ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (ตอนที่ 1)

ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต

ปัจจุบันมักมีข่าวอยู่เสมอว่า ผู้สูงอายุมักเสียชีวิตด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรง เพราะอะไร อย่างไร เรามาดูกัน

ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (Sepsis / Septicaemia / Blood poisoning) เป็นภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรง มีสาเหตุมาจากการที่ภูมิต้านทานตอบสนองต่อการติดเชื้อ ทำให้เกิดปฏิกริยาการหลั่งสารเคมีเข้าสู่กระแสโลหิตเพื่อต่อสู้กับเชื้อที่กระจายไปทั่ว

มีการอักเสบที่อาจเป็นผลให้อวัยวะถูกทำลาย โดยการแข็งตัวของโลหิต (Blood clotting) ระหว่างการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะไปลดการไหลเวียนของโลหิตไปยังแขนขาและอวัยวะภายใน ทำให้ขาดสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะ ในกรณีที่อาการรุนแรง อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งอาจวาย ความดันโลหิตตก ช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic shock) และเสียชีวิตได้

ในแต่ละปี มีชาวอเมริกันมากกว่า 1 ล้านคน ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต โดยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยได้เสียชีวิตจากภาวะนี้

The Third International Consensus Definitions Task Force ได้ให้คำบริบทใหม่ของภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตในปี พ.ศ.2559 ว่าต้องมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 3 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป (Altered mental status)
  2. อัตราการหายใจเร็ว (> 22 ครั้งต่อนาที)
  3. ความดันโลหิตต่ำ (ความดันโลหิตค่าบน ≤ 100 มิลลิเมตรปรอท)

แม้จะมีการติดเชื้อได้หลากหลายชนิด แต่เชื้อแบคทีเรียถือเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสโลหิตมากที่สุด

ตัวอย่างของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแกรมบวกรูปแท่ง (Gram positive bacilli) เช่น E. coli, P. aeruginosa, E. corrodens และ Haemophilus influenzae นอกจากนี้ยังมี S. aureus, Streptococcus, Enterococcus และ Neisseria เป็นต้น

โดยเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทางทั้งที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น เข่าที่มีรอยครูด (Scraped knee) หรือผิวหนังที่เป็นรอย (Nicked cuticle) หรือเกิดจากปัญหาทางร่างกาย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) โรคปอดบวม (Pneumonia) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือ การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

นอกจากนี้ ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตอาจเกิดจากการติดเชื้อที่กระดูกที่เรียกว่า กระดูกอักเสบ หรือกระดูกอักเสบเป็นหนอง หรือกระดูกอักเสบติดเชื้อ (Osteomyelitis) ส่วนผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล การติดเชื้อมักเกิดจาก การให้สารน้ำทางหลอดโลหิต (IV lines) บาดแผลที่เกิดจากการผ่าตัด (Surgical incisions) การสวนปัสสาวะ (Urinary catheters) และ แผลกดทับ (Bed sores)

แหล่งข้อมูล

1. Sepsis (Blood Infection) and Septic Shock. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/sepsis-septicemia-blood-infection [2016, June 19].

2. Sepsis (Blood Poisoning). http://www.medicinenet.com/sepsis/article.htm [2016, June 19].