มะเร็งคาโปซิ คาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งคาโปซิ (Kaposi sarcoma หรือ Kaposi’s sarcoma หรือที่เรียกย่อว่า KS) เป็นโรคมะเร็งในกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา โดยได้ชื่อจาก นพ. M. Kaposi ซึ่งเป็นแพทย์โรคผิวหนังชาว ฮังกาเรียน ผู้ซึ่งได้รายงานโรคนี้ในปี ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415)โดยเป็นมะเร็งของเซลล์ที่เรียกว่า Mesenchymal cell ซึ่งคือเซลล์ที่จะเจริญเติบโตไปเป็นเนื้อเยื่อในระบบน้ำเหลือง หลอดเลือด และ/หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มะเร็งชนิดนี้อยู่ในกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา แต่แตกต่างจากมะเร็งซาร์โคมาอื่นๆ ที่สามารถพบจุดกำเนิดตั้งต้นของโรคได้ในหลายๆเนื้อเยื่อ/อวัยวะพร้อมๆกันโดยไม่ได้เกิดจากการแพร่กระจาย (Multicentric tumor) ทั้งนี้สามารถพบมะเร็งคาโปซิเกิดได้ที่ ผิวหนัง เยื่อเมือก (เช่น ช่องปาก จมูก ลำคอ) ต่อมน้ำเหลือง และ/หรืออวัยวะภายในต่างๆ เช่น ในระบบทางเดินอาหาร และ/หรือในปอด

มะเร็งคาโปซิ เป็นมะเร็งพบได้ในทุกเพศทุกวัย พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง โดยพบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ในคนปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ใช่ปลูกถ่ายไขกระดูก และในคนเชื้อชาติอัฟริกัน คนยิว คนแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean)

ทั้งนี้มีรายงานในปี ค.ศ. 2018 ที่ศึกษาจากประชากรทั่วโลก(Meta analysis)รายงานอัตราเกิดของมะเร็งคาโปซิต่อประชากร 1แสนคน (บรรณานุกรม2) ดังนี้

  • พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี 481.54 ราย
  • พบในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นชายรักร่วมเพศชายกับชาย 1397.11 ราย
  • พบในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ 68.59 ราย
  • พบในคนทั่วไป 1.53 ราย

มะเร็งคาโปซิมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอะไร?

มะเร็งคาโปซิ

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งคาโปซิ คือ ร่างกายติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ Human herpesvirus-8 ย่อว่า HHV-8 อีกชื่อ คือ Kaposi sarcoma-associated herpesvirus ย่อว่า KSHV ซึ่งร่างกายติดเชื้อมาได้อย่างไร ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการศึกษารายงานว่า อาจจาก การสัมผัส น้ำลาย และ/หรือสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ เพราะสามารถตรวจพบไวรัสนี้ได้ในสารคัดหลั่งต่างๆดังกล่าวของผู้ติดเชื้อนี้ ส่วนการติดเชื้อผ่านสัมผัสทางเลือดและการให้เลือดมีบางรายงานพบได้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ในคนที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ เชื้อไวรัสนี้จะไม่ก่ออาการ จะก่ออาการเฉพาะในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่องแต่ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดโรคนี้ในทุกคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำฯ

ซึ่งพบผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ ได้แก่

  • การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งดังได้กล่าวแล้ว จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเกิดมะเร็งคาโปซิสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับยาต้านเอชไอวี หรือได้รับยาฯไม่ต่อเนื่อง
  • การติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า Humanherpesvirus 8 (HHV-8)
  • รักร่วมเพศทั้ง ชาย และหญิง แต่ชายกับชายเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าหญิงกับหญิง
  • มีเชื้อชาติ อัฟริกัน, เมดิเตอร์เรเนียน, ยิว, ตะวันออกกลาง
  • เพศ: โดยพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง ซึ่งในคนเชื้อชาติเมดิเตอร์เรเนียน พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 10-15 เท่า

มะเร็งคาโปซิมีกี่ชนิด?

