ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต

ผู้ที่พบว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตมักต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู เพื่อให้แพทย์สามารถหยุดภาวะการติดเชื้อ รักษาอวัยวะที่สำคัญ และควบคุมระดับความดันให้ได้

การรักษายิ่งเร็ว ยิ่งทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มาก ซึ่งการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตมักเริ่มด้วยการ

  • การให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง (Broad-spectrum antibiotics) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียในวงกว้าง
  • การให้สารน้ำทางหลอดโลหิตเพื่อรักษาระดับความดันโลหิต
  • การให้ออกซิเจนเพื่อรักษาระดับออกซิเจนในเลือดให้เป็นปกติ

หลังจากที่สามารถระบุเชื้อได้แล้ว แพทย์จะให้ยาเฉพาะเพื่อฆ่าเชื้อนั้นๆ ส่วนการรักษาอื่นๆ ได้แก่

  • การใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • การล้างไต (Kidney dialysis)
  • การผ่าตัดเพื่อล้างหรือกำจัดเอาเชื้อออก
  • การให้ยาเพิ่มความดันโลหิต (Vasopressors)
  • การถ่ายโลหิต (Blood transfusion)

โดยระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจากภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น

  • ความรุนแรงของภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • ระยะเวลาที่รักษาตัวที่โรงพยาบาล

บางคนอาจฟื้นตัวได้เร็ว ในขณะที่บางคนอาจพบปัญหาทางร่างกาย เช่น

  • เซื่องซึม (Lethargic) หรือเหนื่อย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • แขนขาบวมหรือปวดข้อ
  • เจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่ออก
  • ซึมเศร้าหดหู่
  • ฝันร้ายหรือนอนไม่หลับ
  • ความจำสั้น

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตถึงร้อยละ 28-50 ส่วนผู้ที่รอดชีวิตบางรายอาจพบว่า อวัยวะถูกทำลายอย่างถาวรจากภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตได้

สำหรับการป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน รักษาความสะอาด ล้างมือให้สะอาด และหลีกเลี่ยงแหล่งที่อาจติดเชื้อ

แหล่งข้อมูล

1. Sepsis (Blood Infection) and Septic Shock. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/sepsis-septicemia-blood-infection [2016, June 22].

2. Sepsis (Blood Poisoning). http://www.medicinenet.com/sepsis/article.htm [2016, June 22].

3. Sepsis. http://www.nhs.uk/Conditions/Blood-poisoning/Pages/Introduction.aspx [2016, June 22].

4. Sepsis, blood poisoning or septicaemia. http://www.webmd.boots.com/a-to-z-guides/sepsis-blood-poisoning-or-septicaemia [2016, June 22].