ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ โพรแซค (Prozac)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาชื่อการค้าที่คนมักรู้จัก คือ ‘โพรแซค (Prozac)’ เป็นยารัก ษาโรคซึมเศร้า/ ยาต้านเศร้า ที่จัดอยู่ในกลุ่มยาประเภท Selective serotonin reuptake inhibitors โดยได้รับการยืนยันประสิทธิภาพจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) และถือเป็นยาลำดับต้นๆที่ได้ถูกคัดกรองเพื่อนำมารักษาภาวะซึมเศร้าดังกล่าว และยังถูกนำมาใช้ในวัตถุประ สงค์การรักษาอื่นอีกอาทิเช่น รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ รักษาอาการตื่นตระหนก (Panic disorder) รัก ษาอาการของผู้ป่วยที่มีการบริโภคอาหารผิดปกติ เป็นต้น

ฟลูออกซิทีนยังจัดเป็นยาต้านการซึมเศร้าที่ถูกนำมาใช้กับเด็กมากกว่ายาตัวอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ยาฟลูออกซิทีนถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 72% และเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึง 94 - 95% ตับจะเป็นอวัยวะที่ช่วยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลา 1 - 3 วันในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ และบางส่วนถูกขับออกมาทางอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาตัวนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาได้ปลอดภัยตรงตามวัตถุประสงค์ของการรักษา จึงต้องอยู่ภายในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาฟลูออกซิทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูออกซิทีน

ยาฟลูออกซิทีนมีสรรพคุณ/ขอบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)
  • รักษาอาการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ (Eating disorder)
  • บรรเทาอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive disorder)
  • รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder)

ยาฟลูออกซิทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของฟลูออกซิทีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารเซโรโทนิน (Serotonin, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์/จิตใจ) เข้าสู่เซลล์สมอง จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์บรรเทาอาการซึมเศร้าได้ตามสรรพคุณ

ยาฟลูออกซิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูออกซิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัม/แคปซูล

ยาฟลูออกซิทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟลูออกซิทีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.รักษาโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 20 มิลลิกรัม/วันในตอนเช้า ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษา ให้รับประทาน 20 - 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 - 2ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 8 - 18 ปี: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็ก: อายุต่ำกว่า 7 ปี ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์

ข.รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive disorder): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 20 มิลลิกรัม/วันในตอนเช้า ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษา ให้รับประทาน 20 - 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: อายุ 7 - 18 ปี รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็ก: อายุต่ำกว่า 7 ปี ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์

ค.รักษาอาการรับประทานอาหารผิดปกติ (Eating disorder): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละครั้งในตอนเช้า ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มต้นรับ ประทานต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมก็ได้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์

ง.รักษาอาการตื่นตระหนก (Panic disorder): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้งในตอนเช้า หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ควรปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัมวันละครั้งตอนเช้า
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์

จ. รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder):

  • การใช้ยาตัวนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูออกซิทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออกซิทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลูออกซิทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาฟลูออกซิทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูออกซิทีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • สามารถพบอาการผื่นคัน
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดข้อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เหงื่อออกมาก
  • สับสน
  • มีอาการชัก
  • ผิวเย็นและซีด
  • ท้องเสีย
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปากคอแห้ง
  • หิวบ่อย
  • กระหายน้ำ
  • หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออกซิทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออกซิทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้มีประวัติแพ้ยาฟลูออกซิทีน
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่มยา Monoamine oxidase inhibitor/ เอมเอโอไอ (ยาต้านเศร้า , ยาโรคพาร์กินสันชนิดหนึ่ง), Pimozide (ยาจิตเวช)
  • ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยที่มีประวัติด้วยโรคลมชัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวต่ำ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออกซิทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟลูออกซิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูออกซิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับยารักษาอาการคัดจมูก/Nasal congestion ที่ชื่อยา Phenylpropranolamine (เช่น ในโรคหวัด ไซนัสอักเสบ) ฟลูออกซิทีนอาจทำให้ยาแก้คัดจมูกดังกล่าวมีผล ข้างเคียงต่อร่างกายมากขึ้น จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับรักษาโรคหัวใจ เช่นยา Amiodarone อาจเกิดความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาฟลูออกซิทีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาฟลูออกซิทีน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาฟลูออกซิทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูออกซิทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actisac (แอคติแซค) Polipharm
Anzac (แอนแซค) Bangkok Lab & Cosmetic
Deproxin (เดพร็อกซิน) Siam Bheasach
Flulox 20 (ฟลูล็อกซ์ 20) Medicine Products
Flumed (ฟลูเมด) Medifive
Fluoxetine Medicpharma (ฟลูออกซิทีน เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Fluoxine (ฟลูโอซีน) T. O. Chemicals
Flusac (ฟลูแซค) Sriprasit Pharma
Flutine (ฟลูทีน) Pharmasant Lab
Fluxetil (ฟลูเซทิล) Unison
Fluxetin Atlantic (ฟลูเซทิน แอทแลนติก) Atlantic Lab
Fluzac-20 (ฟลูแซค-20) L. B. S.
Foxetin (โฟเซทิน) GPO
F-ZAC (เอฟ-แซค) Patar Lab
Loxetine-20 (โลซีไทน์-20) March Pharma
Magrilan (แมกริแลน) Medochemie
Oxetine 20 (ออกซิทีน 20) Pharmaland
Oxsac (ออกแซค) Masa Lab
Masa Lab Eli Lilly
Unprozy (อันโพรซี) Condrugs
Xetin (ซีทิน) T. Man Pharma
Zezac (เซแซค) Suphong Bhaesaj

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluoxetine [2020,April 11]
  2. https://www.emedexpert.com/compare/ssris.shtml#2 [2020,April 11]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ffluoxetine%3fmtype%3dgeneric [2020,April 11]
  4. https://www.drugs.com/prozac.html [2020,April 11]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00472 [2020,April 11]
  6. https://www.drugs.com/dosage/fluoxetine.html [2020,April 11]
  7. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fDrug%2finfo%2fDeproxin%2f%3ftype%3dbrief [2020,April 11]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/amiodarone-with-fluoxetine-167-0-1115-0.html [2020,April 11]
  9. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9617977 [2020,April 11]
  10. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a689006.html#storage-conditions [2020,April 11]