ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system: CNS) ของมนุษย์ ประกอบด้วย สมอง/ขมองและไขสันหลัง โดยส่วนของสมอง ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ

  • เนื้อสมอง
  • โพรงสมอง (Ventricle) ที่เป็นที่อยู่ของ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง:ซีเอสเอฟ (Cere brospinal fluid: CSF)
  • และเลือด/หลอดเลือด

โดยปกติ CSF จะมีการสร้างและไหลเวียนอยู่ในสมองและในไขสันหลัง และมีการดูดซึมกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำของร่างกายอย่างเป็นระบบที่มีสมดุล แต่ถ้ามีความผิดปกติของระบบดังกล่าว ก็จะส่งผลให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติขึ้น ซึ่งโรค/ภาวะผิดปกติดังกล่าวเรียกว่า “โรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)” หรือ “โรคหัวบาตร” (เป็นชื่อใช้เรียก เมื่อเกิดโรคนี้ในเด็ก เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีศีรษะโต กลม คล้ายบาตรพระ) และคำว่า ”น้ำ” ในที่นี้หมายถึง “CSF” นั่นเอง

โรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คืออะไร เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ ต้องติดตามบท ความนี้ครับ

น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมีหน้าที่อะไร?

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง/CSF มีหน้าที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันแรงกระแทกต่อสมอง
  • ช่วยพยุงสมอง ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัมในผู้ใหญ่ ไม่ให้มีแรงกดลงต่อฐานสมองมาก จนทำให้เนื้อสมองบาดเจ็บ ซึ่งเมื่อมี CSF ช่วยพยุง พบว่าแรงกดต่อฐานสมองลดลงอย่างมาก เหลือเพียงประมาณ 50 กรัม
  • CSF ช่วยระบายของเสียบางส่วนจากสมอง
  • CSF ช่วยนำส่งฮอร์โมนบางชนิด เช่น ที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ผ่านมาทาง CSF ไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกาย

อนึ่ง ปริมาณ CSF มีการสร้างประมาณ 500 ซีซี (cc./cubic centimeter) ต่อวัน โดยประ มาณ 150 ซีซี จะมีการไหลเวียนไปตามระบบไหลเวียนของ CSF คือในสมองและในไขสันหลัง ส่วนที่เหลือจะมีการดูดซึมกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำของร่างกาย

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำคืออะไร?

โรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คือ โรค/ภาวะที่มีความผิดปกติของระบบ CSF อาจจากมีการสร้างมากเกินไป, มีการดูดซึม CSF กลับเข้าหลอดเลือดดำของร่างกายลดลง, และ/หรือ เกิดมีการอุดกั้น หรืออุดตันทางไหลเวียนของ CSF จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของ CSF ในโพรงสมอง ส่งผลให้โพรงสมองขยายใหญ่ขึ้น และมักมีความดันในโพรงสมองสูงขึ้นร่วมด้วย จึงส่งผลให้เกิดการกด เบียด ดันให้เนื้อสมองไปกด เบียดกับกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เนื้อสมองเกิดบาดเจ็บเสียหาย จนถึงขั้นอาจเกิดการตายของเนื้อสมองได้ ถ้าแรงดันนี้สูงและกดเนื้อสมองอย่างต่อ เนื่องเป็นเวลานาน

โรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ เป็นโรคพบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนถึงผู้สูงอายุ โอ กาสเกิดในเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน โดยในสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ในเด็กแรกเกิดที่โรคเกิดจากความพิการแต่กำเนิดได้ประมาณ 3 รายต่อเด็กแรกเกิด 1,000 คน แต่ยังไม่มีราย งานสถิติที่แน่นอนของโรค/ภาวะนี้ ที่มีสาเหตุจากความผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากความพิการแต่กำเนิด

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีสาเหตุเกิดได้อย่างไร?

สาเหตุเกิดโรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ประกอบด้วย 3 สาเหตุหลัก ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำคืออะไร ซึ่งทั้ง 3 สาเหตุ ได้แก่

  • CSF มีการสร้างมากกว่าปกติ
  • ทางเดินหรือระบบไหลเวียนของ CSF มีการอุดกั้น หรือ อุดตัน
  • การดูดซึมลดลง

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีสาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่พบบ่อยของโรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ได้แก่

  • มีการสร้าง CSF มากเกินไป ได้แก่ จากโรคเนื้องอกของเนื้อเยื่อในสมองที่สร้าง CSF (Choroid plexus)
  • มีการอุดตันทางเดิน CSF เช่น
    • จากเนื้องอกสมอง
    • มีเลือดออกในโพรงสมอง หรือในเนื้อสมอง หรือในเยื่อหุ้มสมอง เช่น จากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
    • จากความพิการแต่กำเนิดของสมอง
    • จากสมองติดเชื้อพยาธิตืดหมู
    • จากการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น จากอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • มีการดูดซึม CSF ผิดปกติ เช่น หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน, การอักเสบของเยื่อหุ้มสมองชั้น อะแรชนอยด์ (Arachnoid)

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีกี่ชนิด?

โรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำนี้มีได้หลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับว่าจะแบ่งชนิดจากปัจจัยใดของโรค ซึ่งได้แก่

1. แบ่งชนิดตามการอุดตันของทางเดิน/การไหลเวียนของ CSF ซึ่งจะแบ่งภาวะนี้ได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • ชนิดมีการอุดตันของการไหลเวียนของ CSF (Obstructive hydrocephalus)
    • ชนิดไม่มีการอุดตันของการไหลเวียนของ CSF (Communicating hydrocephalus)

    2. แบ่งตามอายุของผู้ป่วย เป็น 2 ชนิด คือ

    • ชนิดเกิดในเด็ก และ
    • ชนิดเกิดในผู้ใหญ่

    3. แบ่งตามความดันในโพรงกะโหลกศีรษะ โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

    • ชนิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง
    • ชนิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะปกติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ)

    4. แบ่งตามพยาธิสรีรวิทยาการเกิดโรคนี้ โดยแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

    • ชนิดมีการสร้าง CSF มาก
    • ชนิดมีการอุดตันทางเดิน/หรืออุดตันการไหลเวียนของ CSF
    • ชนิดมีการดูดซึม CSF ผิดปกติ

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีอาการอย่างไร?

อาการจากโรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ แบ่งเป็นอาการในเด็กและในผู้ใหญ่ ดังนี้

ในเด็ก จะพบมีอาการผิดปกติ ได้ดังนี้

  • หัวโต หรือ หัวบาตร จากการที่กระดูกของกะโหลกศีรษะชิ้นต่างๆในเด็ก ยังไม่ผสมผสานติดกันเป็นชิ้นเดียวเหมือนในผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อมีความดันในโพรงสมองสูงขึ้น/โพรงสมองใหญ่ขึ้น จึงดันให้กระดูกแต่ละชิ้นแยกออกจากกัน ศีรษะของเด็กจึงขยายใหญ่/โตขึ้นตามไปด้วย
  • รอยต่อระหว่างกระดูกกะโหลกศีรษะแยกออกจากกัน
  • รอยเปิด/รอยต่อระหว่างกระดูกชิ้นต่างๆของกะโหลกฯโป่งตึง
  • หนังศีรษะบางและเห็นหลอดเลือดดำ
  • เสียงเคาะกะโหลกเหมือนเสียงหม้อแตก
  • อาการจากความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เช่น ปวดศีรษะ (อาการแสดงของเด็กเล็ก คือ เด็กร้องกวนตลอดเวลา และไม่ดูดนม/ไม่กินอาหาร), ตามัว, อาเจียน
  • ลูกตามองลงล่าง กลอกลูกตาขึ้นไม่ได้ และลูกตาเขเข้าใน
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • หายใจผิดปกติ
  • พัฒนาการในการเจริญเติบโตของร่างกายช้า
  • สติปัญญาอ่อน
  • เลี้ยงไม่โต

ในผู้ใหญ่ จะมีอาการผิดปกติ ดังนี้

  • อาการความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง เช่น ปวดศีรษะ ตามัว อาเจียน
  • ระดับการรู้สึกตัวลดลง ซึม โคม่า
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
  • ลูกตามองลงล่างตลอดเวลา ตาเขเข้าใน กลอกลูกตาขึ้นบนไม่ได้
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • เดินเซ
  • สมองเสื่อม
  • กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • แขนขาอ่อนแรง

