มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งกล่องเสียง(Laryngeal cancer) คือโรคที่เกิดจากเซลล์ที่จุดใดของกล่องเสียง ก็ได้ เกิดการกลายพันธ์ มีการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จนในที่สุดเกิดเป็นแผลมะเร็ง/ก้อนมะเร็งรุกราน/ลุกลามทำลายกล่องเสียงเองและเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง/ต่อมน้ำเหลืองลำคอ และแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่นที่รักแร้ และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อย ที่ปอด

กล่องเสียง (Larynx) เป็นอวัยวะเดี่ยว อยู่ด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร ซึ่งอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหน้า คือ กระดูกลูกกระเดือก/กระดูกอ่อนไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ และอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหลัง คือ หลอดอาหาร และกระดูกสันหลังลำคอ ดังนั้นเมื่อเป็นมะเร็งกล่องเสียง โรคจึงลุกลามเข้าอวัยวะต่างๆเหล่านั้นได้ง่าย

เนื้อเยื่อกล่องเสียงเอง ยังแบ่งออกเป็น 3 ตำแหน่ง คือ

ก. เนื้อเยื่อตำแหน่งอยู่เหนือสายเสียง ซึ่งมีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดโรค มะเร็ง โรคจึงแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูงโดยเฉพาะที่ลำคอ และโรคตำแหน่งนี้ลุกลานรุนแรง/การพยากรณ์โรคอยู่ในระดับดีปานกลางถึงระดับแย่ ขึ้นกับระยะโรค

ข. เนื้อเยื่อตำแหน่งสายเสียง เป็นส่วนซึ่งไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง โรคจึงมักไม่ค่อยลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง เป็นตำแหน่งมีการพยากรณ์โรคดีกว่าโรคเกิดในตำแหน่งเหนือ หรือ ใต้ต่อสายเสียง

ค. และเนื้อเยื่อตำแหน่งอยู่ใต้สายเสียง ซึ่งเป็นส่วนติดต่อกับท่อลม และมีทางเดินน้ำ เหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นมะเร็ง โรคจะลุกลามเข้าท่อลม และเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง เป็นตำแหน่งมีการพยากรณ์โรค แย่กว่าโรคเกิดในตำแหน่งเหนือ หรือใต้ต่อสายเสียง

โรคมะเร็งกล่องเสียง สามารถเกิดได้กับเนื้อเยื่อกล่องเสียงในทุกตำแหน่ง โดยในคนไทยพบเกิดโรคกับเนื้อเยื่อตำแหน่ง ‘เหนือสายเสียง’ มากที่สุด รองลงไป คือ ในเนื้อเยื่อตำแหน่ง ‘สายเสียง’ และในเนื้อเยื่อตำแหน่งอยู่ ‘ใต้ต่อสายเสียง’ ตามลำดับ

มะเร็งกล่องเสียง จัดเป็นมะเร็งพบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก(พบได้ประมาณ 2% ของมะเร็งทั้งหมด) รวมทั้งในชายไทย ถึงแม้ยังไม่ติดหนึ่งในสิบมะเร็งพบบ่อยก็ตาม

โรคมะเร็งกล่องเสียง เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบสูงขึ้นในช่วงอายุ 60-70 ปี และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 4-5 เท่า ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ ประมาณ 5 รายต่อประ ชากร 100,000 คน(รวมทั้งผู้หญิงและผู้ชาย)ต่อปี

ส่วนในประเทศไทย ช่วง พ.ศ.2553-2555 รายงานโยสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี พ.ศ. 2558 พบโรคนี้ในผู้หญิง 0.2 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน และในผู้ชาย 2.7 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน

มะเร็งกล่องเสียงมีสาเหตุจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งกล่องเสียง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งกล่องเสียง แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ การสูบบุหรี่ นอกจากนั้น ที่มีความสำคัญน้อยกว่า ได้แก่

  • การดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเมื่อเสพทั้ง2อย่าง
  • การเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือไหลกลับ
  • อาจจากขาดสารอาหารบางชนิด เพราะพบได้สูงกว่า ในคนที่ขาดการกินผัก ผลไม้
  • อาจได้รับฝุ่นละอองจากสารบางชนิดเรื้อรัง เช่น ฝุ่นไม้ หรือ ฝุ่นแร่ใยหิน (Asbestos)
  • อาจจากติดเชื้อไวรัสชนิด เอชพีวี(HPV, Human Papilloma Virus) ชนิดเดียวกับที่ เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูก แต่อาจเป็นคนละสายพันธุ์ย่อย

