พิษจากสารตะกั่ว ตื่นตัวทั่วระยอง (ตอนที่ 1)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ติดตามดูแลสุขภาพนักเรียนจังหวัดระยอง 82 ราย ที่มีค่าตะกั่วในเลือดสูงเกินมาตรฐาน และให้เร่งค้นหาต้นตอปัญหาทั้ง จาก โรงเรียน บ้าน แหล่งน้ำ และ มลพิษในอากาศ เพื่อแก้ไขป้องกันเป็นการด่วน โดยพบสูงมาก 2 ราย โดย 1 รายมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ผลล่าสุดระดับลดลงแล้ว โดยให้ตรวจเลือดนักเรียนที่มีสารตะกั่วในเลือดเกิน ซ้ำอีกในเดือนตุลาคมนี้

พิษจากสารตะกั่ว (Lead poisoning) เป็นสภาวะที่เกิดจากการเพิ่มระดับของตะกั่วซึ่งเป็นสารโลหะหนัก (Heavy metal) ในร่างกาย ซึ่งจะแทรกแซงกระบวนการหลากหลายของร่างกาย กล่าวคือเป็นพิษ (Toxic) ต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งหัวใจ กระดูก ลำไส้ ไต และระบบสืบพันธุ์ (Reproductive system)

โดยเฉพาะการแทรกแซงพัฒนาการของระบบประสาท (Nervous system) ซึ่งเป็นพิษต่อเด็กๆ และเป็นสาเหตุของการสูญเสียการเรียนรู้อย่างถาวร และความผิดปรกติของพฤติกรรม กลุ่มอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง (Abdominal pain) หงุดหงิด (Irritability) สับสน (Confusion) ปวดศีรษะ (Anemia) รวมทั้งอาการชัก (Seizures) หมดสติ (Coma) และถึงแก่ความตาย ในกรณีรุนแรง

จากสถิติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Communicable Disease Control and Prevention : CDC) ในสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กอเมริกันที่อาศัยอยู่ใน 4 ล้านครอบครัว ได้รับสารตะกั่ว ประมาณครึ่งล้านคนของเด็กอายุ 1 - 5 ปี มีตะกั่วในเลือดที่มีระดับสูงกว่า 5 ไมโครกรัมต่อ 1 เดซิลิตร

ระดับดังกล่าว เป็นระดับที่ CDC แนะนำต่อสาธารณสุข [ทั่วประเทศ] ว่า เป็นความเสี่ยงสูงที่จะกระทบต่อทุกๆ ระบบในร่างกาย เนื่องจากพิษจากสารตะกั่ว มักเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัด คนส่วนใหญ่ที่ได้รับอันตราย จะไม่รู้ตัว CDC ได้มีการรณรงค์ในโครงการกำจัดพิษจากสารตะกั่วในเลือดระดับที่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อ 1 เดซิลิตรภายในปี พ.ศ. 2563

เส้นทาง (Routes) ของตะกั่ว มีทั้ง อากาศ น้ำ ดิน อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปนเปื้อน (Contamination) ความเสี่ยงจากอาชีพ (Occupational exposure) เป็นสาเหตุตามปรกติของพิษจากสารตะกั่ว ในผู้ใหญ่ จากประมาณการของ สถาบันแห่งชาติอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (National Institute of Occupational Safety and Health : NIOSH) มีคนงานสกว่า 3 ล้านคน ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับสารตะกั่ว ณ สถานที่ทำงาน

เราสามารถค้นพบระดับตะกั่วที่สูงขึ้นในร่างกาย จากการเปลี่ยนแปลงของเซ็ลล์ในเลือด ผ่านกล้องจุลทรรศน์ และ ความหนาแน่นในกระดูกของเด็กผ่านการถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูก อย่างไรก็ตาม เครื่องมือหลักในการวินิจฉัย คือการตรวจปัสสาวะ (Urine test) เมื่อมีการบันทึกระดับตะกั่วในเลือด ผลลัพธ์แสดงถึงปริมาณตะกั่วที่หมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือด (Blood stream) ไม่ใช่ปริมาณที่อยู่ในร่างกาย

เด็กมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบทางสุขภาพ จากสารตะกั่ว ดังนั้น เกณฑ์มาตรฐานของระดับตะกั่วในเลือดจึงต่ำกว่าในผู้ใหญ่ และมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหากมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนขึ้น การรักษาส่วนใหญ่ทำโดยกำจัดแหล่งของตะกั่วก่อนเริ่มการบำบัด

แหล่งข้อมูล:

  1. “วิทยา” สั่ง สสจ. ระยองหาต้นตน นร. 82 ราย พบตะกั่วในเลือดสูง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105915&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 2].
  2. Lead poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Lead_poisoning [2012, September 2].
  3. Lead. http://www.cdc.gov/nceh/lead/ [2012, September 2].