พาร์กินสัน: ตอนที่ 3 ผมกลัวเป็นพาร์กินสัน

พาร์กินสัน-3


“หมอครับ ช่วยผมด้วย ผมมือสั่นมาหลายเดือน ผมกลัวเป็นพาร์กินสันครับ” ผมพบผู้ป่วยหลายต่อหลายรายที่มาพบผมเพราะกลัวว่าเป็นโรคพาร์กินสัน เพราะมีอาการมือสั่น เป็นที่น่าสนใจมากว่าทำไมเมื่อผู้ป่วยมีอาการมือสั่น ส่วนใหญ่ทำไมถึงกลัวว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน ทั้งๆ ที่สาเหตุของมือสั่นที่เกิดจากโรคพาร์กินสันนั้นพบได้ไม่บ่อยเลย เราลองมาอ่านบทความนี้ต่อว่า มือสั่นแบบไหนจึงจะต้องคิดถึงพาร์กินสัน

อาการมือสั่นนั้นอาจแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ

  1. มือสั่นเมื่อทำกิจกรรม (action tremor) ลักษณะสำคัญคือ มีอาการมือสั่นเมื่อทำกิจกรรมเท่านั้น ถ้าตอนอยู่เฉยๆ จะไม่มีอาการสั่น อาการสั่นมักเป็นตอนทำกิจกรรมในการดำรงชีวิตทั่วไป เช่น ดื่มน้ำ ทานอาหาร แปรงฟัน โกนหนวด หยิบจับสิ่งของต่างๆ อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีความตื่นเต้น เครียด หิว เหนื่อย อดนอน พักผ่อนไม่พอ ถ้าได้พัก ไม่เครียดอาการก็ดีขึ้น และถ้าดื่มแอลกอฮอล์ อาการก็จะดีขึ้นมาก
  2. มือสั่นขณะพัก (rest tremor) อาการมือสั่นเมื่อพัก เช่น มือวางไว้ที่หน้าขาเฉยๆ จะสั่นมาก แต่พอยกมือหรือทำกิจกรรม อาการสั่นนั้นจะดีขึ้นในช่วงแรก แต่พอทำกิจกรรมไประยะเวลาหนึ่ง (สั้นๆ) ก็จะมีอาการสั่นมากขึ้นแบบเดิมอีก (emerging tremor)
  3. มือสั่นเมื่อจะหยิบจับหรือทำกิจกรรมในช่วงปลายของกิจกรรมนั้นๆ หรือเมื่อใกล้ถึงจุดเป้าหมาย (intention tremor) ตอนเริ่มต้นของกิจกรรมนั้นๆ จะไม่สั่นมาก แต่พอใกล้ๆ จะมีอาการชัดเจนเมื่อใกล้ๆ ถึงเป้าหมาย ลักษณะเหมือนการกะระยะผิด เช่น จะตักอาหารเข้าปาก ก็จะตักอาหารไม่เข้าปาก เอานิ้วมือแตะจมูก ก็จะแตะพลาดไป เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายอาจมีการสั่นได้หลายแบบก็ได้ เช่น แบบที่หนึ่งร่วมกับแบบสองก็ได้ แล้วการสั่นแบบไหนที่เป็นการสั่นของพาร์กินสัน ก็ต้องบอกว่าถ้าการสั่นเป็นแบบที่ 2 คือสั่นขณะพัก โดยอาการสั่นขณะพักนั้นมักจะร่วมกับอาการทำอะไรช้าลงด้วย หรือทำอะไรไม่ค่อยคล่อง เช่น เขียนหนังสือไม่คล่อง ลายเซ็นต์เปลี่ยนไป เป็นต้น ลักษณะสำคัญคือ อาการที่เกิดขึ้นนั้นจะค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ได้เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และจะเป็นเพียงข้างเดียวก่อนเสมอ ถ้าเป็นมานานก็พบว่าทั้ง 2 ข้างที่เป็นนั้นก็เป็นไม่เท่ากัน คือ ความรุนแรงของอาการสั่นก็จะเป็นมากข้างใดข้างหนึ่ง

นอกจากอาการสั่นแล้วในผู้ป่วยพาร์กินสันนั้นก็จะพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ช้าลง เดินไม่คล่อง ทำอะไรไม่สะดวก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีใครมาถามเราว่าอาการสั่นนั้นเป็นพาร์กินสันหรือไม่ ให้เราประเมินอาการได้ง่ายๆ โดยการดูว่ามีอาการสั่นแบบไหน ถ้าสั่นแบบที่ 2 ก็ต้องดูว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า ถ้ามีก็น่าจะใช่พาร์กินสันครับ แต่ถ้ามีอาการสั่นตอนทำกิจกรรมก็เบาใจได้เลยครับ ไม่ต้องกลัวครับพาร์กินสันวินิจฉัยได้ไม่ยาก รักษาก็ไม่ยากมากครับ เชื่อผม