อนึ่งโรคมะเร็งทุกชนิด ไม่ใช่โรคติดต่อ รวมทั้งมะเร็งกล่องเสียง ไม่สามารถติดต่อได้จากทางใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการหายใจ การคลุกคลี การสัมผัสสารคัดหลั่ง/เสมหะ หรือ การสัมผัสเลือดผู้ป่วย เพียงแต่ โรคมะเร็งบางชนิดอาจถ่ายทอดได้จากทางพันธุกรรมของคนในครอบครัวที่อาจรวมถึงในมะเร็งกล่องเสียง

มะเร็งกล่องเสียงมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งกล่องเสียง แต่เป็นอาการเหมือนมีกล่องเสียงอักเสบจากสาเหตุทั่วไป ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เสียงแหบเรื้อรังโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • เจ็บคอเรื้อรัง
  • ปวดหู
  • ไอมีเสมหะ อาจมีเสมหะปนเลือด
  • เมื่อก้อนเนื้อโตมาก จะอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออก/ หายใจติดขัด/ หายใจลำบาก
  • เมื่อโรคลุกลาม จะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองลำคอโต ไม่เจ็บ อาจคลำได้เพียงข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้างของลำคอ อาจมีเพียงต่อมเดียว หรือ หลายๆต่อมได้พร้อมกัน

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียงได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
  • การตรวจร่างกาย การตรวจดู/คลำลำคอ
  • การตรวจทางหูคอจมูก
  • การตรวจภาพกล่องเสียงด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ ส่องกล้องตรวจกล่องเสียง ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

โรคมะเร็งกล่องเสียงมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งกล่องเสียงแบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ ซึ่งในแต่ระยะยังแบ่ง ย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็น ข้อบ่งชี้ทางการรักษา การพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษาต่างๆ

ระยะโรคของมะเร็งกล่องเสียงจัดแยกเป็น 3 กลุ่มตามตำแหน่งที่เกิดโรค ได้แก่ มะเร็งกล่องเสียงส่วนเกิดเหนือสายเสียง(Supraglottic laryngeal cancer), มะเร็งกล่องเสี่ยงส่วนเกิดที่สายเสียง(Glottic laryngeal cancer), และมะเร็งกล่องเสียงส่วนเกิดใต้กล่องเสียงSubglottic laryngeal cancer

ก. ระยะโรคมะเร็งกล่องเสียงที่เกิด’เหนือสายเสียง’: แบ่งเป็น4ระยะหลัก และบางระยะหลักยังแบ่งเป็นระยะย่อย

  • ระยะที่ 1ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะเนื้อเยื่อจุด/ตำแหน่งเดียวเหนือสาย เสียง
  • ระยะที่ 2ก้อนมะเร็งลุกลามเนื้อเยื่อเหนือกล่องเสียงตั้งแต่ 2ตำแหน่งขึ้นไป
  • ระยะที่ 3ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้าสายเสียงจนสายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้, และ/หรือลุกลามออกนอกกล่องเสียงรวมถึงลุกลามถึงด้านในของกระดูกอ่อนไทรอยด์(กระดูกลูกกระเดือก), และ/หรือ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเดียวกับจุดเกิดโรค ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม. เพียง 1 ต่อม
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะโรคลุกลามรุนแรง และ/หรือแพร่กระจาย แบ่งเป็น 3 ระยะย่อยได้แก่
    • ระยะ4A ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือ ต่อมไทรอยด์ และ/หรือ หลอดอาหาร และ/หรือท่อลม, และ/หรือ โรคลุกลามหลายต่อมน้ำเหลือง และ/หรือ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองด้านตรงข้ามจุดเกิดโรค ทั้งนี้ทุกต่อมน้ำเหลืองต้องโตไม่เกิน6ซม.
    • ระยะ4B โรคลุกลามเข้าอวัยวะนอกกล่องเสียงมากขึ้น เข้าเนื้อเยื่อติดกระดูกสันหลังส่วนคอ และ/หรือเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ, และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต มากกว่า 6 ซม.
    • ระยะ4C มีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น ที่รักแร้, และ/หรือเข้า กระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ เข้าสู่ปอด

ข. มะเร็งกล่องเสี่ยงส่วนเกิดที่ ‘สายเสียง’: แบ่งเป็น4ระยะหลัก และบางระยะหลักยังแบ่งเป็นระยะย่อย

