ฟันผุ (Dental caries)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ฟันผุเกิดได้อย่างไร?

โรคฟันผุ หรือ ฟันผุ (Dental caries หรือ Tooth decay) เป็นโรคติดเชื้อที่มีเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Streptococcus mutans เข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง และน้ำตาลในอาหารที่ตกค้างบนฟัน หรือคราบจุลินทรีย์ (Dental plague) ให้เป็นกรด ที่สามารถสลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างของฟัน ทำให้ฟันผุกร่อน การสลายแร่ธาตุของฟัน ทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ(Demineralization) จากตัวฟัน ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นของโรคฟันผุ

ฟันที่เริ่มผุ จะซ่อมแซมเองได้ เพราะน้ำลายในช่องปากจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุแคลเซียม (Calcium) และ ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ระหว่างชั้นผิวเคลือบฟันกับแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำลายตลอดเวลา โดยจะมีทั้งการสูญเสียแร่ธาตุจากฟัน และการคืนกลับแร่ธาตุ (Remineralization) สู่ฟันอย่างสมดุล ในสภาวะที่สภาพน้ำลายในช่องปากค่อนข้างเป็นกลาง จะไม่มีการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน แต่ในสภาวะที่จุลินทรีย์มีการย่อยสลายอาหารแป้งและน้ำตาล เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของน้ำลายเป็นกรด กรดจะกัดกร่อนฟัน ทำให้สูญเสียแร่ธาตุแคลเซียม และฟอสฟอรัส ออกจากตัวฟันไปยังน้ำลาย มากกว่าการได้รับกลับคืน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นบ่อยจะทำให้ฟันผุ เมื่อค่าความเป็นกรดที่พื้นผิวของฟัน หรือน้ำลายลดลงต่ำกว่า 5.5 เช่น การรับประทานน้ำอัดลมบางชนิด มีค่าความเป็นกรด 2.3 การสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟัน จะเกิดได้เร็วกว่าการคืนกลับแร่ธาตุสู่ตัวฟัน หมายความว่า จะมีผลขาดทุนสุทธิของโครงสร้างแร่ธาตุบนพื้นผิวของฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือบูรณะ เชื้อแบคทีเรียจะลุกลามสู่เนื้อฟัน และเข้าสู่โพรงประสาทฟัน (Dental pulp) ทำให้เกิดการอาการอักเสบโพรงประสาทฟัน (Pulpitis) ก่ออาการ ปวด บวม และการอักเสบอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบๆรากฟัน หรือลุกลามต่อไปยังเหงือก และกระดูกขากรรไกร เกิดการเป็นหนอง และ/หรือ การอักเสบที่รุนแรง ก่อการติดเชื้อในกระแสเลือด (โลหิต) หรือ เป็นสาเหตุของเยื่อบุหัวใจอักเสบได้

อะไรเป็นปัจจัยปัจจัยที่ทำให้ฟันผุ?

ฟันผุ

คนเราแต่ละวัย และต่างคนกัน มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ

1. ธรรมชาติพื้นผิวของฟัน ถ้าฟันเป็นร่องหลุมมาก อาหารตกค้างง่าย จะก่อให้เกิดฟันผุได้ง่าย

2. เชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่เริ่มต้นทำให้ฟันผุ คือ Streptococcus mutans ซึ่งมีในปากทุกคน แต่มากน้อยต่างกัน คนที่มีมากฟันผุง่าย

3. อาหาร น้ำตาล และอาหารรสเปรี้ยวบางชนิดมีค่าความเป็นกรดต่ำ จะทำให้เกิดฟันผุได้มาก นม ผัก ผลไม้ และฟลูออไรด์ ลดการเกิดฟันผุ

4. คราบจุลินทรีย์ การมีเศษอาหารตกค้างอยู่บนผิวฟันนาน มีโอกาสเกิดฟันผุง่าย แต่การแปรงฟันจะกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกจากผิวฟันได้

ทันตแพทย์วินิจฉัยฟันผุได้อย่างไร?

ทันตแพทย์จะตรวจหารอยโรคฟันผุที่เกิดขึ้น โดย

  • การมองด้วยกระจกส่องช่องปาก
  • และการใช้เครื่องมือตรวจหารอยผุ
  • บางกรณีมีจะใช้เอกซเรย์ภาพฟันช่วย เพื่อตรวจหารอยผุบริเวณซอกฟัน หรือใต้ขอบวัสดุอุดฟันเดิม

โรคฟันผุมีกี่ระยะ และรักษาฟันผุอย่างไร?

