ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม (ตอนที่ 2)

ฝ่าความเงียบด้วยประสาทหูเทียม

การสูญเสียการได้ยินมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่อน ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเซลล์ขนที่เสียหายหรือถูกทำลาย โดยผู้ที่สูญเสียการได้ยินระดับอ่อนหรือระดับปานกลางสามารถช่วยได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) ส่วนผู้ที่สูญเสียการได้ยินระดับรุนแรงนั้นเครื่องช่วยฟังอาจใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องอาศัยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม

การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear Implants) เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยแก้ปัญหาของหูชั้นในด้วยการฝังเครื่องมือที่ทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณเสียงแทนอวัยวะรับเสียงที่เสียไป โดยเครื่องนี้จะเปลี่ยนสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นประสาทรับเสียงต่อไปยังสมอง ทำให้สามารถได้ยินเสียงเหมือนผู้ที่มีการได้ยินปกติ

การผ่าตัดฝังเครื่องประสาทหูเทียมนี้ใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง จะทำเพียงครั้งเดียวแล้วสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต โดยอุปกรณ์ประสาทหูเทียมมี 2 ส่วน คือ อุปกรณ์ภายใน และ อุปกรณ์ภายนอก

  • อุปกรณ์ภายใน (Implant package) ประกอบด้วย
    • ตัวรับสัญญาณ (Receiver-stimulator) ที่บรรจุวงจรอิเล็คโทรนิคซึ่งควบคุมการไหลของสัญญาณไฟฟ้าในหู
    • เสาอากาศ (Antenna) ที่รับสัญญาณจากเสียงภายนอกและอุปกรณ์แปลงสัญญาณ (Sound and speech processor)
    • แม่เหล็ก (Magnet) ที่ยึดระหว่างเสียงภายนอกและอุปกรณ์แปลงสัญญาณ
    • สาย (Wire) ที่บรรจุอิเลคโทรด (Electrodes) ที่ผ่าตัดสอดฝังไว้ในโคเคลีย (Cochlea) โดยอิเลคโทรดจะทำหน้าที่คล้ายเซลล์ขนในการกระตุ้นประสาทการได้ยิน และส่งสัญญาณต่อไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน
  • อุปกรณ์ภายนอก เป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณ (Sound and speech processor) มีลักษณะเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Minicomputer) ที่ประมวลเสียงเป็นข้อมูลเเบบดิจิตัล แล้วส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ภายในในลักษณะของสัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์แปลงสัญญาณมีรูปร่างเหมือนเครื่องช่วยฟังปกติ ซึ่งอาจเป็นแบบทัดหลังหูหรือใส่ในกระเป๋าหรืออื่นๆ โดยส่วนประกอบของอุปกรณ์ภายนอกประกอบด้วย
    • อุปกรณ์แปลงสัญญาณ (Sound and speech processing device)
    • ไมโครโฟน (Microphone) ขยายเสียงที่มากระทบ
    • ตัวส่งสัญญาณ (Transmitter) ไปยังอุปกรณ์ภายใน ซึ่งรวมถึงแม่เหล็กที่ยึดให้อุปกรณ์ภายนอกและภายในอยู่ในแนวเดียวกัน

ทั้งนี้ อุปกรณ์ภายนอกและอุปกรณ์ภายในยึดแนบติดกันด้วยแม่เหล็กผ่านหนังศีรษะบริเวณหลังใบหู โดยแม่เหล็กชิ้นนอกอยู่ที่อุปกรณ์ติดศีรษะ (Headpiece) และแม่เหล็กชิ้นในอยู่ที่อุปกรณ์ภายในกะโหลกศีรษะ โดยประสาทหูเทียมจะทำงานได้เมื่ออุปกรณ์ภายนอกและอุปกรณ์ภายในอยู่ในแนวเดียวกัน

แหล่งข้อมูล

1. Cochlear implant. http://kidshealth.org/en/parents/cochlear.html [2016, June 16].