  • ระยะ1 โรคจำกัดอยู่ที่สายเสียง สายเสียงยังเคลื่อนไหวได้ปกติ
  • ระยะ2 โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่อเหนือและ/หรือใต้ต่อสายเสียง, และ/หรือสายเสียงเคลื่นไหวได้จำกัด
  • ระยะ3 โรคลุกลามสายเสียงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้, และ/หรือ โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่อด้านในกระดูกลูกกระเดือก, และ/หรือ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเดียวกับจุดเกิดโรค ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม. เพียง 1 ต่อม
  • ระยะ4 เป็นระยะโรคลุกลามรุนแรง และ/หรือแพร่กระจาย แบ่งเป็น3ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A โรคลุกลามรุนแรงเข้า กระดูกกระเดือก/กระดูกอ่อนไทรอยด์ และ/หรือท่อลม และ/หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ และ/หรือหลอดอาหาร, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม และ/หรือต่อมน้ำเหลืองด้านตรงข้ามจุดเกิดโรค แต่ต่อมฯต่างๆโตไม่เกิน 6ซม.
    • ระยะ4B โรคลุกลามเข้าอวัยวะนอกกล่องเสียงมากขึ้น เข้าเนื้อเยื่อติดกระดูกสันหลัง และ/หรือเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ, และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต มากกว่า 6 ซม.
    • ระยะ4C มีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น ที่รักแร้, และ/หรือเข้า กระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ เข้าสู่ปอด

ค. มะเร็งกล่องเสียงที่เกิด ’ใต้สายเสียง’: แบ่งเป็น4ระยะหลัก และบางระยะหลักยังแบ่งเป็นระยะย่อย

  • ระยะ1 โรคลุกลามเนื้อเยื่อใต้กล่องเสียงจุดเดียว
  • ระยะ2 โรคลุกลามเข้าสายเสียง แต่สายเสียงยังเคลื่อนไหวได้
  • ระยะ3 โรคลุกลามจนสายเสียงเคลื่อนไหวไม่ได้, และ/หรือเข้าเนื้อเยื่อใต้กระดูกลูกกระเดือก, และ/หรือ โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอด้านเดียวกับ จุดเกิดโรค ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม. เพียง 1 ต่อม
  • ระยะ4
    • ระยะ4A โรคลุกลามรุนแรงเข้า กระดูกกระเดือก/กระดูกอ่อนไทรอยด์ และ/หรือท่อลม และ/หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ และ/หรือหลอดอาหาร, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม และ/หรือต่อมน้ำเหลืองด้านตรงข้ามจุดเกิดโรค แต่ต่อมฯต่างๆโตไม่เกิน 6ซม.
    • ระยะ4B โรคลุกลามเข้าอวัยวะนอกกล่องเสียงมากขึ้น เข้าเนื้อเยื่อติดกระดูกสันหลัง และ/หรือเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ, และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต มากกว่า 6 ซม.
    • ระยะ4C มีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น ที่รักแร้ และ/หรือเข้า กระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ เข้าสู่ปอด

อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS ของทุกตำแหน่งเกิดโรค แพทย์มะเร็งหลายท่านยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์มะเร็งยังไม่มีการรุกราน(Non invasive) ยังไม่รุกราน/ลุกลามออกนอกเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิว/เยื่อเมือกของกล่องเสียง โรคระยะนี้มักพบเกิดกับเนื้อเยื่อส่วนสายเสียง และมักรักษาได้หายด้วย การผ่าตัด หรือ การฉายรังสีรักษา วิธีใดก็ได้เพียงวิธีเดียว โดยอัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 80-90%

รักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง คือ

  • การผ่าตัด หรือ รังสีรักษา วิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงวิธีเดียวใน โรคระยะที่ 1 และระยะที่ 2
  • ส่วนในโรคระยะที่ 3 และระยะที่ 4 กลุ่มที่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต การรักษา จะขึ้นกับสุขภาพผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ โดยอาจเป็น
    • การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา และอาจร่วมกับยาเคมีบำบัดด้วย
    • หรือการให้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดโดยไม่ผ่าตัด
    • ส่วนการรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา ซึ่งยารักษาตรงเป้ายังมีราคาแพงมหาศาลเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
  • การรักษาในโรคระยะที่4ที่โรคแพร่กระจายแล้ว หรือในผู้ป่วยที่สุขภาพไม่ดี สูงอายุ การรักษามักเป็น การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น
    • ใส่ท่อช่วยหายใจ
    • ใส่ท่อให้อาหารทางสายยางผ่านรูจมูก หรือหน้าท้อง กรณีกินทางปาก ไม่ได้
    • ให้รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัดแบบประคับประคอง
    • และ/หรือให้การรักษาประคับประคองทางอายุรกรรม เช่น
      • ให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ
      • ให้อาหารทางหลอดเลือดดำกรณีกินอาหารไม่ได้ในระยะสั้นๆ
      • ให้ยาแก้ปวด ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอ ตามแต่ละอาการ เป็นต้น

