ปักเป้าพ่นพิษ (ตอนที่ 1)

ปักเป้าพ่นพิษ-1

บีบีซีรายงานว่า ทางการเมืองกามาโกริ ประเทศญี่ปุ่น ต้องออกประกาศเตือนภัยประชาชนเป็นการด่วนหลังจากมีการพบปลาปักเป้าที่วางจำหน่ายในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตของเมือง 5 แพคยังไม่ได้เอาพิษออกว่างจำหน่าย โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถตามเก็บได้แล้ว 3 แพค เหลืออีก 2 แพ็คที่ยังไม่ทราบว่ามีใครซื้อไป และร้องขอให้ผู้ที่ซื้อไปห้ามรับประทานและนำมาส่งให้ทางการด่วน

ทั้งนี้สำหรับปลาปักเป้ามีส่วนที่เป็นพิษเรียกว่า "เทโทรโดท็อกซิน" พบมาในบริเวณตับ ไข่ ลำไส้ และผิวหนังของปลา ซึ่งหากรับประทานจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ถึงขั้นเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด โดยปลาปักเป้านี้จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองและฝึกฝนนานนับปีถึงจะทำการแร่ปลาชนิดนี้ได้ ซึ่งในทุกปีจะมีผู้ได้รับพิษจากปลาชนิดนี้เสมอ

เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin = TTX)) เป็นชื่อเรียกพิษที่อยู่ในตัวปลาปักเป้า โดยปลาปักเป้าหรือฟุกุในภาษาญี่ปุ่น ถือเป็นอาหารเลิศและราคาแพงในช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม-มีนาคม) การทำเนื้อปลาปักเป้าเพื่อบริโภคนั้น เชฟหรือพ่อครัวจะต้องมีใบอนุญาตถึงจะสามารถประกอบเป็นอาหารได้

และแม้ว่าจะมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองและฝึกฝนนานนับปีในการแร่ปลาก็ตาม จากรายงานในประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงพบผู้เสียชีวิตจากพิษปลาปักเป้าถึงปีละประมาณ 50 ราย

ซึ่งนอกจากจะพบพิษของเทโทรโดท็อกซินจากปลาปักเป้าแล้ว เรายังสามารถพบพิษลักษณะนี้ได้จาก

  • หอยทากที่อยู่ไฟลัมมอลลัสกา (Gastropod mollusk)
  • ไข่แมงดาทะเล (The eggs of horseshoe crabs)
  • ตัวนิวท์ที่อยู่ในตระกูลตาริชา (Newts of the genus Taricha)
  • ผิวหนังของกบอทิโลปิด (The skin of Atelopid frogs)
  • ผิวหนังและเครื่องในของวงศ์ปลาปักเป้าฟันสองซี่ (Porcupinefish, Globefish, Balloon fish, Blowfish, Sunfish, Toadfish, Blue-ringed octopus) และจิ้งจกน้ำ (Salamanders) บางสายพันธุ์

เทโทรโดท็อกซินมีความเป็นพิษมาก ทนต่อความร้อน (ยกเว้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นด่าง) และเป็นสารละลายน้ำได้ที่ไม่ใช่โปรตีน (Water-soluble nonprotein) โดยพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางการกิน การฉีด การหายใจ หรือทางผิวหนังที่มีแผลถลอก

เทโทรโดท็อกซินจะพบมากในตับ อวัยวะเพศ และผิวหนังของปลาปักเป้า และระดับพิษจะขึ้นกับสายพันธุ์ แหล่งที่มา และฤดูกาลที่เปลี่ยนไป โดยพิษของเทโทรโดท็อกซินเพียง 1-2 มิลลิกรัม ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้

เทโทรโดท็อกซินมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous systems) ระบบประสาทนอกส่วนกลาง (Peripheral nervous systems) และยังมีผลกระตุ้นเมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata) ซึ่งเป็นสมองส่วนล่างสุดที่ต่อกับกระดูกไขสันหลังตรง โดยไปกดระบบทางเดินหายใจและศูนย์ควบคุมหลอดเลือด (Vasomotor centers) ในบริเวณนั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. พบ "ปลาปักเป้า" ยังไม่นำพิษออกวางขายในญี่ปุ่น. https://www.posttoday.com/world/news/535685 [2018, January 20].
  2. Tetrodotoxin Toxicity. . https://emedicine.medscape.com/article/818763-overview [2018, January 20].
  3. Tetrodotoxin. hhttps://en.wikipedia.org/wiki/Tetrodotoxin [2018, January 20].