พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย หรือโรคติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด (Enterobiasis) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารจากพยาธิชื่อ พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) หรืออีกชื่อคือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm) ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์ของพยาธินี้ คือ Enterobius vermicularis

 

พยาธิเส้นด้าย เป็นโรคพบได้บ่อยทั่วโลกในทุกเพศ และในทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ทั้งนี้ ผู้ใหญ่มักติดพยาธินี้จากเด็ก/ลูกๆ

 

พยาธิเส้นด้ายมีลักษณะเป็นอย่างไร?

พยาธิเส้นด้าย

พยาธิเส้นด้าย เป็นพยาธิตัวกลมที่มีขนาดเล็ก มีสีขาวคล้ายเส้นด้าย ตัวผู้โตเต็มวัยจะมีขนาดยาว 2-5 มิลลิเมตร ตัวเมียโตเต็มวัยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยทั่วไป พยาธิเส้นด้ายจะมีอายุประมาณ 2 เดือน

 

คนติดพยาธิเส้นด้ายได้อย่างไร?

คนติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายได้โดย

  • รับประทานอาหารหรือน้ำที่มีตัวอ่อนระยะที่ 3 (ตัวอ่อนพยาธิเส้นด้ายมี 3 ระยะ ตัวอ่อนระยะที่ติดต่อได้ คือ ตัวอ่อนระยะที่ 3) ของพยาธิเส้นด้ายปะปนอยู่โดยเฉพาะน้ำที่ไม่ได้ต้มสุกหรืออาหารที่ไม่สะอาด
  • การติดต่ออีกวิธีหนึ่งคือ ตัวอ่อนระยะที่ 3 ไชเข้าผิวหนังโดยตรงจากตัวอ่อนระยะที่ 3 ที่อยู่ในดินโดยเฉพาะบริเวณเท้าในคนที่เดินเท้าเปล่า
  • การติดเชื้ออีกแบบคือ จากไข่พยาธิ ที่พยาธิตัวเมียไข่ออกมาบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ซึ่งไข่นี้จะมาอยู่ที่บริเวณทวารหนัก จะฟักเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อที่บริเวณทวารหนัก จากนั้นตัวอ่อนระยะที่ 3 จะไชกลับเข้าร่างกายทางผิว หนังรอบปากทวารหนัก เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันก้นโดยเฉพาะเวลากลางคืน จากนั้นพยาธิตัวอ่อนจะไปสู่ปอดทางกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการไอ หรือไข้จากปอดอักเสบได้ถ้าตัวอ่อนมีจำนวนมาก จากนั้นตัวอ่อนจะถูกกลืนจากเสมหะลงลำไส้ เจริญกลายเป็นตัวแก่ต่อไป การติดเชื้อแบบนี้จะเห็นว่าผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้พยาธิเพิ่มจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ก็สามารถมีปริมาณพยาธิเพิ่มขึ้นในร่างกายได้เอง ถึงแม้ผู้ป่วยจะออกจากสิ่งแวดล้อมที่มีพยาธิแล้ว แต่โรคก็ไม่หายขาด เพราะการได้รับพยาธิตัวอ่อนเข้าสู่ผิวหนังรอบปากทวารหนักนี่เอง ซึ่งลักษณะการติดเชื้อเช่นนี้ เรียกว่า Autoinoculation
  • การติดเชื้ออีกแบบคือ ไข่ที่อยู่บริเวณทวารหนัก/ปากทวารหนัก จะติดไปกับนิ้วและซอกเล็บของผู้ป่วยจากการเกาที่ปากทวารหนัก เพราะผู้ป่วยจะมีอาการคันก้นมาก เมื่อผู้ป่วยอมนิ้วหรือเอานิ้วเข้าปากเวลาทานอาหาร ไข่ที่ติดอยู่ที่นิ้วและเล็บจะเข้าปาก ลงสู่ลำไส้ เจริญเติบ โตกลายเป็นตัวแก่ต่อไป

 

วงจรชีวิตของพยาธิเส้นด้ายเป็นอย่างไร?

วงจรชีวิตของพยาธิเส้นด้าย คือ ตัวแก่ของพยาธินี้จะอยู่ในลำไส้เล็กทั้งส่วนกลางและส่วนปลาย ไส้ติ่ง และลำไส้ใหญ่ส่วนต้นของมนุษย์ ตัวแก่ตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ออกไข่ปนออกมากับอุจจาระ โดยบางส่วนจะกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ปนออกมาในอุจจาระด้วย ไข่จะออกมากับอุจจาระทำให้สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระของผู้ป่วย ไข่ที่ผสมแล้วจะเจริญเป็น

  • ตัวอ่อนระยะที่ 1
  • ระยะที่ 2
  • และระยะที่ 3 ที่เป็นระยะติดต่อสู่ตนเองหรือสู่ผู้อื่นได้

 

