ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ช็อก หรือ ภาวะช็อก หรือ อาการช็อก (Shock) คือภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความดันโลหิต (ความดันเลือด)ต่ำลงกว่าปกติมาก จนส่งผลให้ร่างกายขาดเลือด (ซึ่งคือขาดออกซิเจน)ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญคือ หัวใจ สมอง ปอด และไต ก่อให้เกิดการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น จึงนำมาซึ่งการหมดสติ โดย “ช็อก” ถือเป็น ภาวะวิกฤติของชีวิตและต้องได้รับการดูแลรักษาฉุกเฉิน ซึ่งถ้าดูแลรักษาไม่ทัน จะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้สูง

“ภาวะช็อก” ในบทความนี้ หมายถึงภาวะช็อกที่มีสาเหตุจากโรคทางกาย ไม่ครอบคลุมถึงอาการช็อกที่เกิดจากปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ซึ่งถึงแม้ให้อาการได้คล้ายคลึงกัน แต่การดูแลรักษาต่างกัน เพราะเป็นการดูแลรักษาด้านอารมณ์จิตใจเป็นหลัก และเป็นภาวะที่ รุนแรงน้อยกว่าภาวะช็อกที่เกิดจากโรคทางกายมาก และมักไม่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถ้าไม่มีโรครุนแรงทางกายแทรกซ้อน

ภาวะช็อก มักพบเกิดร่วมกับโรคต่างๆที่รุนแรง เป็นภาวะพบเกิดได้กับคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้เท่าๆกัน

ภาวะช็อกเกิดจากอะไร?

ภาวะช็อก

ภาวะช็อก เกิดได้จาก 5 สาเหตุหลัก คือ จากปริมาณน้ำหรือเลือดในร่างกายลดลง, จากภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต, จากโรคหัวใจ, จากการแพ้สารต่างๆ, และจากสาเหตุทางระบบประสาท

ก. จากการเสียน้ำหรือเสียเลือดอย่างมาก (Hypovolemic shock): เป็นภาวะช็อกที่เกิดจาก

  • ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างมาก เช่น ท้องเสียมาก/โรคท้องร่วงรุนแรง อาเจียนติดต่อกันรุนแรง หรือโรคลมแดด
  • หรือเกิดจากการเสียเลือดมาก เช่น จากอุบัติเหตุ จากแผลเลือดออกในโรคมะเร็ง
  • และจากโรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จึงส่งผลให้เลือดกลับเข้าสู่หัวใจน้อยกว่าปกติ ความดันเลือดจึงต่ำลงมาก และตามมาด้วยภาวะช็อกในที่ สุดเมื่อไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ซึ่งภาวะช็อกจากสาเหตุนี้เป็นภาวะช็อกที่พบได้บ่อย

ข. จากภาวะติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ): เรียกว่า ‘Septic shock’ ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อรุนแรงจากแบคทีเรีย อาจพบจากเชื้อรา หรือเชื้อไวรัสได้ แต่พบได้น้อยมาก ภาวะนี้มักเกิดในคนที่ติดเชื้อรุนแรง โดยเฉพาะในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือจากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ หรือ การติดเชื้อระบบทางเดินน้ำดีในตับ

ซึ่งกรณีจากติดเชื้อรุนแรงในกระแสโลหิตนี้ สารพิษจากเชื้อโรคจะเป็นตัวทำลายเซลล์ของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆรวมทั้งของหลอดเลือด นอกจากนั้น ยังอาจส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และ/หรือ ส่งผลให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดต่างๆอุดตันหลอดเลือด ความดันโลหิตจึงต่ำลงได้อย่างมาก เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆจึงขาดเลือด จึงเกิดภาวะช็อกตามมาในที่สุด

ค. จากโรคหัวใจ (Cardiogenic shock): ซึ่งมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตาย) หัวใจจึงสูบฉีดเลือดไม่ได้ ความดันโลหิตจึงต่ำลงมาก เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆจึงขาดเลือดและเกิดภาวะช็อกในที่สุด

ง. จากการแพ้สารต่างๆ (Anaphylaxis): เช่น พิษจากงูกัด ผึ้งต่อย หรือการแพ้ยา หรือแพ้วัคซีนบางชนิด รวมทั้งการแพ้อาหารบางชนิด ซึ่งพบได้ประมาณ 1 - 15% ของอาการช็อกทั้งหมด

ทั้งนี้สารที่เป็นต้นเหตุหรือสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ จะกระตุ้นในหลอดเลือดทั่วร่างกายขยายตัวทันทีภายในระยะเวลาเป็นวินาทีหลังได้รับสารนั้นๆ จึงส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในหลอดเลือด หรือเกิดภาวะของเหลวซึมออกจากหลอดเลือด เลือดจึงกลับสู่หัวใจลดลงมาก เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำทันทีจึงเกิดภาวะช็อกตาม

