ภาวะเท้าตก (Foot drop)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลายคนคงเคยประสบปัญหา ภาวะเท้าตก คือ เดินลากเท้า ยกเท้าไม่พ้นพื้น อาจสงสัยว่าภาวะดังกล่าวคืออะไร เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร จะหายหรือไม่ ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “ภาวะเท้าตก หรือ Foot drop” เป็นเรื่องใกล้ตัว อาจเกิดกับท่านได้ ดังนั้นทราบรายละเอียดเบื้องต้นของภาวะนี้ได้จากบทความนี้ครับ

ภาวะเท้าตกคืออะไร?

ภาวะเท้าตก

ภาวะเท้าตก คือ ภาวะที่ผู้ป่วยยกเท้าส่วนหน้า (ส่วนที่เป็นนิ้วเท้า) ขึ้นลำบาก ทำให้เวลาเดินจะเดินลากเท้า โดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นบันได อาการเดินผิดปกติดังกล่าว ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติ ซึ่งเกิดจากโรคต่าง ๆ

ภาวะเท้าตก เป็นภาวะพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก เกิดได้ในทุกวัย พบในผู้ชายมาก กว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า มักเกิดกับเท้าข้างเดียว (น้อยมากที่พบเกิด 2 ข้าง) เท้าซ้ายและเท้าขวามีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

ภาวะเท้าตกมีความผิดปกติอยู่ที่อวัยวะตำแหน่งใด?

ความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะเท้าตก มักพบอยู่บริเวณเส้นประสาทพีโรเนียล (Pero neal nerve) ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างของกระดูกบริเวณข้อเข่าด้านนอก อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบได้น้อย อาจเกิดจากความผิดปกติของ สมอง/ขมอง ไขสันหลัง กล้ามเนื้อขา หรือ เส้นประ สาทส่วนปลายของขา ก็ได้

ภาวะเท้าตก มักมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนใกล้เคียง หรืออาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ดังจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ อาการร่วม

อนึ่ง เส้นประสาทพีโรเนียล คือ เส้นประสาทย่อยของเส้นประสาทขนาดใหญ่ของไขสันหลัง (Spinal nerve) ที่เรียกว่า Sacral nerve ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงาน และการรับความรู้ สึกของ กล้ามเนื้อหลังตอนล่าง กล้ามเนื้อสะโพก ก้น ขา และเท้า โดยเส้นประสาทพีโรเนียลจะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ขา ข้อเท้า เท้า และนิ้วเท้า ในส่วนที่กระดกขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะเท้าตก?

สาเหตุการเกิดภาวะเท้าตก ได้แก่

  • การกดทับเส้นประสาทพีโรเนียล
    • จากอุบัติเหตุของกระดูกบริเวณข้อเข่า
    • จากอุบัติเหตุของกระดูกขาด้านนอกที่ชื่อว่า ฟิบูลา (Fibula)
    • การนอนตะแคงที่กดทับเส้นประสาทนี้ เช่น ไม่พลิกตัวเลยในผู้ป่วยหมดสติ หรือผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่ได้มีการพลิกตัว
  • การกดทับเส้นประสาทพีโรเนียลจากการนั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานมากๆ นั่งกับพื้นนาน เช่น เกิน 2 ชั่วโมงโดยไม่มีการขยับหรือเปลี่ยนท่า
  • การใส่เฝือกในผู้ป่วยขาหัก แล้วขอบเฝือกบริเวณข้อเข่ากดทับเส้นประสาทดัง กล่าว
  • มีรอยโรคในสมอง/ขมอง หรือในไขสันหลัง เฉพาะในตำแหน่งที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อเท้าขึ้นอ่อนแรง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis), โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic lateral sclerosis)
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เรียกว่า Muscular dystrophy ที่บางชนิดจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเท้าได้
  • โรคเบาหวาน ที่มีการอักเสบของเส้นประสาทเฉพาะส่วนที่ส่งกระแสประสาทมาที่เท้า
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เส้นประสาทพีโรเนียลถูกกดทับได้ง่าย

ภาวะเท้าตกพบเป็นอาการเดียว หรือพบร่วมกับอาการอื่นๆ?

ภาวะเท้าตกนั้น พบได้ทั้งเป็นแบบอาการเดียว (คือ มีเท้าตกเพียงอาการเดียว) และอาจพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆด้วย

  • กรณีพบเป็นอาการเดียวมักมีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาทพีโรเนียลอย่างเดียว เช่น ในผู้ ป่วยนอนกดทับจากอัมพาต หรือถูกขอบเฝือกกดทับกรณีใส่เฝือกจากกระดูกขาหัก
  • กรณีภาวะเท้าตกที่พบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ อาการผิดปกติอื่นๆที่เกิดร่วมกับเท้าตก จะเป็นอาการที่แตกต่างกันไป โดยขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น ในโรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ (เช่น อาการ เท้า ขา ชา ปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง), โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (เช่น พูดไม่ชัด แขน ขาอ่อนแรง กลืนลำบาก กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้อกระตุก)

