ฟันผุ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก (ตอนที่ 2)

ฟันผุ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก

ฟันผุเป็นปัญหายอดนิยมของคนทั่วโลก คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามีเพียงเด็กเท่านั้นที่ฟันผุได้ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะเมื่ออายุมากขึ้น เหงือกจะร่นลงหรือเป็นโรคเหงือกอักเสบ (Gum disease) ซึ่งทำให้เกิดคราบแบคทีเรียที่รากฟันได้ และเมื่อมีการกินอาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาลเป็นจำนวนมากก็ทำให้เกิดฟันผุได้มากขึ้น

อาการของฟันผุแตกต่างกันไปขึ้นกับขนาดและตำแหน่งที่ผุ เมื่อฟันเริ่มผุอาจจะไม่ปรากฏอาการใดเลย ต่อเมื่อฟันผุมากขึ้นๆ อาจเป็นสาเหตุและทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ได้ เช่น

  • ปวดฟัน
  • เสียวฟัน
  • ปวดเมื่อกินหรือดื่มน้ำหวานร้อนหรือเย็น
  • มีรูในฟัน
  • มีคราบสีน้ำตาล ดำ หรือขาวบนบริเวณผิวฟัน
  • ปวดเมื่อมีการกัดหรือเคี้ยว

เนื่องจากเราไม่สามารถรู้สึกได้ว่าฟันผุกำลังเริ่มก่อตัว ดังนั้นจึงต้องอาศัยการไปตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำกับทันตแพทย์แม้ว่าจะไม่รู้สึกว่าฟันมีปัญหาอะไรก็ตาม และหากมีอาการปวดฟันหรือปวดปากก็ควรรีบไปพบทันตแพทย์ให้เร็วเท่าที่จะเป็นไปได้

ฟันผุเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาในการเกิด โดยมีพัฒนาการดังนี้

  • การก่อตัวของคราบแบคทีเรียบนผิวฟัน (Plaque forms) ที่มาจากอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เมื่อไม่ได้ทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี แบคทีเรียจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดกรด เป็นคราบเคลือบฟันไว้ ซึ่งถ้าลองใช้ลิ้นกวาดไปที่ฟัน เราอาจจะรู้สึกได้ถึงความขรุขระที่อยู่บนผิวฟัน โดยเฉพาะในส่วนที่อยู่ติดกับเหงือกซึ่งเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ดี
  • การจู่โจมของคราบแบคทีเรีย (Plaque attacks) กรดที่อยู่ในคราบแบคทีเรีย จะกัดกร่อนสารเคลือบฟันด้านนอก (Outer enamel) และทำให้ฟันเป็นรูซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของฟันผุ เมื่อเคลือบฟันถูกทำลายไปเรื่อยๆ แบคทีเรียและกรดก็จะเข้าถึงชั้นต่อไปของฟันที่เรียกว่า เนื้อฟันหรือส่วนของฟันที่มีแคลเซี่ยม (Dentin) ซึ่งส่วนนี้จะอ่อนกว่าเคลือบฟันและทนทานต่อกรดได้น้อยกว่าเคลือบฟัน
  • การทำลายฟัน (Destruction continues) เมื่อฟันผุไปเรื่อย แบคทีเรียและกรดจะเข้าสู่ตัวฟันมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงฟันชั้นในหรือเนื้อฟัน (Pulp) ที่ประกอบด้วยเส้นประสาทและเส้นเลือด เนื้อฟันจะบวมและระคายเคืองจากแบคทีเรีย อาจจะมีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง เสียวฟัน หรือปวดเมื่อกัด ร่างกายจะตอบสนองต่อการบุกรุกของแบคทีเรียด้วยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับเชื้อ ซึ่งอาจจะทำให้มีการอักเสบหรือเป็นฝีที่ปลายรากฟัน (Tooth abscess)

ทั้งนี้ ทันตแพทย์สามารถทำการตรวจฟันได้โดย

  • สอบถามเกี่ยวกับอาการปวดและอาการเสียวฟัน
  • ตรวจช่องปากและฟัน
  • ใช้เครื่องมือสำหรับแหย่ตรวจบริเวณที่นิ่ม
  • ใช้การเอ็กซเรย์ฟัน เพื่อดูขนาดของหลุมที่ฟัน

แหล่งข้อมูล

  1. Cavities/tooth decay. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cavities/basics/definition/con-20030076 [2015, February 23].
  2. Dental Health and Cavities. http://www.webmd.com/oral-health/guide/dental-health-cavities [2015, February 23].