“ฟลูออกซิทีน” อันตรายที่แฝงในอาหารเสริม (ตอนที่ 1)

ฟลูออกซิทีน-อันตรายที่แฝงในอาหารเสริม

นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุข (ด้านส่งเสริมพัฒนา) เชี่ยวชาญ ปฏิบัติราชการแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำหนังสือเลขที่ อบ. 0032.008/ว 1077 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2560 ส่งถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล และสาธารณสุขอำเภอทุกแห่งใน จ.อุบลราชธานี เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่เก็บจากสถานที่จำหน่ายในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานีว่า มีการปนเปื้อน “ยาฟลูออกซิทีน” หรือยารักษาโรคซึมเศร้า

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยาฟลูออกซิทีนเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่ได้ผลดี แต่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งก่อนสั่งจ่ายต้องมีการตรวจสุขภาพกายและจิตของผู้ป่วยก่อนทุกครั้ง เพื่อจะได้จัดยาให้ได้อย่างเหมาะสม

พญ.อัมพร กล่าวถึง ผลข้างเคียงของยาฟลูออกซิทีนว่า มีน้อย กล่าวคือ ทำให้เบื่ออาหาร พะอืดพะอม แต่การเอาไปผสมในอาหารเสริมแล้วให้คนทั่วไปกินนั้นไม่มั่นใจว่าจะมีผลอะไรหรือไม่ โดยฤทธิ์ของตัวยานี้ไม่ได้มีปัญหา แต่เกรงว่าในอาหารเสริมเหล่านั้นซึ่งไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของยาอื่นๆ อะไรบ้าง

ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาตัวอื่นแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ รวมถึงการใช้ในคนทั่วไปก็น่ากังวลอยู่ อย่างกรณีที่บางคนอาจจะมีปัญหาเช่นไบโพลาร์แต่ไม่แสดงอาการ หรือไม่รู้ตัวว่าเป็น อาจจะได้รับผลกระทบกระตุ้นให้แสดงอาการได้

ส่วน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ยาตัวนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สมรรถภาพทางเพศลดลง มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิตได้

ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้หากไม่ได้มีอาการซึมเศร้าและไม่ได้ถูกจ่ายยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากมีการผสมยาตัวนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยหลังจากมีการตรวจพบว่ามีตัวยาดังกล่าวผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดก็จะมีการเรียกเก็บ สั่งห้ามจำหน่าย และดำเนินคดีต่อไป

ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เป็นยาต้านโรคซึมเศร้าประเภท (Selective serotonin reuptake inhibitors = SSRI) มีผลต่อระดับสารเคมีในสมองที่ผิดปกติของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหดหู่ ตื่นตระหนก หรือย้ำคิดย้ำทำ

ยาฟลูออกซิทีน ใช้เป็นยารักษาอาการ

  • โรคซึมเศร้า (Depression)
  • โรคตื่นตระหนก (Panic attacks)
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder)
  • ความผิดปกติของพฤติกรรมการกินหรือที่เรียกว่า โรคบูลิเมีย (Bulimia)
  • กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder) และอื่นๆ

[โรคบูลิเมีย (bulimia) เป็นโรคของคนกลัวอ้วนซึ่งเมื่อกินอาหารเข้าไปแล้วเกิดความรู้สึกผิดอย่างมากและต้องหาทางนำอาหารเหล่านั้นออกมาให้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ด้วยการล้วงคอให้อาเจียน]

แหล่งข้อมูล:

  1. อันตราย! พบ “อาหารเสริม” 2 ตัวลอบผสมยาต้านซึมเศร้า. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000024845 [2017, May 1].
  2. 2. fluoxetine. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-1774-95/fluoxetine-oral/fluoxetine---oral/details [2017, May 1].
  3. 3. Fluoxetine. https://www.drugs.com/fluoxetine.html [2017, May 1].