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วย ควรรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการกระดกข้อเท้าขึ้นลำบากเพียงเล็กน้อย หรือเริ่มมีอาการชา เท้า นิ้วเท้า ที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะยังไม่มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วยก็ตาม ไม่ควรรอให้มีอาการที่รุนแรงแล้วจึงพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยภาวะเท้าตกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเท้าตกได้ โดยจะพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท และประวัติอาการที่แพทย์ต้องสอบถามจากผู้ป่วย คือ

  • อาการเท้าตกเป็นขึ้นมาทันที หรือค่อยๆเป็น
  • มีอาการชาบริเวณเท้า หรืออาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เจ็บ/ปวด กล้าม เนื้ออ่อนแรง
  • มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
  • อาการเป็นมานานเท่าไหร่
  • อาการเป็นมากขึ้นหรือไม่
  • ก่อนมีอาการ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อน
  • มีประวัติการกดทับเส้นประสาทก่อนเกิดอาการหรือไม่
  • มีอุบัติเหตุบริเวณกระดูกเข่า หรือ กระดูกขาฟิบูลาหรือไม่

เมื่อแพทย์พิจารณาข้อมูลประวัติ และตรวจร่างกายแล้ว ก็จะดูว่าจำเป็นต้องตรวจสืบค้นเพิ่มเติมอะไรบ้าง เช่น เอกซเรย์กระดูกสันหลังเอว ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ-เส้นประสาทด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย สิ่งที่แพทย์ตรวจพบจากการตรวจร่างกายผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

ภาวะเท้าตกรักษาอย่างไร?

การรักษาภาวะเท้าตก ประกอบด้วย การแก้ไขสาเหตุ, การรักษาประคับประคองตามอา การ, และ การทำกายภาพบำบัด

การแก้ไขสาเหตุ เช่น เกิดจากการกดทับ เพราะชอบนั่งขัดสมาธิ นั่งไขว่ห้าง ก็ปรับพฤติ กรรมใหม่, การพลิกตัวบ่อยๆในผู้ป่วยอัมพาตหรือหมดสติ, การต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเมื่อเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น

การผ่าตัดแก้ไขสาเหตุ เช่น การผ่าตัดกระดูก หรือเส้นประสาท กรณีเกิดจากอุบัติเหตุ หรือมีกระดูกหรือพังผืดกดทับเส้นประสาท, รวมถึงเมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล ที่แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดย้ายเส้นเอ็น หรือผ่าตัดเชื่อมกระดูกข้อเท้ากับกระดูกเท้าเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ ปัญหาเท้าตก

การรักษาประคับประคองตามอาการ และการทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้เครื่องช่วยพยุงเท้า หรืออุปกรณ์ชนิดที่ช่วยทำให้เดินแล้วเท้าไม่ลากพื้น หรือ การกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ/เส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของอาการ

ภาวะเท้าตกมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากภาวะเท้าตก คือ การเกิดแผลที่เท้าจากการเดินลากเท้า และการล้มง่าย เพราะสะดุดปลายเท้า

ภาวะเท้าตกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะเท้าตก ได้แก่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาดี ยก เว้นผู้ป่วยที่ปล่อยให้มีอาการนานมากเกินไป และรวมถึงสาเหตุ และโรคประจำตัวต่างๆของผู้ ป่วยด้วย เช่น

กรณีที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทโดยตรงนั้น ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้มีการกดทับนานมากกว่า 3 สัปดาห์ โอกาสที่เส้นประสาทจะมีการฟื้นตัวเป็นปกติก็มีโอ กาสลด

แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคเส้นประสาทอักเสบ ก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นนานมากกว่า 3 เดือน

กรณีผู้ป่วยมีโรคเบาหวาน หรือมีโรคไตวาย ร่วมด้วย การฟื้นตัวของเส้นประสาทจะสู้ในคนทั่วไปไม่ได้

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองที่ดีเมื่อมีภาวะเท้าตก ประกอบด้วย

  • การดูแลความเรียบร้อยในบ้าน ไม่ให้มีสิ่งของกีดขวางทางเดิน
  • อย่าวางสายไฟตามพื้น
  • ทำสัญลักษณ์ที่พื้นบันได เช่น เส้นแถบสีเพื่อให้ผู้ป่วยเห็นชัดเจน จะได้ยกเท้าให้พ้นพื้นขึ้นบันไดได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ล้มศีรษะแตก, มีแผลที่เท้า, และ/หรืออาการอ่อนแรงเป็นมากขึ้น

ป้องกันภาวะเท้าตกอย่างไร?

การป้องกันภาวะเท้าตก คือ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้มีการกดทับเส้นประสาทได้ง่าย เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ โดยไม่เปลี่ยนท่า การนอนทับร่างกายด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนท่า กรณีใส่เฝือกขา ก็ต้องสังเกตว่ามีการกดทับเส้นประสาทหรือไม่ โดยดูว่ามีอาการชาเท้าหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนั้น คือ การป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเท้าตก (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ) ให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น