ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ระบบภูมิคุ้มกัน หรือระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immune System) เป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายในการป้องกันโรคต่างๆโดยอาศัยกลไกที่เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันสามารถจับกิน(Phagocytosis) สิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต รวมไปถึงเซลล์ที่ผิดปกติต่างๆในร่างกายเช่น เซลล์เนื้องอก เซลล์มะเร็ง และกำจัดทำลาย (Destroy) สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นไปได้

การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสิ่งแปลกปลอมมีความซับซ้อนอย่างยิ่งโดยประกอบไปด้วยการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันหลายชนิดร่วมกันเช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และเซลล์ระบบน้ำเหลืองของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ

อย่างไรก็ดีการตอบสนองของร่างกายต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติหรือการมีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันก็อาจนำมาสู่โรคต่างๆได้เช่นกันเช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) โรคภูมิต้านตนเองหรือแพ้ภูมิตนเองหรือโรคออโตอิมมูน (Autoimmune) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hyper sensitivity) ที่ก่อให้เกิดภาวะ/โรคภูมิแพ้ เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันบำบัดหรือบางท่านเรียกว่า ภูมิคุ้มกันรักษา (Immunotherapy หรือ Biotherapy หรือ Biologic therapy หรือ Biological therapy) เป็นการนำหลักในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคโดยการเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมี 2 แบบคือ

ก. แบบกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั่วไปที่ตอบสนองไม่เฉพาะเจาะจงต่อโรคใดโรคหนึ่ง ที่เรียกว่า “ ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั่วไป (Non-specific Immunotherapy)” เช่น การใช้วัคซีนต่างๆเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคทั่วไป เป็นต้น และ

ข. แบบกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองเจาะจง เฉพาะโรค หรือเฉพาะตัวกระตุ้น หรือ เฉพาะสิ่งแปลกปลอม หรือเฉพาะสารก่อภูมิต้านทาน ที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเจาะจงแอนติเจน /สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen-specific Immunotherapy)” ซึ่งการรักษาแบบเจาะจงแอนติเจนนั้น ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เจาะจงต่อเซลล์เป้าหมาย/เซลล์ก่อโรค/อาการ และทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้น้อย ทั้งนี้ยังแบ่งภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเจาะจงแอนติเจนเป็นอีก 2 กลุ่มย่อยคือ

  • ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม (Activation Immunotherapy) ซึ่งนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และ
  • ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดลดการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม (Suppression Immunotherapy) ซึ่งนำมาใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ (Allergies) และในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ Transplantation)

ภูมิคุ้มกันบำบัดนำมาใช้ในการรักษาโรคใดบ้าง?

ภูมิคุ้มกันบำบัด

ปัจจุบันมีการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาและป้องกันโรคหลายชนิดเช่น

ก. ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม (Activation Immunotherapy) ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยอาจเป็นการให้ยาสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody) หรือ นำเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายไปดัดแปลงให้มีฤทธิ์ต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ และยังรวมไปถึงการใช้วัคซีนบางชนิดที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้นยังนำมาใช้บำบัดรักษาในโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) ซึ่งในการรักษาทั้ง 2 โรคนี้ปัจจุบันกำลังอยู่ในการศึกษาทดสอบทางคลินิก

ข. ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดลดการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม (Suppression Immunotherapy) ในการรักษาโรคภูมิแพ้ (Allergies) โรคภูมิต้านตนเองหรือแพ้ภูมิตนเองหรือโรคออโตอิมมูน(Autoimmunity) และในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ Transplantation)

ภูมิคุ้มกันบำบัดมีกลไกการทำงานอย่างไร?

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการหรือในกลไกของภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในเบื้องต้นด้วย

ระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบที่มีการทำงานซับซ้อนโดยแหล่งกำเนิดของเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆมาจาก “ไขกระดูก” ไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีทั้งแบบ

  • ภูมิคุ้มกันแบบไม่เจาะจง (Nonspecific Immunity): กล่าวคือเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้าง ขึ้นเพื่อป้องกันร่างกายจากแอนติเจน (Antigen) ทั่วไปหรือจากสิ่งแปลกปลอมทั่วๆไป ไม่มีความ จำเพาะเจาะจง และอีกประเภทหนึ่งคือ
  • ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Specific Immunity): ที่จะตอบสนอง/ป้องกันร่างกายจากแอนติเจน/จากสิ่งแปลกปลอมที่จำเพาะเจาะจง โดยที่แอนติเจน/สิ่งแปลกปลอมที่จำเพาะเจาะจงนั้นๆระบบภูมิ คุ้มกันแบบไม่เจาะจงไม่สามารถทำลายได้

การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแบบเจาะจง (Specific Immunity) ยังแบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อยคือ

