ปอดอักเสบในเด็ก (ตอนที่ 3)

ปอดอักเสบในเด็ก

กรณีที่อักเสบในช่วงล่างของปอดที่ใกล้บริเวณช่องท้อง เด็กอาจจะมีไข้ ปวดท้อง หรืออาเจียน แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจ

กรณีที่เด็กติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะป่วยค่อนข้างเร็ว เริ่มต้นด้วยการมีไข้สูงและหายใจเร็วผิดปกติ

อาการบางอย่างอาจเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ติดเชื้อชนิดใดได้ เช่น ในเด็กโตหรือวัยรุ่นที่มีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ และเป็นผื่น นอกเหนือจากอาการปอดอักเสบปกติ จะสันนิษฐานว่าเกิดจากเชื้อมัยโคพลาสมา (Mycoplasma) หรือที่เรียกว่า “โรคปอดอักเสบเดินได้” (Walking pneumonia) เพราะคนไข้ยังคงเดินไปมา ใช้ชีวิตเหมือนปกติ ทั้งที่เจ็บป่วยจากอาการของโรคอยู่

ในเด็กทารก กรณีปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อคลามัยเดีย (Chlamydia) อาจจะทำให้มีตาแดง (Pinkeye) เพราะเยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) เป็นไข้เล็กน้อยหรือไม่มีไข้เลย แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกิดจากติดเชื้อโรคไอกรน (Pertussis) เด็กจะมีอาการไอนาน คล้ำเพราะขาดอากาศ หรือมีเสียงดังเสียงดังวู้ปๆ (Whoop sound) เมื่อพยายามที่จะหายใจ

เชื้อเหล่านี้สามารถติดต่อได้ด้วยของเหลวในปากหรือจมูกจากการไอหรือจาม การใช้แก้วหรือภาชนะเดียวกันในการกิน การสัมผัสกับทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าของผู้ป่วยที่มีเชื้อ นอกจากนี้เชื้อปอดอักเสบอาจจะติดต่อกันได้ทางเลือด โดยเฉพาะระหว่างคลอดและหลังคลอดเล็กน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กติดเชื้อปอดอักเสบ ได้แก่

  • เด็กมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ได้รับสารอาหารไม่ครบ โดยเฉพาะในทารกที่ไม่ได้กินนมแม่
  • มีโรคที่เป็นอยู่ก่อน เช่น ติดเชื้อเฮชไอวี โรคหัด (Measles)
  • อยู่ในที่ที่มีมลภาวะ เช่น ควันไฟหุงอาหาร ควันรถยนต์
  • อยู่ในบ้านที่แออัด
  • พ่อแม่มีการสูบบุหรี่

แพทย์จะวิเคราะห์โรคเด็กด้วยการดูสภาพร่างกาย การหายใจ ตรวจสัญญาณชีพ (Vital signs) และ

  • ฟังเสียงหายใจด้วยหูฟังของแพทย์ (Auscultation by stethoscope)
  • เพาะเชื้อ (Cultures)
  • วิทยาเซรุ่มหรือการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Serology)
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood cell count = CBC)
  • ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest radiography)
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasonography)

บรรณานุกรม

1. แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก. http://www.thaihealth.or.th/Content/33883-แนะสังเกตอาการปอดอักเสบในเด็ก.html [2016, December 7].