จ. จากสาเหตุทางระบบประสาท (Neurogenic shock): เป็นภาวะช็อกที่พบได้ไม่บ่อย เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการเต้นของหัวใจและการหดบีบตัวของหลอดเลือด เมื่อการทำงานของระบบประสาทนี้ผิดปกติ จึงส่งผลให้หัวใจบีบตัว/เต้นลดลง และ/หรือมีการเต้นผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ) และหลอดเลือดขยายตัวและบีบตัวลดลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำลงมากทันที จึงเกิดภาวะช็อกตามมา ซึ่งสาเหตุนี้ที่พบได้ เช่น จากอุบัติเหตุต่อไขสันหลัง

ภาวะช็อกมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะช็อกที่สำคัญคือ การมีความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาการจากความดันโลหิตต่ำ ได้แก่

  • หายใจเร็ว ตื้น
  • ชีพจรเต้นเร็ว แต่เบา
  • เนื้อตัวเย็น ซีด
  • แขน ขา เนื้อตัวอ่อนแรงโดยไม่มีอาการชา
  • ทรงตัวไม่อยู่ มึนงง วิงเวียน เป็นลม
  • ตาดำไม่เคลื่อนไหว (ตาค้าง)
  • และหมดสติในที่สุด

นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ คือ

  • สับสน กระสับกระส่าย
  • เนื้อตัว เล็บ มือ เท้า เกิดอาการเขียวคล้ำ
  • เหงื่อออกมาก
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • และปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ

แพทย์วินิจฉัยภาวะช็อกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะช็อกได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ อาการต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือ สัญาณชีพ และการวัดความดันโลหิตต่อเนื่อง
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
    • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเชื้อ การดูค่าน้ำตาลในเลือด
    • และ/หรือ การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด เป็นต้น

รักษาภาวะช็อกอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะช็อกคือ การรักษาเพื่อให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะปกติ, การรัก ษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาเพื่อให้ความดันโลหิตคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ: เช่น

  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • การให้เลือดเมื่อเกิดจากการเสียเลือด
  • และการให้ยาเพิ่มและ/หรือยาคงความดันโลหิต ซึ่งมักเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ

ข. การรักษาสาเหตุ: เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • หรือการหยุดอาการเลือดออก เช่น การผ่าตัด เมื่อเกิดจากภาวะเลือดออกจากอุบัติเหตุ เป็นต้น

ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • ให้ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวด
  • ให้ยาลดไข้เมื่อมีอาการไข้
  • และการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อยังบริโภคทางปากไม่ได้

ภาวะช็อกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะช็อก เป็นภาวะวิกฤติ เป็นภาวะรุนแรงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก อาจสูงถึง 50 - 80% ทั้งนี้ขึ้นกับ ความรุนแรงของสาเหตุ ,สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, อายุ, และการพบแพทย์ล่าช้า

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะช็อกคือ การสูญเสียการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง และไต ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อมีอาการของภาวะช็อก คือ การรีบไปโรงพยาบาลฉุก เฉิน/ทันที ให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์/โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ในระหว่างรอรถพยาบาลฉุกเฉิน การดูแลผู้ป่วย คือ

  • ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาสองข้างขึ้นสูงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ
  • ดูแลให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก เช่น ปลดเสื้อผ้าให้หลวม สบาย ไม่รัดแน่น
  • ให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
  • ไม่ให้ยา น้ำ หรืออาหาร เพราะอาจเกิดการสำลักอุดทางเดินอาหาร ถึงแม้ผู้ป่วยจะดูกระหายน้ำมากก็ตาม อาจเพียงแตะๆน้ำบริเวณริมฝีปาก
  • ห่มผ้าห่ม รักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่น
  • อย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุ เพราะอาจเป็นสาเหตุกระดูกหัก เคลื่อน และ/หรือมีผลต่อไขสันหลังได้ ให้รอจนกว่าแพทย์หรือรถพยาบาลมาดูแล

ป้องกันภาวะช็อกอย่างไร?

การป้องกันภาวะช็อกคือ การป้องกันสาเหตุ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ โดยที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหารและในปริมาณพอเหมาะ รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกๆวัน เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย ลดโอกาสติดเชื้อ เพื่อป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพื่อลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง
  • การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้พบโรคเรื้อรังต่างๆตั้งแต่แรกที่ยังไม่มีอาการเพื่อเพิ่ม โอกาสการรักษาและควบคุมโรคได้ดี
  • การลดความรุนแรงของโรคต่างๆเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยเมื่อมีการเจ็บป่วยใดๆ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการยังคงอยู่ หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน
  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุรุนแรงจากการใช้ยานพาหนะและในการทำงาน โดยปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบต่างๆที่กำหนดไว้เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุ โดยเฉพาะ เมาไม่ขับ การคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อขับรถ และการสวมหมวกนิรภัยเมื่อใช้รถจักรยานยนต์
  • สังเกตตนเองว่า แพ้สิ่งใด (เช่น แพ้อาหารทะเล) แล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Shock_(circulatory) [2019,Feb9]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/135065-overview#showall [2019,Feb9]
  4. https://emergencymed.wordpress.com/2009/03/11/neurogenic-shock/ [2019,Feb9]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/760145-overview#showall [2019,Feb9]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/168402-overview#showall [2019,Feb9]