ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis/Septicemia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ หรือ Sepsis คือ ภาวะที่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือต่อพิษของเชื้อโรค โดยทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งการติดเชื้อนี้ อาจเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย หรือเป็นการติดเชื้อทั่วร่างกายก็ได้

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือ ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือ Septicemia คือ การที่ตรวจพบว่ามีเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดภาวะ Sepsis ขึ้นมา ดังนั้นทั้งสองภาวะจึงเป็นภาวะเกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน และมักใช้ในความหมายเดียวกัน

คำว่า Sepsis มาจากภาษากรีกโบราณ แปลว่า เน่าเปื่อย พุพัง โดย Sir William Osler แพทย์ชาวแคนาดา เป็นคนแรกที่ค้นพบว่า บางครั้งสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไม่ ได้เป็นผลมาจากเชื้อโรคโดยตรง แต่มาจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่มีต่อเชื้อโรคนั่น เอง ในปี พ.ศ. 2457 Schottmueller แพทย์ชาวเยอรมันได้ให้นิยามคำว่า Septicemia คือการที่เชื้อโรคลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดอาการต่างๆ หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมคำศัพท์และความหมาย โดยกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและด้านการ แพทย์ในภาวะวิกฤติ ชื่อ American College of Chest Physicians และ Society of Critical Care Medicine ให้เป็นดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นและที่จะกล่าวต่อไป

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ แต่มักเกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวมากกว่าวัยอื่น และพบว่าผู้ชายมีโอกาสเกิดมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

ปัจจุบันพบการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมากขึ้น เนื่องจาก จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้น รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวก็มีอายุยืนยาวขึ้นจากการรักษาโรคประจำตัวเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่าสมัยก่อน นอกจากนี้ ในปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลก็ซับซ้อนยุ่งยาก มีการใส่เครื่องมือและสายสวนต่างๆเข้าร่างกาย และมีการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ โดยประ มาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดในผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลนั่นเอง

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด?

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากร่างกายติดเชื้อโรค ซึ่งเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อเพียงชนิดเดียว โดย

  • ประมาณ 40% เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram negative bacteria)
  • ประมาณ 30% เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram positive bacteria)
  • ประมาณ 5% เกิดจากแบคทีเรียชนิดก่อภาวะนี้ได้บ่อย (Classic pathogens เช่น H.influen zae, Neisseria meningitidis, Streptococcus pyogenes และ S.pneumoniae)
  • ประมาณ 6% เกิดจากเชื้อรา
  • และที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อหลายชนิดพบได้ประมาณ 16%

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ

  • การมีโรคประจำตัว: เช่น โรคเบาหวาน โรคของเม็ดเลือดขาวบางชนิด (เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด) โรคตับแข็ง โรคภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่องชนิดต่างๆ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมคุ้มกัน อยู่ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัด รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
  • การทำหัตถการต่างๆที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าไปในร่างกาย: ซึ่งจะเป็นการนำเชื้อโรคให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การใส่สายสวนปัสสาวะ การสอดใส่ท่อเข้าหลอดเลือดเพื่อให้สารน้ำต่างๆ การใส่สาย/ท่อเข้าหลอดเลือดเพื่อการรักษาบางวิธี เช่น การสวนหัวใจ หรือการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เช่น มีลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น
  • การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย: การที่แพทย์ให้ยาปฏิชีวนะชนิดที่มีประสิทธิ ภาพครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด (Broad-spectrum antibiotics) ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดนานเกินไป หรือให้ยาปฏิชีวนะหลายๆชนิดพร้อมกัน หรือให้โดยไม่จำเป็น จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา และเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากยาจะฆ่าแบคทีเรียชนิดที่อาศัยเป็นปกติในร่างกายของเรา (แบคทีเรียประจำถิ่น หรือ Normal flora)ไปด้วย ซึ่งปกติแบคทีเรียเหล่านี้จะช่วยกำจัดการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้
  • สาเหตุอื่นๆ: เช่น ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่เกิดแผลเป็นบริเวณกว้าง เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น

เชื้อโรคก่อภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างไร?

