็นอาการเหมือนโรคทั่วไป

ก. ที่พบได้บ่อยในโรคระยะต้นๆ คือ มีต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งใดก็ได้โต (มักพบที่ลำคอ) คลำได้ ไม่เจ็บ

ข. แต่เมื่อโรคลุกลาม นอกจากต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว อาจมี

  • อ่อนเพลีย
  • ซีด/ โรคซีด

ค. เมื่อโรคเกิดกับอวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลือง จะมีอาการเหมือนอวัยวะนั้นๆอักเสบ เช่น

  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว อาเจียน แขน/ขาอ่อนแรง เมื่อเกิดกับสมอง
  • ปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเรื้อรัง เมื่อโรคเกิดกับกระเพาะอาหาร

*นอกจากนั้น ยังมีอาการที่เป็นตัวบอกว่าโรครุนแรง เรียกว่า ‘อาการ บี (B symptoms)’ ซึ่งทุกอาการเกิดโดยยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด

โดย ‘อาการ บี’ ได้แก่

  • มีไข้สูงเป็นๆหายๆ
  • เหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน และ
  • น้ำหนักตัวลดมากกว่า 10% ภายใน 6 เดือน

*แต่กรณีเมื่อผู้ป่วยไม่มี ‘อาการบี’ จะเรียกว่า ‘อาการ เอ (A symptoms)’ ซึ่งโรคจะรุนแรงน้อยกว่าอาการบี

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น อาการต่างๆ ประวัติโรคประจำตัวและการเจ็บป่วยต่างๆทั้งปัจจุบันและในอดีต
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย
  • แต่ที่ให้ผลวินิจฉัยได้แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือ ก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

และหลังผลตรวจชิ้นเนื้อพบเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อดูระยะโรคและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น

  • ตรวจเลือด ซีบีซี เมื่อยังไม่ได้ตรวจตั้งแต่แรก
  • ตรวจเลือดูการทำงานของ ตับ ไต
  • ตรวจปัสสาวะดูโรคไต
  • เอกซเรย์ภาพปอดดูโรคที่ปอด และ
  • มักเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกนช่องท้องเพื่อดูโรคแพร่กระจายที่ ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ แต่ที่แตกต่างคือ จะแบ่งร่างกายเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนอยู่เหนือกะบังลม และส่วนอยู่ใต้กะบังลม ซึ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่

ระยะที่ 1: เป็นมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว เช่น บริเวณคอด้านซ้าย หรือ บริเวณรักแร้ด้านขวา บริเวณใดบริเวณหนึ่ง

ระยะที่ 2: เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 บริเวณขึ้นไป เช่น บริเวณคอซ้าย และคอขวา หรือ คอซ้ายกับรักแร้ซ้าย แต่สองบริเวณนี้ต้องอยู่ด้านเดียวกันของกะบังลม เช่น เหนือกะบังลมทั้งหมด หรือ ใต้กระบังลมทั้งหมด

ระยะที่ 3: เป็นมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนเหนือ และในส่วนใต้กะบังลม เช่น ของลำคอ ร่วมกับ ของขาหนีบ

ระยะที่ 4:

  • โรคลุกลามแพร่กระจายหลายจุด/ตำแหน่งของต่อมน้ำเหลือง และ/หรือของอวัยวะต่างๆ โดยแต่ละจุดของโรคฯไม่ได้อยู่ต่อเนื่องกัน และ/หรือ
  • โรคแพร่กระจายสู่ไขกระดูก ตับ น้ำไขสันหลัง และ/หรือ สมอง (สมองเป็นได้ทั้งโรคระยะที่ 1 เมื่อมะเร็งเกิดจากเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของสมองเอง หรือเป็นระยะที่ 4 เมื่อโรคเกิดจากต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ เนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆ แล้วแพร่กระจายสู่สมอง)

อนึ่ง:

  • ระยะโรค กรณีอวัยวะต้นกำเนิดมะเร็งฯไม่ใช่ตัวต่อมน้ำเหลือง(เกิดในอวัยวะต่างๆนอกเหนือจากต่อมน้ำเหลือง) จะกำกับด้วย คำว่า ‘อี (E หมายถึง Extranodal/ อยู่นอกต่อมน้ำเหลือง)’ เช่น เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกระเพาะอาหารระยะที่ 1E เป็นต้น
  • กรณีของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน จะแตกต่างจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นอน-ฮอดจ์กิน คือ ทุกระยะโรคของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน อาจกำกับด้วย ‘อาการ เอ’ หรือ ‘อาการ บี’ (ดังกล่าวในหัวข้อ อาการฯ) เพื่อเป็นตัวบอกความรุนแรงโรค เช่น ระยะ1A หรือ ระยะ1B

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรุนแรงไหม?