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้ถ่ายอุจจาระลงส้วม ไข่จะอยู่ในดินหรือปะปนอยู่ในน้ำ หรือกลายเป็นตัวอ่อน ถ้ามีคนอื่นดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่มีไข่พยาธิ หรือตัวอ่อนระยะที่ 3 เข้าไป เปลือกไข่พยาธิจะไปแตกในลำไส้ หลังจากนั้นตัวอ่อนของพยาธิที่ออกมาจากไข่ หรือที่กินเข้าไปจะเจริญกลายเป็นตัวแก่ตัวผู้และตัวเมียต่อไป

 

มนุษย์เป็น ตัวให้อาศัย (Host, ที่อยู่อาศัยที่ให้การเจริญเติบโตและ/หรือการสืบพันธุ์) ของพยาธิตัวนี้ได้ โดยไม่ต้องอาศัยสัตว์ชนิดอื่นร่วมในวงจรชีวิตด้วย

 

ตัวแก่ตัวผู้ จะตายหลังจากผสมพันธุ์ที่บริเวณลำไส้เล็กและถูกย่อยสลายไป จึงไม่ค่อยพบพยาธิตัวแก่ตัวผู้ในอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนพยาธิตัวเมียจะตายหลังจากออกไข่แล้วประมาณ 10,000-15,000 ฟองในบริเวณลำไส้ใหญ่ จึงสามารถพบพยาธิตัวเมียปนออกมากับอุจจาระให้ตรวจพบได้

 

ไข่และพยาธิตัวอ่อนสามารถปนออกมาในอุจจาระให้ตรวจพบได้ เมื่ออุจจาระลงดิน ไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนพร้อมที่จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ที่ได้รับไข่ และจะกลายเป็นตัวแก่ต่อไป นอก จากนั้นไข่อาจจะเจริญเป็นตัวอ่อนที่รอบทวารหนัก ไชเข้าผิวหนังรอบทวารหนักเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ต้องผ่านการลงดินก็ได้ (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ คนติดพยาธินี้ได้อย่างไร)

 

ทั้งนี้ กระบวนการเหล่านี้ จะวนเวียนเป็นวงจรชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ถ้าไม่มีการรักษาและป้องกันโรค

 

อาการของโรคพยาธิเส้นด้ายเป็นอย่างไร?

อาการของโรคพยาธิเส้นด้าย สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • อาการสำคัญที่สุดคือ อาการคันก้นในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่พยาธิออกไข่ และตัวอ่อนไชผิวหนังรอบปากทวารหนัก ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กจะนอนไม่หลับเพราะคันก้น ร้องกวนงอแง และ
    • จะพบว่าบางรายผิวหนังรอบปากทวารหนักจะอักเสบบวมแดง หรือกลายเป็นแผลจากการเกาบ่อยๆ
    • บางครั้งในผู้ป่วยเด็กหญิง อาจจะมีอาการคันช่องคลอดเนื่องจากพยาธิพลัดหลงมาที่ช่องคลอด เกิดช่องคลอดอักเสบได้
    • และเคยมีรายงานผู้ป่วยเด็กหญิงมี ปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis) จากพยาธิตัวนี้ได้
  • อาการที่เกิดจากพยาธิตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด ได้แก่
    • ไอ
    • แน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย
    • มีไข้
    • อาการคล้ายปอดอักเสบ และเมื่อตรวจเสมหะด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจพบตัวอ่อนปนออกมาได้ในเสมหะ ซึ่งตัวอ่อนนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
  • อาการที่เกิดจากพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กที่มีจำนวนมาก ได้แก่ อาการ
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลด
    • หรือ ขาดอาหาร (ภาวะทุโภชนา) โดยเฉพาะในเด็ก
    • อาจเกิดอาการ ลำไส้เล็กอักเสบ เป็นแผล และ/หรือมีเลือดออกจากลำไส้เล็ก /เลือดออกในทางเดินอาหารได้
  • ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ได้รับยาสเตียรอยด์, ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง, โรคเอดส์ อาจเกิดการแพร่กระจายของพยาธิตัวนี้จากลำไส้ไปยังอวัยวะอื่นๆทั่วร่างกายได้ เรียกภาวะนี้ว่า ‘Disseminated enterobiasis’

 

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • ผู้ป่วยมีอาการคันก้นเวลากลางคืนบ่อยผิดปกติโดยเฉพาะในเด็ก เพื่อรับการตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิ หรือหาตัวอ่อนในอุจจาระ หรือตรวจหาไข่/ตัวอ่อนด้วยวิธีที่เรียกว่า Scotch Tape technique (อ่านวิธีการตรวจในหัวข้อถัดไป)
  • ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด ผิดปกติ

 

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิเส้นด้ายอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิเส้นด้าย ได้โดย