แบ่งมะเร็งคาโปซิเป็น 5 ชนิดตามปัจจัยเสี่ยงซึ่งเป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค ได้แก่

1. Epidemic Kaposi sarcoma หรือ AIDS –related Kaposi sarcomaเป็นชนิดที่พบในคนติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งในผู้ป่วยเอชไอวีที่เมื่อเกิดมะเร็งชนิดนี้หมายถึงภาวะรุนแรงของทั้งตัวโรคมะเร็งและตัวโรคที่เกิดจากเชื้อเอชไอวี ดังนั้น แพทย์จึงจัดผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มโรคเอดส์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เพื่อทราบถึงความแตกต่างระหว่าง การติดเชื้อเอชไอวี และการเป็นโรคเอดส์ ใน 2 บทความ คือ บทความเรื่อง เอชไอวี และบทความเรื่อง โรคเอดส์) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรคเอดส์ จำนวน ขนาด และตำแหน่งที่เกิดโรคมะเร็งนี้ โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคไม่ดี โดยผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากตัวโรคเอดส์เอง ไม่ใช่จากมะเร็งคาโปซิ

2. Classic Kaposi sarcoma หรือ Mediterranean Kaposi sarcoma เป็นชนิดที่พบได้น้อย มักพบในผู้สูงอายุชาว เมดิเตอเรเนียน ชาวยิว หรือชาวตะวันออกกลาง ที่มีภูมิคุ้นกันต้านทานโรคบกพร่อง พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง เป็นโรคชนิดที่ไม่ค่อยรุนแรง มักควบคุมรักษาได้ผลดี ก้อนเนื้อมักโตช้า ไม่ค่อยลุกลาม และก้อนเนื้อมักเกิดเพียงตำแหน่งเดียว หรือไม่กี่ตำแหน่ง มักพบที่ ขา ข้อเท้า และ/หรือ ฝ่าเท้า

3. Endemic Kaposi sarcoma หรือ African Kaposi sarcomaเป็นชนิดพบในคนเชื้อชาติอัฟริกัน พบได้ในทุกอายุ แต่พบในคนอายุต่ำกว่า 40 ปีสูงกว่าช่วงอายุอื่น และผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ ความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรค เป็นโรคไม่ค่อยรุนแรง ก้อนเนื้อโตช้า ไม่ค่อยลุกลาม แต่บางคนโรครุนแรงโดยเฉพาะเมื่อเกิดในเด็กก่อนวัยรุ่น ที่ก้อนเนื้อลุกลามเร็ว โตเร็ว และโรคมักเกิดในระบบน้ำเหลือง และในอวัยวะภายในร่างกาย ไม่ค่อยพบที่ผิวหนัง และโรคมะเร็งนี้เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต

4. Transplant-related Karposi sarcoma หรือ Iatrogenic Kaposi sarcoma เป็นชนิดที่พบได้ในผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ใช่การปลูกถ่ายไขกระดูก (เช่น ปลูกถ่าย ตับ ไต) ที่กินยากดภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งก้อนเนื้อมักเกิดเฉพาะที่ ไม่รุนแรง ก้อนเนื้อหายได้เองเมื่อหยุดยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และ/หรือก้อนเนื้อเล็กลงเมื่อลดขนาดยาดังกล่าวลง จึงจัดเป็นโรคชนิดมีการพยากรณ์โรคที่ไม่รุนแรง

5. Kaposi sarcoma in HIV negative men who have sex with men เป็นชนิดที่พบเกิดได้ในผู้ชายรักร่วมเพศที่ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี แต่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เป็นชนิดมีการพยากรณ์โรคดี โรคไม่รุนแรง และไม่ค่อยมีการลุกลาม มักเกิดเฉพาะที่ผิวหนัง มักรักษาได้หาย และเป็นโรคมีธรรมชาติของโรคเหมือนกับใน Classic Kaposi sarcoma เพียงแต่มักพบในผู้ชายที่อายุยังน้อย

มะเร็งคาโปซิมีอาการอย่างไร?

