พักตับก่อนตับแข็ง (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

พักตับก่อนตับแข็ง

ปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาโรคตับแข็งได้ มีเพียงวิธีที่จะหยุดหรือชะลอการทำลายเซลล์ตับให้ช้าลงและลดอาการแทรกซ้อน โดยการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เป็นโรค เช่น

  • กรณีที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะต้องหยุดการดื่มเพื่อหยุดพัฒนาการของโรค
  • กรณีที่เกิดจากการมีไขมันสะสมในตับ ก็ต้องลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ที่สำคัญต้องรักษาระดับโปรตีนที่พอเพียงด้วย
  • กรณีที่เกิดจากการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ แพทย์อาจสั่งยาสเตียรอยด์หรือยาต้านไวรัสเพื่อไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลาย
  • หากเกิดจากภูมิต้านทานทำร้ายตัวเอง (Autoimmune diseases) โรควิลสัน (Wilson's disease) หรือ ภาวะธาตุเหล็กเกิน (Hemochromatosis) การรักษาก็จะแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ อาจมีการให้ยาเพื่อควบคุมอาการของโรค อาการบวมน้ำ (Edema) และน้ำขังในช่องท้อง (Ascites) บางส่วนรักษาด้วยการลดเกลือในอาหาร และใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)

นอกจากนี้ อาจให้ยาระบาย (Laxatives) เช่น ยาแลคตูโลส (Lactulose) เพื่อช่วยดูดซึมสารพิษและเร่งขับออกจากลำไส้ การให้อาหารเสริมเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ส่วนการปลูกถ่ายตับอาจจำเป็นในผู้ที่มีอาการตับแข็งรุนแรง

สำหรับการรักษาอาการแทรกซ้อนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยการให้ยาและเปลี่ยนแปลงอาหาร หากรักษาไม่ได้ผล อาจต้องทำการปลูกถ่ายตับ อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาที่ดีสามารถที่จะช่วยลดผลกระทบของโรคตับแข็งและสามารถชะลอหรือป้องกันความจำเป็นที่จะต้องปลูกถ่ายตับได้

ในส่วนการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคตับแข็งนั้นทำได้โดย

  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มให้จำกัดปริมาณและความถี่ในการดื่ม เพราะไม่เพียงแต่ผู้ที่ดื่มมากเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นโรคตับแข็ง หากมีการดื่มเกินวันละ 2 แก้วต่อวัน ความเสี่ยงก็มากขึ้นแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนโดยไม่มีการป้องกัน
  • ระวังสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดและยาฆ่าแมลง หากต้องสัมผัสบ่อยควรใส่ถุงมือหรือสวมหน้ากากป้องกัน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ
  • กินอาหารที่มีโซเดียมต่ำ เพื่อป้องกันอาการบวมน้ำ
  • กินอาหารให้ครบหมู่ที่มีไขมันต่ำ กินผัก ผลไม้ และวิตามิน
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี เพราะน้ำหนักตัวที่มากสามารถทำให้เกิดไขมันที่ตับอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคตับ
  • ระวังเรื่องการใช้ยา หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่มีผลต่อตับ เช่น ยา Aspirin และยา Ibuprofen

แหล่งข้อมูล

1. Cirrhosis of the Liver. http://www.webmd.com/digestive-disorders/cirrhosis-liver [2016, August 29].

2. Cirrhosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cirrhosis/home/ovc-20187218 [2016, August 29].

3. Cirrhosis (Liver). http://www.medicinenet.com/cirrhosis/article.htm [2016, August 29].