อนึ่ง อาการที่เกิดขึ้นทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่นั้น มีทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ เป็นขึ้น มาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุการเกิดโรค และในผู้ใหญ่จะไม่มีอาการศีรษะโต เนื่องจากกระดูกกะโหลกฯทุกชิ้นเชื่อมต่อกัน/ปิดทั้งหมดแล้ว ศีรษะ/กะโหลกฯ จึงไม่สามารถขยายโตขึ้นได้ ถึงแม้จะมีโพรงสมองใหญ่ขึ้นก็ตาม

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

กรณีเป็นเด็ก ถ้าผู้ปกครองสังเกตพบว่า เด็กเริ่มมีความผิดปกติใดๆดังกล่าวข้างต้นในหัว ข้อ อาการ ก็ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะถ้ารอให้ความผิดปกติชัดเจน หรือเป็นมาก มักจะล่าช้าไป รักษาจะได้ผลไม่ดี เพราะเนื้อสมองถูกทำลายไปแล้ว

ส่วนในผู้ใหญ่ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ในหัว ข้อ อาการ แล้วอาการไม่หายไปหลังดูแลตนเอง และ/หรือ อาการรุนแรงขึ้น ก็ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำได้จาก ข้อมูลจากประวัติอาการผิดปกติดังกล่าวข้าง ต้นในหัวข้อ อาการ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบลักษณะผิดปกติทางระบบประสาท ร่วมกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอมอาร์ไอสมอง ถ้าพบความผิดปกติเข้าได้กับลักษณะโรค/ภาวะนี้ ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรค/ภาวะนี้ และหาสาเหตุได้ เพื่อให้การรักษาที่ต้นเหตุต่อไป

รักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำอย่างไร?

การรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ประกอบด้วยหลายวิธี ขึ้นกับสาเหตุการเกิด ได้แก่

  • การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยลดการสร้าง CSF
  • การผ่าตัดวางท่อระบาย CSF ออกจากโพรงสมองลงมาสู่ช่องท้อง หรือช่องหัวใจ หรือออกมาภายนอกร่างกาย
  • รักษาสาเหตุ ซึ่งวิธีการแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น รักษาเนื้องอกสมองด้วยการผ่าตัด อาจร่วมกับรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด เป็นต้น

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่สำคัญของโรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คือ ความดันในโพรงกะโหลกศีรษะที่สูงขึ้น ทำให้ปวดศีรษะรุนแรง ตามัว หมดสติ และ เสียชีวิตได้

ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำขึ้นกับ สาเหตุ (ถ้าเป็นสาเหตุที่รักษาได้หาย การพยากรณ์โรคก็จะดี), และการมาพบแพทย์เร็วหรือช้า เพราะถ้ามาช้าเมื่อเนื้อสมองถูกทำลายสูญเสียหน้าที่ไปแล้ว ก็อาจไม่สามารถฟื้นฟูสภาพกลับมาเป็นปกติได้ทั้งหมด

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค/ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • ทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เช่น เดินเซ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว อาเจียน หรือมีไข้ ยิ่งผู้ป่วยเด็ก ต้องให้การดูแลสังเกตอย่างใกล้ชิด เช่น รอยต่อของกะโหลกศีรษะตึง, ตาเหล่มากขึ้น, ไม่ดูดนม ซึ่งเมื่อมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

กรณีผู้ป่วยเด็ก ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยสังเกตอาการต่างๆของโรคนี้ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการชัก การหมดสติ การพัฒนาการต่างๆของเด็ก การทานอาหาร การดูดนม ถ้ามีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการเลวลง หรือผู้ปกครองกังวลในอาการ ให้รีบพามาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

ส่วนผู้ใหญ่นั้น ถ้ามีอาการไม่มาก สามารถช่วยเหลือตนเองได้นั้น ต้องหมั่นสังเกตว่าตน เองมีอาการอะไรที่ผิดปกติไปจากเดิมบ้าง ถ้ามีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงขึ้น ตาพร่ามัว อาเจียน หรือชัก ก็ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ป้องกันภาวะโพรงสมองคั่งน้ำได้หรือไม่?

การป้องกันภาวะโพรงสมองคั่งน้ำทำได้โดย

  • ให้การวินิจฉัยตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็วก่อนที่เนื้อสมองจะถูกทำลาย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อของสมอง (สมองอักเสบ) หรือของเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
  • ป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น การสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ เป็นต้น