ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 4 คือ ประเภทอาจทำให้เกิดอาการเสพติดยาได้อย่างอ่อนๆ แต่ยังจัดเป็นยามีประโยชน์

ทางการแพทย์นำยาฟีโนบาร์บิทัลมารักษาและป้องกันโรคลมชัก ช่วยสงบประสาท (ยาคลายเครียด) ใช้เป็นยานอนหลับ องค์การอนามัยโลกได้รับรองให้ฟีโนบาร์บิทัลควรบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

ผลิตภัณฑ์ยาฟีโนบาร์บิทัลถูกผลิตในรูปแบบของ ยาเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นความสะดวกของแพทย์ในการใช้ยากับสูตรตำรับที่เหมาะสม หากจะมองในด้านประสิทธิภาพ ยานี้ไม่ได้มีข้อด้อยกว่ายาป้องกันโรคลมชักตัวอื่น อย่างเช่น Phenytoin และ Carbamazepine

หลังจากผู้ป่วยได้รับยาฟีโนบาร์บิทัลเข้าสู่ร่างกาย พบว่ายาจะจับกับโปรตีนในกระแสเลือด 20 - 45% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 53 - 118 ชั่วโมงในการกำจัดระดับยาในกระแสเลือดออก 50% (Half Life) โดยผ่านมา ทางปัสสาวะและอุจจาระ

ด้วยยาฟีโนบาร์บิทัลอาจมีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเอง การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน เพราะนอกจากจะเกิดข้อผิดพลาดไม่ตรงกับอาการโรคแล้ว ยังจะก่อให้เกิดอันตรายอื่นๆ (ผลข้างเคียง /ผลไม่พึงประสงค์จากยา: อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์)จากยาติดตามมา

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟีโนบาร์บิทัล

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาฟีโนบาร์บิทัล เช่น

  • ใช้รักษาโรคลมชักทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน
  • ใช้เป็นยานอนหลับ
  • บรรเทา อาการวิตกกังวล และภาวะตึงเครียด (ยาคลายเครียด)
  • ช่วยสงบประสาทของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด

อนึ่ง นอกจากนี้ ทางวงการสัตวแพทย์ยังใช้ยานี้รักษาอาการชักของสุนัขและแมวได้อีกด้วย

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยทำให้สารกาบา (GABA/ Gamma Aminobutyric acid: สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) ออกฤทธิ์ได้นาน และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยกลไกเหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ รวมไปถึงฤทธิ์ในการบรรเทาความวิตกกังวลและอาการชักตามสรรพคุณของยา

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 30, 32.5, 60, และ 65 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำขนาดบรรจุ 20 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: เช่น

  • ใช้เป็นยาสงบประสาท(ยาคลายเครียด): รับประทาน 30 - 120 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 - 3 ครั้ง
  • ใช้เป็นยานอนหลับ: รับประทาน 100 - 320 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • รักษาและป้องกันโรคลมชัก: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น

  • รับประทานโดยคำนวณการใช้ยา 1 - 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม

ค. ในกรณีของยาฉีด: มักจะถูกนำมาใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรับประทานยา หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ ซึ่งกรณีใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลในรูปแบบยาฉีด ต้อง เป็นการใช้ยาอย่างเคร่งครัดภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น

*อนึ่ง:

  • ขนาดการรับประทานรวมถึงระยะเวลาในการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัล ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งแพทย์/เภสัชกรจะชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบถึงข้อปฏิบัติในการรับประทานยาอย่างเคร่ง ครัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลมชักไม่ให้ปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้อย่างกระทันหัน ด้วยจะก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายติดตามมา
  • *การได้รับยาฟีโนบาร์บิทัลเกินขนาด จะแสดงอาการซึมเศร้าออกมา การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบาก ขาดสติ หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ตัวเย็น และอาจเกิดภาวะ ปอดบวม ไตวายเฉียบพลัน และเกิดภาวะช็อกตามมา ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ หากพบเห็นอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีโนบาร์บิทัล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนบาร์บิทัลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีโนบาร์บิทัล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีโนบาร์บิทัลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท : เช่น รู้สึกสับสน หงุดหงิด ฝันร้าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล วิงเวียน ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบการหายใจ : เช่น หายใจแผ่วเบา ไปจนถึงหยุดหายใจ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น มีอาการ คลื่นไส้-อาเจียน และท้องผูก
  • ผลต่อผิวหนัง : เช่น อาจมีผื่นคัน
  • ผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น: เช่น ปวดศีรษะ /ปวดหัว มีไข้ ตับทำงานผิดปกติ ภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia
  • สำหรับเด็ก: อาจมีอาการที่เรียกว่า Hyperactivity คือ เด็กจะมีอาการลุกลี้ลุกลน ซนอยู่ไม่สุข