ก. การทำงานแบบพึ่งเซลล์ (Cell-mediated immunity ย่อว่า CMI) ซึ่งเป็นการพึ่งเซลล์ เม็ดเลือดขาวชนิด ที-ลิมโฟไซต์ (T- lymphocytes) หรือย่อว่า ที-เซลล์ (T- cell) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิต้านทานชนิดหนึ่งโดยมีความสามารถจดจำสารแปลกปลอม/แอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานที่มาเกาะที่ผิวของเซลล์ปกติ และจะจดจำการตอบสนองต่อแอนติเจนนั้นๆอย่างเฉพาะเจาะจงกรณีตรวจพบแอนติเจนดังกล่าวอีกในอนาคต

ข. การทำงานแบบพึ่งสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody Immunity) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันร่างกาย สารภูมิต้านทานนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin; Ig) มี 5 ชนิดคือ IgA, IgD, IgE, IgG และ IgM แต่ชนิดที่สำคัญและมีบทบาท ทำให้เกิดอาการแพ้คือ ชนิดอี (IgE)

วิธีรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้ทางการแพทย์ประกอบไปด้วย 2 แนวทาง/ วิธีคือ

1. ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม (Activation Immunothe rapy): เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งแบ่งภูมิคุ้มกันชนิดนี้ได้เป็นหลายชนิดย่อยเช่น

  • โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal antibody): คือการรักษาโดยใช้ยาสารภูมิต้านทาน /Antibody ที่มีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็งในการควบคุมการเจริญเติบโตหรือควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์มะเร็งเช่น ยาอิพิลิมูแมบ (Ipilimumab), ยานิโวลูแมบ (Nivolumab), ยาเพมโบรลิซูแมบ (Bembrolizumab)
  • ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะ (Non-specific Immunotherapy): เป็นการเพิ่มประสิทธิ ภาพของระบบภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทานของร่างกายในการทำลายเซลล์มะเร็งโดยการใช้ยาที่เป็นสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดีที่ไม่จำเพาะ นิยมใช้พร้อมกับหรือใช้ภายหลังการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆเช่น การใช้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา
  • การใช้ไวรัสรักษามะเร็ง (Oncolytic Virus Therapy): เป็นการนำไวรัสที่ได้รับการตัดต่อ พันธุกรรมให้มีคุณสมบัติจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งในการทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะฉีด ไวรัสเข้าสู่เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง ซึ่งไวรัสจะทำการแบ่งตัวภายในเซลล์เนื้องอกหรือในเซลล์มะ เร็งจนส่งผลให้เซลล์มะเร็งตาย เมื่อเซลล์มะเร็งหรือเซลล์เนื้องอกตายแล้ว ตัวเซลล์ที่ตายจะปล่อย แอนติเจน (Antigen) หรือสิ่งที่ร่างกายระบุว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมออกมาซึ่งทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดีที่มีผลเจาะจงกับเซลล์มะเร็งดังกล่าว ซึ่งสารภูมิต้านทาน/แอนติบอดีนี้จะกำจัดเซลล์มะเร็งนั้นๆไป ปัจจุบันมีการนำวิธีนี้มาใช้ในการรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
  • การรักษาโดยใช้ที-เซลล์บำบัด (T-cell Therapy): โดยการนำที-เซลล์ในเลือดของร่างกาย ไปผ่านกระบวนการดัดแปลงให้มีความจำเพาะกับตัวรับ (Receptor) ในเซลล์มะเร็ง และฉีดที-เซลล์ที่ผ่านกระบวนการนี้กลับเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ที-เซลล์ฯทำลายเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันวิธีการรักษานี้อยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิก
  • วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines): เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู่กับเซลล์ มะเร็งได้โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถจดจำเซลล์มะเร็งและสามารถทำลายโปรตีนที่มีความเกี่ยวข้องกับเซลล์มะเร็งได้ ปัจจุบันมีการนำมาใช้เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) มะเร็งอวัยวะเพศหญิง (Vulvar Cancer) เช่น วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (เช่น วัคซีนการ์ดาซิล/Gardasil, วัคซีนเซอวาริกซ์/Cervarix) และวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine) ที่ใช้ป้องกันมะเร็งตับ เป็นต้น

2. ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดลดการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม (Suppression Immunotherapy): เป็นการลดการตอบสนอง (Desensitization) ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิ แพ้ (Allergen) โดยทั่วไปในการรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ในขนาดต่ำๆก่อนด้วยวิธีการต่างๆเช่น การฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) การให้รับประทานทางปาก และ/หรือการหยดสารก่อภูมิแพ้ใต้ลิ้น (Sublingual) แล้วจึงค่อยๆเพิ่มขนาดของสารก่อภูมิแพ้ขึ้นอย่างช้าๆทั้งนี้เพื่อลดการตอบสนองของร่างกายในการสร้างสารภูมิต้านทาน/แอนติ บอดีชนิด อี (Immonoglobulin E; IgE) ที่มีบทบาทสำคัญในการชักนำให้เกิดอาการแพ้จึงทำให้อาการโรคภูมิแพ้ลดลง

ควรสอบถามอะไรบ้างจากแพทย์ก่อนเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด?