อาการของะเร็งคาโปซิ ขึ้นกับว่า เกิดโรคที่อวัยวะใด ก็จะมีอาการไปตามการทำงานของอวัยวะนั้นๆ เช่น

  • เมื่อเกิดโรคที่ผิวหนัง ซึ่งสามารถเกิดได้กับผิวหนังทั่วร่างกาย แต่มักพบบ่อยในบริเวณ ขา ศีรษะ และลำคอ โดยอาจพบเป็นตุ่ม หรือเป็นดวงนูน หรือเป็นดวงราบขนาดต่างๆ (อาจเป็นมิลลิเมตร ไปจนถึงหลายๆเซนติเมตร) มักไม่ก่ออาการคัน อาจพบรอยโรคเดียวหรือหลายๆรอยโรค อาจรวมกันเป็นกลุ่ม หรืออยู่กระจาย มีสีออกน้ำตาลหรือแดงหรือชมพู เห็นได้ชัดในคนผิวขาว
  • เมื่อเกิดในเยื่อเมือก เช่น ในช่องปาก มักพบที่เหงือก และเพดาน ลักษณะตุ่มคล้ายที่ผิวหนัง ซึ่งอาจพบที่เยื่อตาได้
  • เมื่อเกิดในทางเดินอาหาร ลักษณะก้อนเนื้อมีลักษณะเช่นเดียวกับที่ผิวหนัง ซึ่ง และถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ก็ส่งผลให้ทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน เช่น กลืนลำบากเมื่อเกิดที่หลอดอาหาร, ท้องผูก หรือ ท้องเสีย ปวดท้อง เรื้อรัง เมื่อเกิดที่ลำไส้ หรือมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารจากมีเลือดออกที่ก้อนเนื้อ
  • เมื่อเกิดที่ปอด ก็จะมีอาการ ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอกด้านมีรอยโรค หายใจลำบาก และอาจมีไอเป็นเลือด

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งคาโปซิได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งคาโปซิได้จาก ประวัติอาการ ประวัติเพศสัมพันธ์ เชื้อชาติ อายุ การตรวจร่างกาย การตรวจดูรอยโรค การตรวจเลือด ดูสารภูมิต้านทาน และดูการติดเชื้อเอชไอวี และ/หรือการติดเชื้อต่างๆ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่ง ถ้าโรคเกิดที่ปอด หรือ ระบบทางเดินอาหาร การวินิจฉัยฯมักได้จากการส่องกล้องตรวจอวัยวะเหล่านั้นร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อ

ซึ่งเมื่อได้รับการวินิจฉัยแน่นอนแล้วว่าเป็นมะเร็งคาโปซิ แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรค กล่าวคือ ดูการเกิดโรคในอวัยวะอื่นๆ ดูการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ปอด (ดูโรคที่ปอด) และ/หรือ การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เป็นต้น

มะเร็งคาโปซิมีกี่ระยะ? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีการจัดระยะโรคมะเร็งคาโปซิที่เป็นมาตรฐาน โดยทั่วไปแพทย์มักแบ่งผู้ป่วยตามการพยากรณ์โรค โดยประเมินจาก ชนิดของโรค, ลักษณะของรอยโรค (ตำแหน่ง, ปริมาณ,และชนิดของอวัยวะที่เกิดโรค), มีการเกิดโรคในอวัยวะภายในร่างกาย (เช่น ปอด ระบบทางเดินอาหาร ต่อมน้ำเหลือง)หรือไม่, และระดับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายว่าปกติ หรือต่ำมากน้อยเพียงใด

  • ผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักรักษาควบคุมโรคได้ดี คือผู้ป่วยกลุ่มที่ ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มโรคชนิด Classic, ชนิดTransplant-related, ชนิด Endemic, และชนิดผู้ชายรักร่วมเพศที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอ
  • ผู้ป่วยที่การพยากรณ์โรคไม่ดี มักรักษาควบคุมโรคได้ยาก คือ ผู้ป่วยมะเร็งคาโปซิกลุ่มเป็นโรคเอดส์/เอชไอวี
  • ทั้งนี้ ไม่สามารถประเมินได้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งคาโปซิจะมีอัตรารอดชีวิต เป็นอย่างไร เพราะจะขึ้นกับการที่สามารถควบคุมรักษาโรคที่เป็นสาเหตุได้ดีเพียงใด แต่โดยทั่วไป มะเร็งคาโปซิไม่ได้เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ยกเว้นกรณีมีโรคเกิดในอวัยวะภายใน เช่น ที่ปอด เป็นต้น โดยสาเหตุเสียชีวิตเกือบทั้งหมดเกิดจากตัวโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งคาโปซิ

รักษามะเร็งคาโปซิอย่างไร?