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เชื้อจะทำให้เกิดรอยโรค และก่อ ให้เกิดอาการจากอวัยวะนั้นๆเกิดการอักเสบติดเชื้อ ในกรณีที่เชื้อมีความรุนแรง หรือระบบภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายขึ้น

ในบาง ครั้งเชื้ออาจไม่ได้กระจายเข้าสู่กระแสเลือด แต่อาจปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือด

หรือเชื้ออาจไม่ได้ทั้งกระจาย หรือไม่ได้ทั้งปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือดเลย แต่ส่งสัญญาณให้เกิดเป็นสารเคมีต่าง ๆเกิดขึ้นในร่างกายของเรา ร่างกายก็จะรับรู้และตอบสนองโดย เม็ดเลือดขาวและเซลล์บุหลอดเลือดต่างๆทั่วร่างกายจะผลิตสารเคมีต่างๆเพื่อพยายามต่อต้านและกำจัดเชื้อโรค แต่สารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และส่งผลให้ร่างกายเกิดกลุ่มอาการต่างๆที่เรียกว่า กลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย (Systemic inflammatory response syndrome หรือเรียกย่อว่า SIRS)

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น จะมีอาการที่แบ่งออกได้เป็น 3 อย่างคือ

1. อาการที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งเรียกว่า กลุ่มอาการตอบ สนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย หรือ SIRS ดังกล่าว ซึ่งจะมีอาการและอาการแสดงอย่างน้อย 2 อย่างขึ้นไป ได้แก่

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือมีอุณหภูมิของร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส
  • หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 90 ครั้งต่อนาที
  • หายใจเร็วมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที หรือวัดค่าความดันคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดได้มากกว่า 32 มิลลิเมตรปรอท
  • การตรวจเลือด พบมีเม็ดเลือดขาวมากกว่า 12,000 ตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 4,000 ตัวต่อมิลลิลิตร อาการที่เกิดจาก SIRS ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆก็ได้ เช่น จากการเกิดตับอ่อนอักเสบ, จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หรือจากมีแผลไฟไหม้ที่รุนแรง, แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าอาการของ SIRS นี้สาเหตุมาจากการติดเชื้อ ก็จะเรียก ว่าผู้ป่วยมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนั่นเอง

2. อาการแสดงที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคกระจายมาตามกระแสเลือดและเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดรอยโรคขึ้นที่ผิวหนังทั่วตัว รอยโรคนี้บางอย่างมีลักษณะที่ไม่จำเพาะคือเป็นตุ่มหนองธรรมดา ซึ่งเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด แต่มีรอยโรคบางอย่างที่มีลักษณะจำเพาะ สามารถบอกถึงชนิดเชื้อที่เป็นสาเหตุได้ เช่น

  • ผื่นชนิดเรียบเป็นจุดหรือปื้นแดงเล็กๆ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Neisseria meningitidis
  • หากเป็นผื่นชนิดตุ่มน้ำและมีเลือดออก ประกอบกับมีประวัติว่าไปกินหอยนางรมดิบมา ก็มีสา เหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Vibrio vulnificus
  • หรือหากผิวหนังทั่วตัวกลายเป็นสีแดง ก็มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Staphy lococcus aureus หรือ Streptococcus pyogenes

3. อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยต้องมีอาการที่บ่งว่ากำลังมีการติดเชื้อที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เช่น

  • หากมีอาการไอ เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ แพทย์ฟังปอดแล้วพบเสียงผิดปกติ ก็แปลว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่ปอด หรือที่เยื่อหุ้มปอด
  • หากผู้ป่วยปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น อาจเกิดจากมีการติดเชื้อที่กรวยไต
  • หรือหากมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว/ท้องเสีย อาจเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ เป็นต้น

อนึ่ง ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน อาจไม่มีอาการหรืออาจแสดงอาการไม่ชัดเจน ในกรณีนี้ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยพิสูจน์การติดเชื้อในอวัยวะที่สงสัย เช่น การตรวจย้อมและ/หรือการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งของอวัยวะนั้นๆ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจาก

1. อาศัยจากอาการ SIRS ร่วมกับการพิสูจน์ว่าผู้ป่วยกำลังมีการติดเชื้อ ซึ่งจะใช้การตรวจร่าง กายร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาตำแหน่งที่กำลังมีการติดเชื้ออยู่ ได้แก่

  • การเอกซเรย์ เช่น เอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในปอดหรือไม่
  • การตรวจอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น อัลตราซาวน์ช่องท้องเพื่อดูว่ามีฝีเกิด ขึ้นในช่องท้องหรือไม่
  • การเจาะน้ำจากตำแหน่งต่างๆ เช่น
    • น้ำไขสันหลัง เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในสมองหรือในเยื่อหุ้มสมองหรือไม่
    • หรือการเจาะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ในกรณีที่มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
    • หรือการเจาะน้ำในข้อต่างๆที่มีน้ำและสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ เป็นต้น
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่

อนึ่ง เมื่อหาตำแหน่งที่มีการติดเชื้อได้แล้ว ขั้นต่อไปคือ การระบุชนิดของเชื้อโรคที่ก่อเหตุ เช่น

  • การนำเสมหะไปย้อมดูเชื้อโรคหรือนำไปเพาะเชื้อในกรณีที่เป็นปอดอักเสบ
  • การนำฝี/หนองจากบริเวณผิวหนังหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันไปย้อมดูเชื้อโรค หรือนำไปเพาะเชื้อ และ/หรือ
  • การนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ เป็นต้น

2. การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาศัยจากอาการของ SIRS ร่วมกับการพิสูจน์ว่า พบเชื้อโรคอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งอาจกระทำโดย

  • การนำเลือดมาเพาะหาเชื้อ หรือ
  • การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อในเลือดด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR) หรือ
  • ในกรณีที่มีเชื้อแบคทีเรียปริมาณมากในเลือด การนำเลือดมาป้ายบนสไลด์/Slide (แผ่นแก้วใช้ในการตรวจเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ) และนำไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็สามารถตรวจเจอเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีผลข้างเคียงจากโรคและความรุน แรงของโรคอย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาจพัฒนาเข้าสู่ภาวะอาการขั้นรุนแรง (Severe sepsis), ภาวะช็อก (Septic shock), และภาวะอวัยวะภายในต่างๆล้มเหลว (Organ dysfunction)

  • ภาวะอาการขั้นรุนแรง (Severe sepsis) คือ การที่ผู้ป่วยเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับมีภาวะอวัยวะภายในต่างๆล้มเหลว หรือมีความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ
  • ภาวะช็อก (Septic shock) คือ การที่ผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับมีความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือด
  • ภาวะอวัยวะภายในต่างๆล้มเหลว (Organ dysfunction) อวัยวะที่สำคัญ คือ
    • ปอด: การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนระหว่างปอดกับเลือดจะน้อยลง เนื่องจากถุงลมในปอดมีน้ำคั่งมากขึ้น ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดน้อยลง ขณะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น อวัยวะต่างๆจึงได้รับออกซิเจนน้อยลง ยิ่งส่งผลให้อวัยวะต่างๆรวมทั้งปอดเองล้มเหลวมากขึ้นไปอีก
    • หัวใจ: หัวใจจะบีบตัวได้น้อยลง ความดันโลหิตก็จะยิ่งลดลง ยิ่งทำให้การส่งเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆน้อยลงไปอีก
    • ไต: เมื่อไตหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะไม่มีปัสสาวะหรือมีปัสสาวะออกเพียงเล็กน้อย น้ำและของเสียในร่างกายก็จะคั่ง เกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล หรือในผู้ป่วยบางคนอาจมีปัสสาวะมากผิด ปกติ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และเกลือแร่ขาดสมดุลได้เช่นกัน
    • สมอง: จะเกิดอาการสับสน วุ่นวาย หรือซึม จนถึงขั้นโคม่า (Coma) ในที่สุด
    • ตับ: การทำหน้าที่ของตับในการกำจัดเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ จะสูญเสียไป จึงทำให้มีสารประกอบของเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ ที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) หรือสารสีเหลือง อยู่ในเลือดมาก ทำให้มีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง และตับยังจะหยุดผลิตสารเคมีที่ช่วยในการแข็ง ตัวของเลือด ทำให้เลือดไม่แข็งตัว เลือดจึงออกได้ง่าย
    • ระบบการแข็งตัวของเลือด: นอกจากสารเคมีที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดซึ่งผลิตจากตับจะน้อยลงแล้ว ปริมาณเกล็ดเลือดซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดก็ลดลงด้วย แต่กลไกในการลดลงของปริมาณเกล็ดเลือดนั้นไม่ทราบชัดเจน ในกรณีที่อาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะมีลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือดทั่วตัว ที่เรียกว่า Disseminated intravascular coagula tion (DIC หรือ ดีไอซี) คือ มีการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็กๆทั่วร่างกาย ทำให้สารเคมีที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดถูกใช้ไปจนหมด และเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายจากลิ่มเลือดที่แข็งตัวเหล่านี้ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกไม่หยุดเกิดขึ้นได้ในอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น ปอด สมอง ลำไส้ และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้ในที่สุด
    • ระบบฮอร์โมน: ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นสูงผิดปกติ เพราะตับอ่อนจะผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (ฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย) ได้ไม่เพียงพอ ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลด้วยยากินไม่ได้ผล ต้องให้ยาอินซูลิน (ยาฉีด) รักษาแทน หรือในผู้ ป่วยที่เคยกินยาสเตียรอยด์มาก่อน จะเกิดภาวะต่อมหมวกไตหยุดทำงาน ไม่ผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต ทำให้ความดันโลหิตยิ่งต่ำลงไปอีกได้

อนึ่ง ในด้านความรุนแรง ผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรง จะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 20 - 35% ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก จะมีอัตราการเสีย ชีวิตประมาณ 40 - 60%

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยพัฒนาไปสู่อาการขั้นรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น คือ

