ฝืนไม่ไหว ใจให้หยิบ (ตอนที่ 2)

ฝืนไม่ไหวใจให้หยิบ

โรคคลีฟโทมาเนียเป็นความผิดปกติในการควบคุมแรงกระตุ้น (Impulse control disorder) ชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมหรืออารมณ์ของตนเองได้ จนทำให้เกิดการกระทำที่มากเกินไปหรือร้ายแรง พบได้ประมาณร้อยละ 0.3-0.6 ของประชากรทั่วไป โดยร้อยละ 4-24 ของพวกนักขโมยจะเป็นโรคคลีฟโทมาเนีย

อาการของโรคคลีฟโทมาเนียที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • ไม่สามารถต้านทานต่อแรงกระตุ้นให้ขโมยสิ่งของที่ไม่ได้มีความจำเป็น
  • รู้สึกมีความเครียด ความวิตกกังวล หรือการยั่วยุ ที่ทำให้อยากขโมย
  • รู้สึกยินดี ได้ปลดปล่อย หรือพึงพอใจ ขณะที่กำลังขโมย
  • รู้สึกผิดอย่างมาก สำนึกผิด (Remorse) รังเกียจตัวเอง (Self-loathing) ละอาย หรือกลัวการโดนจับหลังจากขโมย,/li>
  • กลับมามีแรงกระตุ้นและมีวงจรของโรคคลีฟโทมาเนียเกิดขึ้นซ้ำอีก

ผู้ป่วยโรคคลีฟโทมาเนียจะมีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้

  • ไม่เหมือนนักขโมยทั่วๆ ไป ผู้ป่วยโรคคลีฟโทมาเนียไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องขโมยสิ่งของ เป็นการขโมยเพียงเพราะว่ามีแรงกระตุ้นที่ตัวเองไม่สามารถขัดขืนได้
  • การลงมือขโมยมักเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และไม่ได้ต้องการการช่วยเหลือหรือร่วมมือกับคนอื่น
  • มักจะขโมยสิ่งของที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร และตัวเองก็สามารถหาซื้อได้เอง
  • ของที่ขโมยได้มักจะถูกเก็บซ่อนไว้ ไม่ได้นำออกมาใช้ อาจจะเอาไปบริจาคหรือให้คนอื่น หรือนำกลับไปวางคืนที่เดิม
  • แรงกระตุ้นในการขโมยอาจจะกลับมาอีก หรืออาจจะเกิดมากขึ้น หรือน้อยลงก็ได้

และโรคคลีฟโทมาเนียอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • จูงใจให้ติดการพนันหรือช้อปปิ้ง (Compulsive gambling or shopping)
  • ถูกจับเพราะขโมยของ
  • ถูกจำคุก
  • ติดสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  • กินผิดปกติ
  • ซึมเศร้าหดหู่
  • วิตกกังวล

ทั้งนี้ ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของโรคคลีฟโทมาเนียที่แท้จริง หลายทฤษฏีอ้างว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมอง โดยสันนิษฐานว่า

  • มีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสารเคมีในสมองที่เรียกว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยควบคุมอารมณ์ความรู้สึก โดยการมีระดับสารเซโรโทนินที่ต่ำมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ขาดความยั้งคิด
  • มีความเกี่ยวเนื่องกับความผิดปกติของการเสพติด (Addictive disorders) การขโมยเป็นสาเหตุให้มีการหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งทำให้มีความรู้สึกยินดี จนบางคนจะแสวงหาความรู้สึกนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
  • มีความเกี่ยวเนื่องกับสารโอปิออยด์ของสมอง (Brain's opioid system) ความไม่สมดุลของระบบนี้ทำให้ยากที่จะต้านทานต่อแรงกระตุ้นได้

บรรณานุกรม

1. Kleptomania. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/kleptomania/basics/definition/con-20033010 [2017, February 9].

2. Kleptomania. http://my.clevelandclinic.org/health/articles/kleptomania [2017, February 9].