การรักษาโรคฟันผุ ส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะกำจัดเนื้อฟันที่ผุออก และอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชนิดต่างๆ เช่น วัสดุอุดอะมัลกัม (Dental amalgam) หรือวัสดุอุดเรซินคอมโพสิต (Resin composite) ถ้าเป็นฟันผุขนาดใหญ่ที่ผุลึกถึงโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน (Pulpitis) จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาคลองรากฟันก่อนที่จะอุดฟัน หรือทำครอบฟัน หากโรคลุกลามมากก็จำเป็นก็ต้องถอนฟัน

แนวทางการดูแลรักษาฟันผุตามระยะของฟันผุซึ่งมี 4 ระยะ ได้แก่

โรคฟันผุระยะที่ 1: กรดเริ่มทำลายเคลือบฟัน อาจเห็นเป็นรอยสีขาวขุ่นบริเวณที่เป็นผิวเรียบของฟัน หรือหลุมร่องฟัน ยังไม่มีอาการ การแปรงฟันให้สะอาด และใช้ฟลูออไรด์ทาเฉพาะที่ ฟลูออไรด์ช่วยการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน ช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคฟันผุได้

โรคฟันผุระยะที่ 2: การกัดกร่อน ลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน มีสีเทาดำ เห็นรูผุ มีเศษอาหารติด การผุ จะลุกลามเร็วกว่าระยะแรก เนื่องจากชั้นเนื้อฟันแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน จะเริ่มมีอาการเสียวฟัน เมื่อถูกของร้อน เย็น หรือหวานจัด ระยะนี้ จำเป็นต้องพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยการอุดฟัน

โรคฟันผุระยะที่ 3: เป็นขั้นรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน มีอาการปวด อาจปวดตลอดเวลา หรือปวดเป็นพักๆ มีการตกค้างของเศษอาหาร มีกลิ่น เมื่อฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันแล้ว การอุดฟันตามปกติทำไม่ได้ ต้องรักษาคลองรากฟันก่อน หากติดเชื้ออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาคลองรากฟัน

โรคฟันผุระยะที่ 4: ถ้าผู้ป่วยอดทนต่อความเจ็บปวดของการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายราก จะเจ็บๆ หายๆ เป็นช่วงๆ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวม หรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก เชื้อโรคลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และระบบน้ำเหลืองของร่างกาย การรักษาจำเป็นต้องถอนฟัน และหลังการถอนฟัน ควรต้องใส่ฟันเทียมทดแทนเพื่อความสวยงาม เพื่อการบดเคี้ยว และเพื่อป้องกันฟันข้างเคียงไม่ให้ล้มเอียง

ป้องกันฟันผุได้อย่างไร? ควรพบทันตแพทย์เมื่อไร?

การป้องกันการเกิดฟันผุ มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง เช่น เด็กเล็ก หรือผู้ที่มีภาวะปากแห้งจากน้ำลายน้อย ซึ่งโดยทั่วไป ป้องกันฟันผุได้โดย

1. คนทั่วไปสามารถป้องกันฟันผุด้วยตนเอง โดยการสังเกตมองด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจหาบริเวณที่ผิวฟันเป็นรู มีการเปลี่ยนสีเป็นสีดำ ร่วมกับมีอาการปวดฟัน

2. การไปพบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน (โดยทั่วไป ทันตแพทย์แนะนำให้ทุกๆคนพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากและฟันทุก 3-6 เดือน หรือ บ่อยตามคำแนะนำของทันตแพทย์) เพื่อตรวจช่องปาก และขูดหินน้ำลาย (หินปูน) ทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะลดการเกิดโรคฟันผุ และทันตแพทย์ยังจะตรวจพบฟันผุที่เกิดขึ้นใหม่ และรักษาก่อนที่โรคจะลุกลามมาก

3. การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ (Fluoride) หรือน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ และการใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์ และเศษอาหารออก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ฟลูออไรด์ช่วยการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน เป็นการเสริมสร้างผิวฟันให้แข็งแรง และการใช้ไหมขัดฟัน เพื่อทำความสะอาดซอกฟันที่แปรงฟันไม่ถึง

ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุป วิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ คือ การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมื้ออาหาร ซึ่งฟันผุได้ง่ายที่สุดในพื้นที่ที่ทำความสะอาดยาก พื้นที่เหล่านี้รวมถึง พื้นผิวร่องฟัน ซอกฟัน และพื้นที่ใต้เหงือก และไหมขัดฟันจะช่วยป้องกันโรคฟันผุ โดยการเอาเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ออกจากซอกฟัน

4. การรับประทานอาหารแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง เพื่อลดการเกิดคราบจุลินทรีย์

บรรณานุกรม

  1. https://www.dentalhealth.ie/dentalhealth/causes/dentalcaries.html [2019,Dec7]
  2. Dawes C (December 2003). "What is the critical pH and why does a tooth dissolve in acid?". J Can Dent Assoc 69 (11): 722–4
  3. Silverstone LM (May 1983). "Remineralization and enamel caries: new concepts". Dent Update 10 (4): 261–73. PMID 6578983
  4. Fejerskov, Ole (2008). Dental Caries: The Disease and Its Clinical Management. Oxford: Blackwell Munksgaard. ISBN 1405138890.
  5. Kidd, E.A.M. (2005). Essentials of Dental Caries. Oxford: Oxford University Press. ISBN 0198529783.