  • โรคประจำตัวที่ผู้ป่วยมีอยู่ และ
  • ความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการรักษา โดยพบว่าเมื่อผู้ป่วยมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้น การให้ยาปฏิชีวนะที่ช้าไปทุกๆ 1 ชั่วโมง จะเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตขึ้นชั่วโมงละ 7%

รักษาภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU, Intensive care unit) โดยการรักษาแบ่งออกได้เป็น

1. การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในระหว่างที่รอการเพาะเชื้อจากอวัยวะที่ติดเชื้อ หรือจากกระแสเลือด แพทย์จะเริ่มให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำโดยครอบคลุมเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุ โดยพิจารณาจาก อายุ, โรคประจำตัวของผู้ป่วย, รวมทั้งพิจารณาว่าเป็นการได้รับเชื้อจากภายในโรงพยาบาล (โรครุนแรงกว่า), หรือจากภายนอกโรงพยาบาล, ซึ่งเมื่อผลการเพาะเชื้อสามารถระบุชนิดเชื้อ และความไวของเชื้อต่อชนิดยาปฏิชีวนะได้แล้ว แพทย์ก็จะเปลี่ยนชนิดยาให้เหมาะสมต่อไป

2. การกำจัดต้นเหตุที่มีการติดเชื้อ และทำให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระ แสเลือด เช่น หากผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะอยู่แล้วมีการติดเชื้อที่กรวยไต ก็ต้องนำสายสวนปัสสาวะออก ถ้าจำเป็นต้องใส่ ก็ต้องเปลี่ยนเส้นใหม่ หรือหากมีการติดเชื้ออักเสบเป็นหนองในบริเวณไหน ก็ต้องเจาะระบายเอาหนองออก เป็นต้น

3. การรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่

  • การให้ยาลดไข้
  • ให้ยาลดกรดที่เกิดจากร่างกายมีภาวะเครียด (Stress) สูง เพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Stress ulcer)
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดให้เพียงพอ
  • การให้ออกซิเจน
  • การแก้ไขระดับเกลือแร่ต่างๆในเลือด(Electrolyte)ที่ผิดปกติ
  • การให้ยาอินซูลินควบคุมระดับน้ำตาล
  • หากความดันโลหิตต่ำมากอยู่ในสภาวะช็อก ต้องให้ยากระตุ้นการบีบตัวของหลอดเลือด และยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ
  • หากมีภาวะโลหิตจางก็ต้องให้เลือด
  • หากอวัยวะใดทำงานล้มเหลว เช่น
    • ระบบหายใจล้มเหลวก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
    • เมื่อเกิดภาวะไตวายก็ต้องฟอกล้างไต และ/หรือ
    • เมื่อต่อมหมวกไตหยุดทำงานก็ต้องให้ฮอร์โมนสเตียรอยด์เสริม เป็นต้น

ดูแลตนเองและป้องกันภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ

1. ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนี้มัก เกิดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งมารักษาตัวด้วยโรคอื่นๆ ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความจำเป็นในการทำหัตถการต่างๆที่อาจเป็นปัจจัยนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น การสอดใส่ท่อเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้สารน้ำ และ/หรือการใส่สายสวนปัสสาวะ

นอกจากนี้แพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับโรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยกำลังเป็น และให้ในระยะเวลาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงยาปฏิชีวนะชนิดครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียได้หลายๆชนิด โดย เฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เชื้อราประจำถิ่นในลำไส้ แบ่งตัวเจริญเติบ โตและลุกลามเข้าสูร่างกาย จนทำให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น มาได้

2. ในกรณีต้องการซื้อยาปฏิชีวนะกินเองเมื่อเกิดการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ, โรคอุจจาระร่วง/ท้องเสีย, ควรเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับโรค โดยปรึกษากับเภสัชกรที่ประจำร้านขายยาก่อนใช้ ไม่ควรเริ่มใช้ยาที่ประสิทธิภาพสูงเกินไป เพราะเหตุผลเช่นที่กล่าวมาแล้ว และหากยาที่ซื้อกินเองครั้งแรกไม่ได้ผล ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆเช่นที่กล่าวไว้ในข้างต้น หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อยู่ ควรระมัดระวังการติดเชื้อโดย การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่างเคร่งครัด เช่น

  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
  • กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ
  • ล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร
  • ส่งเสริมร่างกายให้แข็งแรง เช่น
    • การออกกำลังกาย
    • พักผ่อนให้เพียงพอ
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • นอกจากนั้นคือ กินยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้องครบ ถ้วน และควรพบแพทย์/มาโรงพยาลาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หากมี ไข้สูง, หัวใจเต้นเร็ว, หายใจเร็ว, ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1 - 2 วันเสมอ

และถ้าอาการรุนแรง ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน/ทันที

บรรณานุกรม

  1. Robert S. Munford, sepsis and septic shock, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Sepsis [2019,May25]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/169640-overview#showall [2019,May25]