มีผลข้างเคียงจากรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคที่ก่อให้มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน
  • เมื่อสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงจากการรักษาวิธีต่างๆ ได้แก่

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดกล่องเสียงทั้งหมด ผู้ป่วยจะพูดไม่ได้ และต้องหายใจทางการเจาะคอถาวร แต่ในโรคระยะที่ 1 ในบางตำแหน่งของโรค อาจผ่าตัดกล่องเสียงออกเพียงบางส่วนได้ ผู้ป่วยจึงยังคงมีเสียงพูดได้ และไม่ต้องเจาะคอ
  • ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี (รังสีรักษา): เช่น การเจ็บคอมากในช่วงฉายรังสี ส่วนเมื่อฉายรังสีครบแล้ว อาจเกิดพังผืดกับสายเสียง เกิดเสียงแหบถาวรได้ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด: เช่น ช่วงให้ยา จะเจ็บคอมาก และมีโอกาสติดเชื้อสูงจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา) และมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งกล่องเสียงรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งกล่องเสียง จัดเป็นโรคมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรค ระดับรุนแรงปานกลาง แต่รักษาหายได้ โดยโอกาสรักษาหาย ขึ้นกับ

  • ระยะโรค
  • ตำแหน่งกล่องเสียงที่เกิดโรค(เมื่อเกิดโรคที่สายเสียง ความรุนแรงโรคน้อยกว่า, ความรุนแรงสูงขึ้นเมื่อเกิดโรคกับกล่องเสียงตำแหน่งอยู่เหนือสายเสียง, และความรุนแรงโรคสูงมาก เมื่อเกิดโรคในตำแหน่งอยู่ใต้ต่อสายเสียง)
  • อายุ
  • และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย

ทั้งนี้ อัตรารอดที่ห้าปีของมะเร็งกล่องเสียงตามตำแหน่งเกิดโรคและระยะโรค ได้แก่

ก. มะเร็งส่วนที่เกิด เหนือสายเสียง:

  • ระยะที่1 ประมาณ 60-70%
  • ระยะที่2 ประมาณ 55-60%
  • ระยะที่3 ประมาณ 40-50
  • ระยะที่4 ประมาณ 0-15% โดยกรณีมีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลือง และ/หรือกระแสโลหิตแล้ว โอกาสอยู่ได้ 2 ปี ประมาณ 30-40%

ข. มะเร็งส่วนเกิดที่ สายเสียง:

  • ระยะที่1 ประมาณ 80-90%
  • ระยะที่2 ประมาณ 70-75%
  • ระยะที่3 ประมาณ 50-60%
  • ระยะที่4 ประมาณ 0-20% โดยกรณีมีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลือง และ/หรือกระแสโลหิตแล้ว โอกาสอยู่ได้ 2 ปี ประมาณ 30-40%

ค. มะเร็งส่วนเกิด ใต้สายเสียง:

  • ระยะที่1 ประมาณ 55-60%
  • ระยะที่2 ประมาณ 50-55%
  • ระยะที่3 ประมาณ 30-40%
  • ระยะที่4 ประมาณ 0-15% โดยกรณีมีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลือง และ/หรือกระแสโลหิตแล้ว โอกาสอยู่ได้ 2 ปี ประมาณ 30-40%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกล่องเสียงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งกล่องเสียงตั้งแต่ยังไม่มีอาการ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง)

ดังนั้นวิธีดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงแหบนานเกิน 2 สัปดาห์

ป้องกันโรคมะเร็งกล่องเสียงได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งกล่องเสียงให้ได้เต็มร้อย แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้ คือ

  • ไม่สูบบุหรี่/เลิกบุหรี่ และ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/เลิกแอลกอฮอล์

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ ‘อาการของโรคมะเร็งกล่องเสียง’ และภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงแหบเรื้อรัง หรือ เมื่อกังวลใจกลัวว่าจะเป็นมะเร็งกล่องเสียง

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด รวมถึงมะเร็งกล่องเสียง จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ไอมากขึ้น หอบเหนื่อยมากขึ้น หายใจลำบาก
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะรุนแรง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องผูกมากต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com, 2บทความ ได้แก่

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Gunderson, L., and Tepper, J. (2007). Clinical Radiation Oncology (second edition). Philadelphia: Elsevier Churchill Livingstone
  3. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. https://www.cancer.org/cancer/laryngeal-and-hypopharyngeal-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019 ,Jan5]
  5. https://www.cancer.org/cancer/laryngeal-and-hypopharyngeal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019 ,Jan5]
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Laryngeal_cancer [2019 ,Jan5]