การรักษามะเร็งคาโปซิ มีหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นกับ สาเหตุ, ตำแหน่ง, ขนาด, และจำนวนของรอยโรค, ระดับความผิดปกติของภูมิคุ้มกันต้านทานโรค, อายุ, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ทั้งนี้วิธีรักษา ได้แก่ การรักษาสาเหตุ และการรักษารอยโรค

ก. การรักษาสาเหตุ ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี เมื่อสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือ การหยุดยา/การปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดยา เมื่อสาเหตุเกิดยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นต้น

ข. การรักษารอยโรค ขึ้นกับ ตำแหน่ง ขนาด จำนวน และอวัยวะที่เกิดโรค ซึ่งมีได้หลายวิธี และอาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้ ซึ่งแต่ละวิธี ได้แก่

  • การจี้รอยโรคด้วย เลเซอร์ หรือด้วยความเย็น (Cryotherapy)
  • การฉีดยาเคมีบำบัดเข้ารอยโรคโดยตรง
  • การผ่าตัดรอยโรค
  • การใช้ยาทา เช่น ยาที่ปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ (Immunomodulation) /สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น ยาในกลุ่ม Topical retinoids
  • การใช้รังสีรักษา
  • การให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ

ตรวจคัดกรองมะเร็งคาโปซิอย่างไร?

ปัจจุบัน ไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบ มะเร็งคาโปซิตั้งแต่ยังไม่มีอาการ/ไม่มีรอยโรค

ป้องกันมะเร็งคาโปซิอย่างไร?

การป้องกันมะเร็งคาโปซิ คือการป้องกันสาเหตุ /ปัจจัยเสี่ยง (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง) ที่ป้องกันได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งของเพศสัมพันธ์ และ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เอชไอวี และเรื่อง เอดส์) และ
  • การป้องกันภาวะ ตับวาย และ ไตวาย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการที่ต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ตับวาย ไตวาย ได้ ในในเว็บ haamor.com เช่นกัน)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งคาโปซิ?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงมะเร็งคาโปซิ จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เลือดออกจากแผล/ก้อนเนื้อมากขึ้น ก้อนเนื้อติดเชื้อ/เป็นหนอง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้/อาเจียนทุกครั้งที่กิน/ดื่มน้ำ ท้องเสีย หรือ ท้องผูก รุนแรง
    • มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับการท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com 2 เรื่อง คือ

  • เรื่องการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งและ
  • เรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ ป่วยเคมีบำบัด

*****อนึ่ง ที่สำคัญที่สุดอีกประการในมะเร็งคาโปซิ คือ

  • การต้องรักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดีด้วย เช่น เอชไอวี /โรคเอดส์ โรคตับ โรคไต ทั้งนี้เพราะการพยากรณ์โรคจะขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุเป็นหลัก

บรรณานุกรม

  1. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  2. Liu.Z et al. HIV Med. 2018;19(5):355-364 (abstract)
  3. http://www.plosone.org/article/info%3Adoi%2F10.1371%2Fjournal.pone.0018397 [2018,Oct27]
  4. https://www.cancer.gov/types/soft-tissue-sarcoma/patient/kaposi-treatment-pdq?redirect=true [2018,Oct27]
  5. http://en.wikipedia.org/wiki/Kaposi's_sarcoma [2018,Oct27]
  6. http://emedicine.medscape.com/article/279734-overview#showall [2018,Oct27]
  7. https://aidsinfo.nih.gov/guidelines/html/4/adult-and-adolescent-opportunistic-infection/342/hhv-8 [2018,Oct27]
  8. https://www.cancer.org/cancer/kaposi-sarcoma/about/what-is-kaposi-sarcoma.html [2018,Oct27]
  9. https://www.cancer.org/cancer/kaposi-sarcoma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Oct27]