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยา ฟีโนบาร์บิทัล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยาฟีโนบาร์บิทัลส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์มารดา โดยอาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด หรือการแท้งบุตรได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับในระยะรุนแรง
  • การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลไปนานๆอาจก่อให้เกิดภาวะดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการใช้ยาไม่มีประสิทธิผล จนผู้ป่วยต้องการปรับขนาดการรับประทาน ซึ่งควรต้องให้แพทย์ทำความเข้า ใจกับผู้ป่วย และเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานหรือเปลี่ยนตัวยา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะช่องทางเดินหายใจอุดตัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ระหว่างการใช้ยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการควบคุมเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้กระทันหันโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่รับประทานยาเพื่อป้องกันโรคลม ชัก เพราะอาจเกิดการกำเริบของโรคจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
  • มีการทำวิจัยการใช้ยานี้อาจมีผลสัมพันธ์ต่อการเกิดเนื้องอกสมองในเด็ก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาฟีโนบาร์บิทัลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีโนบาร์บิทัล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ วิง เวียน ง่วงนอน มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว สามารถทำให้ตับทำงานหนัก ควรหลีก เลี่ยงการรับประทานร่วมกัน ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่นยา Paracetamol
  • การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะส่งผลให้ปริมาณยาต้านการแข็งตัวของเลือดในพลาสมา (Plasma) ลดต่ำลงจนอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้อยตามลงไป ยาต้านการแข็งตัวของเลือดดังกล่าว เช่นยา Dicumarol, Phenprocoumon, และ Warfarin หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์ผู้ตรวจรักษาอาจปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
  • การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว จะทำให้ร่างกายเร่งการขับออกของยาปฏิชีวนะนั้นๆ ทำให้ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะนั้นๆลดลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Doxycycline
  • การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุม กำเนิดลดลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรต้องปรับระยะเวลาในการรับประทาน ไม่ให้ตรงกัน ยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าว เช่นยา Estradiol, Estrone, Progesterone

ควรเก็บรักษายาฟีโนบาร์บิทัลอย่างไร?

สามารถเก็บยาฟีโนบาร์บิทัล:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาฟีโนบาร์บิทัลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีโนบาร์บิทัล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Belladonna Alkaloids w/ Phenobarbital (เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ ดับเบิ้ลยู/ฟีโนบาร์บิทัล) Samakeephaesaj (Union Drug Lab)
Elixir Phenobarb (อิลิเซอร์ ฟีโนบาร์บ) Suphong Bhaesaj
Neuramizone (นูรามิโซน) Sriprasit Pharma
Phenobarb (ฟีโนบาร์บ) P P Lab
Phenobarbital Acdhon (ฟีโนบาร์บิทัล แอ็คฮอน) Acdhon
Phenobarbital Atlantic (ฟีโนบาร์บิทัล แอทแลนติค) Atlantic Lab
Phenobarbital Chew Brothers (ฟีโนบาร์บิทัล ชิว บราเทอร์) Chew Brothers
Phenobarbitone GPO (ฟีโนบาร์บิโทน จีพีโอ) GPO
Phenobarbitone New Life Pharma (ฟีโนบาร์บิโทน นิว ไลฟ์ ฟาร์มา) New Life Pharma
Phenoco Elixir (ฟีโนโค อิลิเซอร์) T.O. Chemicals
Phenotal (ฟีโนทอล) Asian Pharm

บรรณานุกรม

1. http://www.drugs.com/cdi/phenobarbital.html [2020,June27]

2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fphenobarbital%2f [2020,June27]

3. http://en.wikipedia.org/wiki/Phenobarbital [2020,June27]

4. http://www.rxlist.com/phenobarbital-drug.htm [2020,June27]