ภัยเงียบจากฟลูออไรด์ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ภัยเงียบจากฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์ในน้ำดื่มนั้น อาจมาจากแหล่งกำเนิดของน้ำตามธรรมชาติที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อยู่ก่อนแล้ว หรือบางทีก็มาจากการเติมฟลูออไรด์เข้าไปในน้ำเองเพื่อช่วยป้องกันฟันผุ

และมีบ้างที่พบว่าฟลูออไรด์ถูกปล่อยมาพร้อมของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial emissions) โรงงานปุ๋ย โรงงานอลูมิเนียม ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (Pesticides) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้ฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมอื่นๆ เช่น น้ำยาเคลือบฟัน (Varnishes) ยาสีฟัน (Pastes) วัสดุที่ใช้อุดฟัน (Restorative materials)

ส่วนในวงการเภสัชกรรม (Pharmaceuticals) ก็มีการผสมฟลูออไรด์ในตัวยาบางชนิดด้วย เช่น ยา Celebrix ยา Cipro ยา Diflucan ยา Prozac ยา Dalmane ยา Lipitor เป็นต้น

สำหรับอาหารบางชนิดก็พบว่า มีฟลูออไรด์อยู่ด้วย เช่น ชา โดยเฉพาะชาดำ (Dark tea)

ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และร้อยละ 97 ของประชากรในยุโรปตะวันตกจะไม่บริโภคน้ำดื่มที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์

ทั้งนี้ ระบบการกรองน้ำผ่านถ่าน (Charcoal-based water filtration systems) ที่ใช้กันตามบ้านจะไม่สามารถขจัดฟลูออไรด์ออกจากน้ำได้ เช่นเดียวกันการต้มน้ำก็ไม่สามารถช่วยได้ มีเพียงการกลั่นน้ำและเครื่องกรองน้ำระบบรีเวอร์สออสโมซิส (Reverse osmosis = RO) ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถขจัดฟลูออไรด์ออกจากน้ำให้ได้ต่ำกว่า 4.0 มิลลิกรัมต่อลิตร

[ระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส เป็นกระบวนการผลิตน้ำเพื่อขจัดสารหรือสิ่งเจือปนที่ไม่ต้องการออกจากน้ำโดยการใช้แรงดันในการอัดโมเลกุลของน้ำให้ผ่านรูพรุนของเยื่อบางที่มีคุณสมบัติเป็น (Semipermeable membrane) และอาศัยแผ่นเยื่อบางเป็นตัวจับโมเลกุล หรืออนุภาคของสารเจือปนไว้ระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีประสิทธิภาพสามารถกรองฟลูออไรด์ได้ร้อยละ 94-96 แต่มีราคาและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง]

เพราะการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากอาจทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและมีโอกาสสูงในการที่กระดูกสะโพกและข้อมือจะหักได้ หรือเป็นโรคที่เรียกว่า “Skeletal fluorosis” และมีพิษต่อไตด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยงการได้รับฟลูออไรด์

โดย ทตญ.สุรัตน์ ได้กล่าวถึงการป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากฟลูออไรด์ว่า สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการรับประทานแคลเซียม นม เพราะตัวแคลเซียมที่เรารับประทานไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กปลาน้อย หรือนมจะเป็นประจุบวก ส่วนฟลูออไรด์เป็นประจุลบ จะวิ่งเข้าหากันแล้วจับในร่างกายของเรา ช่วยให้ร่างกายดูดซึมเข้าร่างกายลดลง และควรออกมารับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้า ยามเย็นให้มาก

แหล่งข้อมูล

  1. “ฟลูออไรด์” ภัยเงียบในน้ำดื่มน้ำใช้ http://dailynews.co.th/Content/Article/282426/‘ฟลูออไรด์'+ภัยเงียบในน้ำดื่ม+น้ำใช้ [2014, December 2].
  2. Community Water Fluoridation. http://www.cdc.gov/fluoridation/faqs/ [2014, December 2].
  3. Basic Information about Fluoride in Drinking Water. http://water.epa.gov/drink/contaminants/basicinformation/fluoride.cfm [2014, December 2].
  4. Recognition and Management of Fluoride Toxicity. http://www.toxipedia.org/display/toxipedia/Recognition+and+Management+of+Fluoride+Toxicity [2014, December 2].
  5. 50 Reasons to Oppose Fluoridation. http://fluoridealert.org/articles/50-reasons/ [2014, December 2].
  6. Fluoride toxicity. http://en.wikipedia.org/wiki/Fluoride_toxicity [2014, December 2].