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคที่เซลล์มะเร็งตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดหลากหลายชนิด และต่อรังสีรักษา ดังนั้น จึงจัดเป็นโรคความรุนแรงค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงโรคขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • ชนิดเซลล์มะเร็ง: ชนิดฮอดจ์กินรุนแรงน้อยกว่าชนิดนอน-ฮอดจ์กิน
  • อายุ: เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ โรครุน แรงกว่า
  • ระยะของโรค: โรคยิ่งระยะสูง ความรุนแรงโรคสูงกว่า รวมถึง ระยะที่มี ‘อาการบี’ รุนแรงกว่า ‘อาการ เอ’ และ
  • สุขภาพผู้ป่วย: ผู้มีโรคประจำตัว โรครุนแรงกว่า

*ทั้งนี้ ทั่วไป อัตรารอดที่5ปีของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในโรคระยะต่างๆ ได้แก่

  • โรคระยะที่ 1 และ 2: ประมาณ 70-80%
  • ระยะที่ 3: ประมาณ 50-70% และ
  • ระยะที่ 4: ประมาณ 0-50% ขึ้นกับว่าโรคแพร่ กระจายสู่อวัยวะใด ซึ่งถ้ากระจายเข้าไขกระดูก อัตรารอดที่ 5ปี สูงกว่าการแพร่ กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะสู่สมอง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาอย่างไร?

การรักษาหลักของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำเองว่า ต้องให้ยาเคมีบำบัดอย่างไร และกี่ครั้ง ทั้งนี้เพราะต้องนำความรุนแรงของโรคซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนเข้ามาประเมินในการรักษาด้วย

ส่วนการรักษาวิธีการอื่นๆ เช่น

  • รังสีรักษา: มักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเมื่อโรคมีความรุนแรงสูง หรือเมื่อผู้ป่วยบางรายให้ยาเคมีบำบัดไม่ได้ เช่น จากมีปัญหาโรคไตเรื้อรัง การรักษาจะเป็นรังสีรักษาวิธีการเดียว เพราะยาเคมีบำบัดจะมียาส่วนตกค้างที่ต้องกำจัดออกทางไต เมื่อไตเสีย จึงมียาเคมีบำบัดคั่งในร่างกายมาก ก่อภาวะติดเชื้อได้รุนแรง จนอัตราเสียชีวิตสูงเกินกว่าจะนำมารักษาผู้ป่วยได้ เป็นต้น
  • การผ่าตัด: มักไม่ใช้การผ่าตัดในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาได้ผลดีด้วยยาเคมีบำบัด จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง
  • ยารักษาตรงเป้า: มีโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดที่ตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด ร่วมกับยารักษาตรงเป้า แพทย์มักแนะนำรักษาในโรคที่มีความรุนแรงสูง หรือ ที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือ โรคดื้อต่อยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ยารักษาตรงเป้ายังมีราคาแพงมหาศาลจนผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้ทุกคน
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก: ใช้รักษาได้ผลในเซลล์มะเร็งบางชนิดเมื่อมีโรคที่รุนแรง หรือ ดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือ ย้อนกลับเป็นซ้ำ และเช่นเดียวกับยารักษาตรงเป้า ที่ค่าใช้จ่ายในการรักษายังสูงมาก

มีวิธีตรวจคัดกรอง และป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการ และยังไม่มีวิธีป้องกันโรค ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ

  • การสังเกตตนเอง เมื่อคลำได้ต่อมน้ำเหลืองโต หรือ มี ‘อาการ บี’ หรือ มีอาการผิด ปกติต่างๆ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาแต่เนิ่นๆ

เมื่อเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ใช้การรักษาและยาต่างๆตามแพทย์แนะนำเสมอ อย่าหยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น อ่อนเพลียมาก ต่อมน้ำเหลืองโต /ต่อมน้ำเหลืองบวมขึ้น
    • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด อุจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด มีต่อมน้ำเหลื่อกลุ่มใหม่ๆโต บวม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เบื่ออาหารมาก ขึ้นผื่น คลื่นไส้-อาเจียนต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
  • มะเร็งในเด็ก

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles & practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
  2. AJCC cancer staging manual, 8th ed.
  3. Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Perez and Brady: Principles and practice of Radiation Oncology (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Lymphoma [2020,Jan11]