หากแพทย์แนะนำการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษา ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ถึงรูปแบบและ กระบวนการรักษาเพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาอย่างครบถ้วนเช่น

  • รูปแบบภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดใดที่แพทย์แนะนำ
  • ทำไมถึงแนะนำรูปแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นๆ
  • เป้าหมายของการรักษาคืออะไร
  • จะใช้วิธีการอื่นใดร่วมในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหรือไม่ หรือใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดเพียงวิธีเดียว
  • มีวิธีการให้ยาหรือให้สารภูมิคุ้มกันบำบัดอย่างไร ต้องให้บ่อยแค่ไหน ต้องให้นานแค่ไหน
  • ภูมิคุ้มกันบำบัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง และจะดูแลรักษาผลข้างเคียงนั้นๆได้อย่างไร
  • วิธีการรักษาจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน การออกกำลังกาย เพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร หรือไม่ อย่างไรบ้าง
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดประมาณเท่าไร
  • มีวิธีการรักษาอื่นโดยไม่ต้องใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดหรือไม่

เมื่อจะรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ควรแจ้งแพทย์พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อจะรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ควรแจ้งแพทย์พยาบาลและเภสัชกรดังนี้เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus), ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin), ยาไมโคฟิโนเลต (Mycopheno late), ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine), ยาซิโรไลมัส (Sirolimus) และยาเสตียรอยด์ รวมไปถึงยาเคมีบำบัด
  • ประวัติโรคต่างๆทั้งโรคที่เป็นมาในอดีตและโรคต่างๆที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • แจ้งว่ากำลังอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากสารหรือยาบางชนิดที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัดอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

หากลืมเข้ารับการบริหารยาสารภูมิต้านทานตามกำหนดเวลา ต้องทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ให้ยาสารภูมิต้านทานที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัดตามกำหนดนั้น ให้แจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลผู้ทำการรักษาทราบโดยทันทีโดยติดต่อไปยังสถานพยาบาลที่ท่านกำลังเข้ารับการรักษาอยู่ และทำการนัดหมายวันให้การรักษาโดยเร็วที่สุด

การรักษาโดยภูมิคุ้มกันบำบัดก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โดยทั่วไปการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลไม่พึงประสงค์ /ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) บางประการเช่น อาการเหนื่อยล้า คลื่นไส้ มีแผลในช่องปาก ท้องเสีย ความดันโลหิตสูง ขาบวม มีไข้ ปวดศีรษะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีนี้จะค่อยๆลดลงไปภายหลังการรักษาครั้งแรก

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรเฝ้าระวังและดูแลตนเอง หากอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรุนแรงขึ้นหรือไม่มีแนวโน้มว่าจะทุเลาลง ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วโดย ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการแพ้ยาหรือแพ้สารเคมีที่มีอยู่ในตัวยาภูมิคุ้มกันบำบัด โดยอาจก่อให้เกิดผื่นคืนตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ซึ่งผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พีงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อนึ่งอาการไม่พึงประสงค์ที่กล่าวไปในข้างต้นเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นโดยทั่วไปจากการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการนี้มีความหลากหลายและแตกต่างกันไป ผู้ป่วยจึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงอาการข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น และสิ่ง/อาการที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังในระหว่างการได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแก่ตัวผู้ป่วยเอง

บรรณานุกรม

  1. National Cancer Institute (NCI). Immunotherapy: Using the Immune System to Treat Cancer http://www.cancer.gov/research/areas/treatment/immunotherapy-using-immune-system [2016,May28]
  2. Cancer Treatment Center of America. Immunottherapy http://www.cancercenter.com/treatments/immunotherapy/ [2016,May28]
  3. Lynnette Atwood, et al. Understanding Cancer Immunotherapy (Second Edition). The Society for Immunotherapy of Cancer (SITC) 2015.
  4. Understanding Immunotherapy. Cancer.Net http://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/immunotherapy-and-vaccines/understanding-immunotherapy [2016,May28]
  5. What are Cancer Vaccines? Cancer.Net http://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/immunotherapy-and-vaccines/what-are-cancer-vaccines [2016,May28]
  6. Eggermont AM, Schadendorf D. Melanoma and immunotherapy. Hematol. Oncol. Clin. North Am. 2009 ; 23 (3): 547–64, ix–x.
  7. http://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/immunotherapy/bio-therapies-fact-sheet [2016,May28]