“ภูมิแพ้” ทำพิษ ติดอันดับโรคต้นทุนสูง (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบัน มีพ่อแม่จำนวนมากต้องกังวล การมีเรื่องการป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ของลูก โดยมีตัวเลขที่น่าเป็นห่วงว่า ร้อยละ25 ของประชากรเด็กทั่วโลกป่วยเป็นภูมิแพ้ แล้วมีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2553 มีสถิติของเด็กอายุระหว่าง 0–5 ขวบ ที่แสดงว่ามีประมาณ 1.8 ล้านคนที่กำลังป่วยด้วยโรคนี้

นอกจากนี้ ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่า ต้นทุนการรักษาพยาบาลโดยตรงของโรคภูมิแพ้ ในปัจจุบัน กระโดดขึ้นไปสูงถึง 27,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของรายจ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ

ภูมิแพ้ (Allergy) คืออาการผิดปรกติของความไวสูง (Hypersensitivity) ต่อระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ภูมิแพ้เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไปมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารที่ปรกติจะไม่มีอันตรายในสิ่งแวดล้อม สารที่เป็นสาเหตุของปฏิกิริยาดังกล่าว เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” (Allergen)

ปฏิกิริยาเหล่านี้มิได้มีมาแต่กำเนิด (Acquired) แต่พยากรณ์ได้ (Predictable) และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Rapid) อันที่จริงภูมิแพ้เป็น 1 ใน 4 รูปแบบของความไวสูง ประเภทที่ 1 หรือ “ประเภทเกิดอาการทันที” (Immediate) ภูมิแพ้ปรากฎเด่นชัดเนื่องจากการออกฤทธิ์เกินขนาดของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่ชื่อว่า (Immunoglobulin E: IgE)

ปฏิกิริยานี้ ก่อให้เกิดการบวมอักเสบ (Inflammatory response) ซึ่งมีตั้งแต่ขั้นอึดอัดน่ารำคาญไปจนถึงขั้นรุนแรงเป็นอันตราย โดยที่ภูมิแพ้ชนิดอ่อน อาทิ การแพ้ละอองเกสร เป็นสิ่งที่พบบ่อยในฝูงชน และเป็นสาเหตุของอาการต่างๆ อาทิ ตาแดง คัน น้ำมูกไหล ผื่นแดง (Eczema) ลมพิษ (Hives) เป็นไข้ละอองฟาง หรือเรียกทับศัพท์ว่า เฮฟีเวอร์ (Hay fever) หรือ โรคหืด (Asthma)

ในบางคน ปฏิกิริยารุนแรงต่อสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม หรือต่อการใช้ยา (Medication) อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามถึงชีวิต (Life-threatening) ที่เรียกว่า “Anaphylaxis” โดยทั่วไป ภูมิแพ้ต่ออาหารและต่อพิษ (Venom) ของแมลงสัตว์กัดต่อย อาทิ ตัวต่อ และผึ้ง ก็มักมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยารุนแรงเหล่านี้

การทดสอบเพื่อวินิจฉัยอาการภูมิแพ้มีหลายวิธี อาทิ การทาสารก่อภูมิแพ้บนผิวหนัง แล้วสังเกตปฏิกิริยาต่างๆ อาทิ การบวม หรือการเจาะเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารภูมิต้าทานเฉพาะที่ชื่อ IgE ส่วนการรักษาภูมิแพ้มีหลายวิธีเช่นกัน ได้แก่

  • การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เท่าที่ทราบ
  • การใช้ยาต้านทานภูมิแพ้ หรือเรียกทับศัพท์ว่า ยาแอนติฮีสตามีน (Anti-histamine) ซึ่งป้องกันปฏิกิริยาภูมิแพ้โดยเฉพาะ
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันโดยทั่วไป
  • การใช้ยาบรรเทากลุ่มอาการคั่งบวม (Decongestant) ซึ่งมักเป็นอาการหนึ่งจากการแพ้ เช่น ริมฝีปากบวม
  • ตามปรกติ เรามักกินยาเหล่านี้ทางปาก แต่ก็มีบางชนิดใช้วิธีฉีด อาทิ การฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายเพื่อลดความไว (Desensitize) ของการตอบสนอง ในการบำบัดภูมิแพ้ (Immunotherapy)

    แหล่งข้อมูล:

    1. "ภูมิแพ้" ติดอันดับโรคต้นทุนสูง สูญเงินรักษาปีละ 2.7 หมื่นล้าน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333959444 [2012, April 20].
    2. Allergy. http://en.wikipedia.org/wiki/Allergy [2012, April 20].