ผ่าตัดต้อกระจก หนึ่งหมื่นราย (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

สารบัญ

หลังจากที่ผ่าเอาเลนส์ธรรมชาติ (Natural lens) ออก มักจะมีการใส่เลนส์ “แก้วตาเทียม” (Intraocular lens = IOL) แทน โดยเลนส์แก้วตาเทียมเป็นเลนส์พลาสติกใส และจะติดอยู่ที่ตาเป็นการถาวร ช่วยให้แสงตกกระทบจอรับภาพดีขึ้น ทำให้การมองเห็นชัดขึ้น แต่บางคนก็ไม่อาจใช้เลนส์แก้วตาเทียมได้ เพราะมีโรคตาหรือปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัด สำหรับกรณีนี้อาจแนะนำให้ใช้เลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม (Soft contact lens) หรือแว่นสายตาที่มีกำลังขยายสูงแทน

การผ่าตัดอาจมีความเสี่ยง เช่น การติดเชื้อ และ เลือดออก (Bleeding) ดังนั้นก่อนการผ่าตัดแพทย์อาจขอให้หยุดการใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงจากเลือดออกระหว่างการผ่าตัด หลังการผ่าตัดต้องรักษาความสะอาดที่ตา ล้างมือก่อนสัมผัสตา และใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้

การผ่าต้อกระจกอาจเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยของจอประสาทตาลอก (Retinal detachment) นอกจากนี้การมีภาวะสายตาสั้นมาก (High myopia) อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นจอประสาทตาลอกหลังการผ่าตัดด้วย อาการอย่างหนึ่งที่แสดงว่าจอประสาทตาลอกก็คือ การมีแสงวาบ (Flashes) หรือ มีจุดแต้มหรือลักษณะเหมือนใยแมงมุมเล็กๆ (Floaters) ลอยอยู่ในภาพที่เห็น

หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะจอประสาทตาลอกจะไม่มีอาการเจ็บ การรักษาจอประสาทตาโดยเร็วจะช่วยป้องกันตาบอด ยิ่งรักษาได้เร็วเท่าใด โอกาสที่จะกลับมามองเห็นได้ดีก็มีเท่านั้น อย่างไรก็ดีแม้บางครั้งจะรักษาทันทีแต่ก็อาจสูญเสียการมองเห็นได้

ประมาณ 1- 2 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด แพทย์จะทำการตรวจตาเพื่อวัดความโค้งของกระจกตา (Cornea) ขนาด และรูปร่างของตา เพื่อใช้ในการเลือกเลนส์แก้วตาเทียมได้อย่างเหมาะสม ระหว่างการผ่าตัด จะมีการหยอดยาขยายรูม่านตา ทำความสะอาดตาและรอบดวงตา การผ่าตัดใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง และไม่มีอาการเจ็บปวด บางคนอาจเลือกที่จะรู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัด ในขณะที่บางคนอาจต้องการการวางยานอนหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ

หากเป็นการรู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัด จะมีการฉีดยาชาที่ตาและรอบตา หลังการผ่าตัดจะให้ผู้ป่วยพักสักระยะหนึ่ง เพื่อรอดูว่ามีอาการเลือดออกหรือไม่ แล้วจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ อาการคันและไม่สบายตัวเล็กน้อยหลังการผ่าตัดเป็นอาการปกติ ตาอาจไวต่อแสงหรือสัมผัส หลังจากนั้นประมาณ 1- 2 วัน อาการจะดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาหยอดตาเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ให้ใส่ที่คลุมตาหรือแว่นตาเพื่อป้องกันตา และหลีกเลี่ยงการขยี้ตาหรือการกดทับลงบนตา อย่าพยายามก้มเพื่อหยิบของ และห้ามยกของหนัก

โดยทั่วไปการรักษาจะจบลงภายใน 8 สัปดาห์ แพทย์จะนัดตรวจเพื่อติดตามผล ปัญหาที่อาจเกิด (แต่ไม่ค่อยพบ) หลังการผ่าตัด ได้แก่ การติดเชื้อ เลือดออก อักเสบ (ปวดตา ตาแดง และตาบวม) การสูญเสียการมองเห็น การมองเห็นภาพซ้อน และการมีความดันในลูกตาสูงหรือต่ำ บางทีเนื้อเยื่อตาที่ติดกับเลนส์แก้วตาเทียมอาจขุ่นและทำให้เห็นภาพมัว ภาวะนี้เรียกว่า After-cataract ซึ่งอาจเกิดอยู่เป็นเดือนหรือเป็นปีหลังการผ่าตัด

การรักษา After-cataract ทำได้โดยการยิงเลเซอร์ จนเกิดรูเล็กๆ ที่เนื้อเยื่อหลังเลนส์ตาเพื่อให้แสงผ่านได้ วิธีนี้เรียกว่า การยิงเลเซอร์ถุงหุ้มเลนส์ตาขุ่น (YAG-Capsulotomy) ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ทั้งยังไม่ได้เพิ่มความดันในตาหรือทำให้เกิดปัญหาตาอื่นๆ แต่เพื่อความปลอดภัย แพทย์อาจให้ยาหยอดเพื่อลดความดันในตาก่อนหรือหลังการผ่าตัดก็ได้

แหล่งข้อมูล

  1. Cataract Defined - http://www.nei.nih.gov/health/cataract/cataract_facts.asp [2013, February 1].
  2. Cataract - http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001996/ [2013, January 30].