ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะ หรือโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) คือ ภาวะ หรือโรคที่เกิดจากร่างกายพร่อง หรือขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง หรือไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน (ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์) ได้

  • ซึ่งเมื่อเกิดจากตัวโรคของตัวต่อมไทรอยด์เองเรียกว่า “ภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนปฐมภูมิ (Primary hypothyroidism)”
  • และเมื่อเกิดจากโรคของต่อมใต้สมอง หรือโรคของสมองไฮโปธาลามัสแล้วส่งผลกระทบมายังการทำงานของต่อมไทรอยด์ เรียกว่า “ภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนทุติยภูมิ (Secondary hypothyroidism)”

อนึ่ง อีกชื่อของภาวะ/ โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน คือ ภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือ ภาวะ/โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ อยู่ด้านหน้าของลำคอ ในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือก หรือกระดูกอ่อนไทรอยด์(Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้าย และกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus)

ต่อมไทรอยด์ปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 18-30 กรัม แต่ละกลีบของต่อมไทรอยด์ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) ส่วนที่กว้างที่สุด ประมาณ 2-3 ซม. และส่วนที่หนาสุดประมาณ 0.8-1.6 ซม. ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่สามารถคลำพบได้

ต่อมไทรอยด์ สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ

  • ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4)
  • ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3)
  • และ แคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่า ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เป็นอย่างมาก ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ‘ไทรอยด์ฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์’ จึงมักหมายถึงเฉพาะ ‘ฮอร์โมน ที4 และ ที3’ เท่านั้น

ทั้งนี้ ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 มีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหาร และจากออกซิเจน หรือ ที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism หรือ กระบวนการแปรรูปอณู) ของเซลล์ต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อการทำงาน และเพื่อการซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย

ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกายให้อยู่ในสมดุล

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus เป็นสมองส่วนหนึ่งของสมองใหญ่/Cerebrum โดยอยู่ในส่วนลึกกลางสมองใหญ่) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมอง และสมองไฮโปธาลามัส ยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วย เช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังมีความสัมพันธ์กับ อารมณ์ และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งโรค หรือ ภาวะผิดปกติต่างๆของต่อมไทรอยด์ จึงสัมพันธ์กับการทำงาน และโรคต่างๆของอวัยวะเหล่านั้น รวมถึงความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ

เนื่องจาก ฮอร์โมน แคลซิโทนิน มีบทบาทน้อยมากในการดำรงชีวิต และในโรคของต่อมไทรอยด์ ดังนั้นในบทนี้ เมื่อกล่าวถึงเรื่องของต่อมไทรอยด์ จึงกล่าวถึงเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3’ เท่านั้น และจะรวมเรียก “ฮอร์โมน ที4 และ ที3 ว่า ‘ไทรอยด์ฮอร์โมน’

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นภาวะพบบ่อยภาวะหนึ่ง พบประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป โดยพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด (พบประมาณ 1 คนในเด็กเกิดใหม่ทุก 3,000-4,000 คน) ไปจนถึงผู้สูงอายุ (ประมาณ 15% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป) พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายถึงประมาณ 2-8 เท่า

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนมีสาเหตุ ดังนี้

ก. สาเหตุของภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนปฐมภูมิ: มีได้หลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ

  • โรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์
  • โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ ฮาชิโมโต (Hashimoto’s thyroiditis)
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • การกินแร่/น้ำแร่รังสีไอโอดีนในการรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • การฉายรังสีรักษาในการรักษาโรคมะเร็งในบริเวณลำคอซึ่งจะโดนต่อมไทรอยด์ไปด้วย
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลกดการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ เช่น ยา/สี/สารทึบแสงที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, ยาบางชนิดในการรักษา โรคทางด้านจิตเวช โรคลมชัก โรคเบาหวาน และโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (เช่น โปแตสเซียมเปอร์คลอเรท/Potassium perchlorate ที่เป็นยาลดการจับกินธาตุไอโอดีนของเซลล์ต่อมไทรอยด์)
  • ไม่มีเซลล์ต่อมไทรอยด์แต่กำเนิด หรือเซลล์ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์น้อยแต่กำเนิด (Congenital hypothyroid)
  • โรคบางชนิดที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma)

ข. สาเหตุของภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนทุติยภูมิ: ซึ่งมีได้หลากหลายสาเหตุเช่นกัน ที่พบบ่อย คือ

  • โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • การผ่าตัดต่อมใต้สมอง เช่น ในการรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • การฉายรังสีรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • มีเลือดออกในต่อมใต้สมองจากต่อมใต้สมองได้รับอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุในส่วนของศีรษะ)
  • โรค หรืออุบัติเหตุต่างๆของสมองที่ส่งผลถึงการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัส เช่น โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป ค่อยๆเกิดอาการ ไม่ใช่อาการที่เกิดเฉียบพลัน นอกจากนั้นยังมีได้หลายๆอาการร่วมกัน ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นกับว่า ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในปริมาณเล็กน้อย หรือในปริมาณมาก ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • อ้วน ฉุ บวม ที่ใบหน้า รอบดวงตา ลำตัว แขน มือ ขาและเท้า
  • หัวใจเต้นช้า
  • เหนื่อยง่าย
  • ช้า เซื่องซึม
  • ง่วงนอนตลอดเวลา
  • เมื่อเกิดในเด็ก เด็กจะเจริญเติบโตช้า เตี้ยกว่าเกณฑ์มาก
  • ท้องผูก
  • เหงื่อออกน้อย
  • ทนหนาวไม่ได้ ตัวเย็นกว่าคนทั่วไป
  • ผมร่วง
  • ผิวหนังหยาบ แห้ง คัน
  • เล็บด้าน เปราะ ฉีก แตก ง่าย
  • ขนคิ้วบางโดยเฉพาะในส่วนปลายๆของคิ้ว
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย
  • กล้ามเนื้อลีบ
  • ปวดข้อต่างๆ
  • พูดเสียงแหบ
  • มีภาะซีด
  • ไม่มีสมาธิ เมื่อเกิดในเด็ก จะสติปัญญาจะต่ำกว่าเกณฑ์
  • มีไขมันในเลือดสูง (โรคไขมันในเลือดสูง)
  • ในผู้หญิง ประจำเดือนจะผิดปกติ เช่น มาแต่ละครั้งในปริมาณมาก และนาน ในผู้ชายอาจมีนมตั้งเต้า/ผู้ชายมีเต้านม (Gynecomastia)
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นหมัน
  • ซึมเศร้า
  • บางคนอาจมีลิ้นใหญ่ และ/หรือหูได้ยินเสียงลดลง
  • อาจมีต่อมไทรอยด์โต หรือโรคคอพอก (โรคชนิดหนึ่งของต่อมไทรอยด์)

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการรักษาโรคในอดีต
  • ประวัติกินยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมไทรอยด์
  • การตรวจเลือดดูค่า ไทรอยด์ฮอร์โมน และฮอร์โมนต่างๆที่ สัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ และค่าไขมันในเลือด
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
    • และเอกซเรย์ปอด เพื่อดูภาพหัวใจ เป็นต้น

รักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างไร?

แนวทาการรักษาภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน คือ การให้กินยาไทรอยด์ฮอร์โมน(เช่นยา Levothyroxine เป็นต้น)ชดเชย ซึ่งหลายสาเหตุอาจต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิต เช่น หลังผ่าตัดต่อมไทรอยด์, หลังการฉายรังสีรักษาบริเวณลำคอ และหลังการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไปภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นภาวะ/โรคไม่รุนแรง รักษาได้ แต่อาจต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิตดังได้กล่าวแล้ว

ผลข้างเคียง:

ผลข้างเคียงของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่สำคัญ คือ

  • โรคหัวใจ
  • อาการง่วงซึม เชื่องช้า และบวม ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิต และในด้านการงาน
  • ส่วนในเด็ก ผลข้างเคียงที่เพิ่มเติมจากในผู้ใหญ่ คือ ภาวะสติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์ และตัวเตี้ยมาก

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล คือ เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรดูแลตนเอง

และหลังจากพบแพทย์แล้ว ควรดูแลตนเอง ดังนี้

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำเสมอ
  • กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา โดยเฉพาะไม่ขาดยาไทรอยด์ฮอร์โมน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เหนื่อยมากขึ้น บวมเนื้อตัวมากขึ้น
    • หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ง่วงนอนตลอดเวลาจนกระทบต่อการงาน การเรียน
    • หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ใจสั่นมาก ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดลงมาก
    • กังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว การป้องกันภาวะ/โรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นเรื่องยาก เพราะมักเกิดจากการรักษาโรคต่างๆ และสาเหตุแต่กำเนิด ดังนั้นที่ดีที่สุด คือ

  • การสังเกตอาการตนเองเสมอ เมื่อพบมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาแต่เนิ่นๆ
  • อีกประการ ดังกล่าวแล้ว่าสาเหตุของภาวะนี้ อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้ ดังนั้นในการใช้ยาต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ รวมทั้งอ่านเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ และควรรู้ว่ายาชนิดนั้นๆ อาจมีผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Heuston,W. (2001). Treatment of hypothyroidism. Am Fam Physician. 64, 1717-1725.
  3. Wilson, G., and Curry, R. (2005). Subclinical thyroid disease. Am Fam Physician. 72, 1517-1524
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypothyroidism [2019,March16]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/122393-overview#showall [2019,March16]