  • ตรวจอุจจาระ พบไข่พยาธิลักษณะเป็นสีน้ำตาลรูปคล้ายตัว D หรือตัวอ่อนที่ฟักตัวออกจากไข่ปนอยู่ในอุจจาระ วิธีที่นิยมใช้กันคือ Scotch Tape technique โดยใช้สก๊อตเทปใส ด้านที่เหนียวแปะที่รอบปากทวารหนักเด็ก เพื่อให้ไข่พยาธิติดมากับเทป แล้วนำเทปมาแปะบนสไลด์แก้ว (Slide, แผ่นแก้วใส ที่ใช้ในการตรวจด้วยกลองจุลทรรศน์) ตรวจด้วยกล้องจุล ทรรศน์ จะเห็นไข่พยาธิได้อย่างชัดเจน การตรวจมักจะเลือกเวลาเช้าก่อนอาบน้ำ เพราะพยาธิมักออกไข่ตอนกลางคืน การตรวจในเวลานี้ก่อนอาบน้ำจึงมีโอกาสพบไข่ได้สูง
  • พบตัวแก่ขนาดโตเต็มที่หลุดออกมากับอุจจาระ โดยมากจะเป็นตัวแก่ตัวเมียที่ตายแล้วหลังจากการออกไข่ พบได้จากการตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพราะพยาธิตัวนี้มีขนาดเล็ก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าลำบาก

 

แพทย์รักษาโรคพยาธิเส้นด้ายอย่างไร?

แพทย์รักษาโรคพยาธิเส้นด้ายโดยการให้กินยาถ่ายพยาธิ เช่น

1.ยา Thiabendazole

2.ยา Albendazole

 

อนึ่ง การรักษา ควรให้ยารักษาทุกคนในบ้านเดียวกัน เพราะพยาธิตัวนี้ติดต่อกันง่าย และในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคบางครั้งไม่มีอาการชัดเจนเหมือนในเด็ก

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นพยาธิเส้นด้าย?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิเส้นด้าย คือ

  • รับประทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ
  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การดื่มน้ำและการกินอาหารที่สะอาด, ล้างมือบ่อยๆ, ตัดเล็บผู้ป่วยให้สั้น, ซักเสื้อผ้าเป็นประจำเพราะไข่พยาธิอาจติดไปตามเสื้อผ้า เช่น กางเกงในได้

 

โรคพยาธิเส้นด้ายรักษาหายไหม? รักษานานเท่าไร?

การพยากรณ์โรคของโรคพยาธิเส้นด้าย หรือโอกาสรักษาหาย คือ

  • โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หลังจากรับประทานยาไม่เกิน 3 สัปดาห์
  • ซึ่งสามารถทราบได้ว่ารักษาหายขาดแล้ว โดยการตรวจอุจจาระไม่พบไข่พยาธิ หรือตัวอ่อนของพยาธิอีกต่อไป

 

ผลข้างเคียงของการติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของการติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายที่อาจพบได้ คือ

  • ผิวหนังรอบปากทวารหนักอักเสบเป็นแผลจากการเกา หรือมีการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนเป็นหนองได้
  • ขาดอาหาร (ภาวะทุโภชนา) โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากพยาธิแย่งอาหารในลำไส้ อาการนี้จะเป็นเฉพาะผู้ป่วยที่มีพยาธิจำนวนมากเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเช่นนี้
  • การแพร่กระจายของตัวอ่อนไปทั่วร่างกายในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อาจก่อให้เกิด ปอดอักเสบ ได้ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ติดโรคได้อย่างไร

 

ป้องกันติดพยาธิเส้นด้ายได้อย่างไร?

ป้องกันติดพยาธิเส้นด้าย ได้โดย

  • ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน
  • ล้างมือให้สะอาด ฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติด ตามมือและนิ้ว
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งโดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ผู้อื่นได้
  • ล้างมือเด็กบ่อยๆ เพราะเด็กชอบดูดมือและนิ้ว ถ้ามือเด็กสกปรกอาจมีไข่พยาธิเข้าปากได้ และตัดเล็บเด็กให้สั้นเสมอ
  • รับประทานอาหารสะอาด และสุกทั่วถึง ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำที่ผ่านการกรองอย่างถูก ต้อง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำได้
  • ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิปะ ปนมาได้ สวนผักบางแห่งอาจใช้อุจจาระเป็นปุ๋ยรดต้นผัก
  • สำหรับผู้ทำอาหาร หรือเตรียมอาหาร ต้องล้างมือฟอกสบู่ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร
  • ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำและการกินอาหารเป็นพิเศษ
  • ไม่นำอุจจาระมาเป็นปุ๋ยรดผัก
  • ซักเสื้อผ้า เครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดตัว) เมื่อใช้แล้วเสมอ เพราะไข่พยาธิอาจติดไปกับเสื้อผ้า/เครื่องใช้ ได้ โดยเฉพาะกางเกงใน ซักผ้าปูที่นอนบ่อยๆ นำเครื่องนอนและเสื้อผ้าตากแดดเพื่อทำลายไข่พยาธิ
  • ควรใช้ชุดนอนเด็กให้กระชับป้องกันการเกาก้น

 

บรรณานุกรม

  1. http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/4-5/no12/payadsendai.html [2019,June8]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/225652-overview#showall [2019,June8]
  3. https://www.cdc.gov/dpdx/enterobiasis/index.html [2019,June8]
  4. https://www.healthline.com/health/pinworms#symptoms [2019,June8]