พาร์กินสัน:ตอนที่ 25 เทคนิคพิเศษ

พาร์กินสัน-25


การรักษาโรคพาร์กินสันนั้นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์จริงๆ เพราะในการรักษาแต่ละคน แต่ละช่วงเวลาก็มีความแตกต่างกัน ยิ่งโรคพาร์กินสันเองนั้นก็มีอาการที่หลากหลาย ทั้งอาการด้านการเคลื่อนไหว อาการด้านที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอีก ทั้งทางด้านอารมณ์ การนอน การขับถ่าย มีหลายต่อหลายปัญหาให้แก้ไข การมาตรวจแต่ละครั้งก็มีปัญหาที่ไม่ซ้ำกันเลย ลองมาดูครับว่าผู้ป่วยบางรายมีเทคนิกพิเศษอะไรในการดูแลตนเองบ้าง

การเดินเป็นปัญหาหลักในผู้ป่วยพาร์กินสัน ผู้ป่วยบางรายจะเริ่มเดินลำบากมาก และเมื่อเดินไปแล้วก็หยุดยากมาก จะล้มได้ง่ายๆ เรียกว่าเริ่มยาก แล้วหยุดไม่อยู่ สร้างความลำบากกับผู้ป่วยอย่างยิ่ง การแก้ไขในผู้ป่วยแบบนี้จะต้องใช้เทคนิกพิเศษ คือ ต้องมีเส้นขีดเป็นขั้นๆ ไว้ตามทางที่เดิน (cue) ซึ่งทางการแพทย์ที่ทำได้ คือ มีไม้เท้าอัจฉริยะ คือ ไม้เท้าจะมีปุ่มให้กดไฟส่องไปที่พื้น ทางเดินที่จะเดินไป พอผู้ป่วยเห็นแสงไฟ ก็จะมีการกระตุ้นให้สมองมีคำสั่งออกมาให้ผู้ป่วยเดินได้ดีขึ้น แต่ไม้เท้านี้หาซื้อยากมาก ทางญาติผู้ป่วยจึงคิดหาวิธีการเอง โดยการปูพื้นกระเบื้องให้มีเส้นขีดเป็นขั้นๆ ไว้ที่พื้น ก็ทำให้ผู้ป่วยเวลาจะเดินไปไหนก็เดินได้ดีขึ้น

“หมอครับผมมีเรื่องจะเล่าให้หมอฟังว่า หลังจากที่ผมมาพบหมอครั้งก่อนและหมอบอกว่าวิธีการแก้ไขปัญหาการเดินลำบากของพ่อผม โดยการใช้ไม้เท้าอัจฉริยะมีแสงเลเซอร์ส่องลงไปที่ทางเดิน ผมไปหาซื้อไม่ได้ ลองประดิษย์เองก็ไม่ได้ พอดีที่บ้านจะปูพื้นกระเบื้องใหม่พอดี ก็เลยออกแบบให้มีทางเดินที่มีการออกแบบให้มีเส้นขีดเป็นระยะๆ เหมาะกับก้าวเดินพอดี ปรากฏว่าพ่อผมเดินได้ดีขึ้นครับ น่าแปลกมาก ผมเลยมาเล่าให้หมอฟัง เผื่อคนอื่นๆ จะได้นำไปใช้ได้”

หลักการดังกล่าวเรียกว่า cue หรือตัวช่วยในผู้ป่วยพาร์กินสันครับ ในกรณีที่ไม่มีตัวช่วยใดๆ ผู้ป่วยจะเริ่มออกเดินยากมาก เดินไม่ได้เลยในบางคน แต่ปรากฏว่าขี่จักรยานได้ หรือพอมีการใช้ตัวช่วย เช่น ส่องไฟไปที่ทางเดิน ให้ผู้ป่วยเห็นแสงไฟที่พื้นก็สามารถออกก้าวเดินได้ ซึ่งลูกชายของผู้ป่วยรายนี้ ก็ใช้ตัวช่วย ด้วยการออกแบบทางเดินที่พื้นเป็นลักษณะการขีดเส้นไว้ ด้วยการปูกระเบื้องให้เป็นเส้นขีดไว้เลย

อย่างนี้เรียกว่า สุดยอดนวัตกรรม เลยครับท่าน