ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โดย นายแพทย์ เฉลียว พูลศิริปัญญา
- 11 มกราคม 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ปอดบวม ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ เหมือนกันหรือไม่?
- ลักษณะปอดที่บวมเป็นอย่างไร?
- ปอดบวมเกิดได้อย่างไร? มีอาการอย่างไร?
- มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดปอดบวมไหม? มีอันตรายมากหรือไม่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคปอดบวมได้อย่างไร?
- รักษาปอดบวมได้อย่างไร?
- ปอดบวมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ควรดูแลตนเองที่บ้านอย่างไรเมื่อมีปอดบวม? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ปอดบวมป้องกันได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
บทนำ
ปอด (Lung) เป็นอวัยวะในระบบการหายใจที่อยู่ภายในทรวงอกทั้ง 2 ข้าง หากท่านไม่ทราบว่าปอดมีลักษณะอย่างไร ขอให้ท่านนึกถึงปอดหมูที่วางขายในตลาด ปอดของคนเราก็มีลักษณะเช่นเดียวกันคือเป็นเนื้อหยุ่นๆมีสีออกชมพู ปอดมีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศที่เราหายใจเข้าไปคือ ในช่วงที่เราหายใจเข้าปอดจะทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเข้าไปเลี้ยงร่างกาย และในขณะเดียวกันปอดก็จะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกมากับลมหายใจ
เวลาปอดทำงาน เนื้อปอดจะมีการยุบตัวลงและพองตัวออกเหมือนกับการยุบตัวและการพองตัวของฟองน้ำ หากท่านนึกไม่ออกขอให้นึกถึงฟองน้ำในฝ่ามือ เวลาที่เราบีบมือฟองน้ำจะยุบตัวลงเหมือนกับเนื้อปอดที่ยุบตัวในช่วงหายใจออก และในทำนองตรงกันข้ามเวลาเราคลายมือออกฟองน้ำจะพองตัวออกเหมือนกับเนื้อปอดที่พองตัวออกในช่วงหายใจเข้า
ปกติเนื้อปอดนี้เป็นอวัยวะที่ปราศจากเชื้อโรค เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆที่ไม่ ใช่เชื้อโรคก็ตามเข้าไปถึงเนื้อปอด จะส่งผลให้เนื้อปอดมีการอักเสบและมีการบวมเกิดขึ้น
ปกติคนที่มีสุขภาพดีร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดี จะขจัดเชื้อโรคและของเสียในทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคการขจัดเชื้อโรคและของเสียเหล่านี้จะบกพร่องและเสื่อมลงได้จากสาเหตุหลายประการเช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การขาดอาหาร การเจ็บป่วยต่างๆ (เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบก พร่องเช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/HIV และภาวะทุพพลภาพที่ร่างกายเคลื่อนไหวได้จำกัด) การได้รับยาบางชนิดที่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคมะเร็ง/ยาเคมีบำบัด ฯลฯ) ทั้งนี้คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลงนี้ หากปอดติดเชื้อก็จะเกิดปอดบวมได้ง่ายขึ้น และหากเกิดปอดบวมแล้วก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ได้ง่ายตามมา
ปอดบวม ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ เหมือนกันหรือไม่?
ปอดบวม/โรคปอดบวม เป็นคำที่เราคุ้นเคยและรู้จักแพร่หลายกันดีทั้งผู้ป่วย บุคคลทั่ว ไปและบุคคลากรทางการแพทย์ ทุกวันนี้จะมีคำอีก 2 คำคือ ปอดติดเชื้อ/โรคปอดติดเชื้อ และปอดอักเสบ/โรคปอดอักเสบ ที่อาจทำให้สงสัยและสับสนได้ว่าเหมือนกันกับปอดบวมหรือไม่ ซึ่งขออธิบายดังนี้
- ปอดติดเชื้อ (Lung infection): เมื่อปอดได้รับเชื้อโรคเข้าไปเนื้อปอดจะเกิดอักเสบและบวม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ และมีเสมหะ
- ปอดอักเสบ (Pneumonitis): โดยความจริงแล้วเมื่อปอดได้รับอันตรายไม่ว่าสาเหตุใดก็ตามจากทั้งเชื้อโรดและที่ไม่ใช่เชื้อโรค เนื้อปอดจะเกิดอักเสบ เมื่อใดที่มีการอักเสบจะมีการบวมเกิด ขึ้นร่วมกันเสมอ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ปอดอักเสบ ปอดก็จะบวมด้วยเช่นเดียวกัน ตามความเห็นแล้วคำว่า ปอดบวมและปอดอักเสบน่าจะมีความหมายอย่างเดียวกันและใช้แทนกันได้
- ปอดบวม (Pneumonia): เมื่อมีเชื้อโรคหรือปัจจัยอย่างอื่นก็ตามที่ไม่ใช่เชื้อโรคเข้าสู่ปอด ทั้ง 2 สาเหตุนี้ทำให้เนื้อปอดเกิดอักเสบและบวมได้ ขอทำความเข้าใจว่าปอดบวมนั้นไม่จำเป็น ต้องเกิดจากเชื้อโรคเสมอไป แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆก็ได้ จะขอยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย ดังนี้ เช่น
ตัวอย่างที่ 1: การเป็นหวัดและเป็นปอดบวม ปอดบวมในกรณีนี้เกิดจากเชื้อโรคที่บริเวณลำ คอลุกลามลงไปในปอด เป็นปอดบวมชนิดที่เกิดจากเชื้อโรค
เชื้อโรคที่ทำให้เกิดปอดบวมส่วนใหญ่มักหมายถึงเชื้อแบคทีเรีย แต่นอกเหนือจากเชื้อแบคทีเรียยังมีเชื้อโรคอย่างอื่นอีกที่เป็นสาเหตุของปอดบวมได้ แต่ไม่ได้พบบ่อยเท่าเชื้อแบคที เรีย และบางชนิดพบได้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น เชื้อไวรัส โรคเชื้อรา และโรคติดเชื้อปรสิต ซึ่ง
- เชื้อไวรัสนั้นมักพบได้ในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
- เชื้อรา และ ปรสิต มักเกิดในกรณีผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติเช่น ติดเชื้อ เอชไอวี หรือโรคเอดส์
ตัวอย่างที่ 2: การสำลักน้ำเข้าไปในปอดเวลาคนจมน้ำ การที่น้ำเข้าไปในปอดนี้ก็ทำให้ปอดบวมและอักเสบได้ ในกรณีนี้ปอดบวมไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคแต่เกิดจากน้ำที่สำลักเข้าไป
ตัวอย่างที่ 3: การทำงานในโรงเก็บซากพืช ซากสัตว์ หรือขยะที่หมักจนเปื่อยยุ่ยและทำให้วัสดุเหล่านี้ฟุ้งกระจายไปในอากาศและสูดเข้าไปในปอด การดูดถ่ายน้ำมันและเกิดสำลักน้ำมันเข้าไปในปอด: ในกรณีเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 2 ปอดบวมที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากการสูดวัสดุที่สัมผัสในที่ทำงานเข้าไปในปอด
ทั้งนี้ ปอดบวมชนิดที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคนี้อาการไม่ได้แตกต่างไปจากปอดบวมชนิดที่เกิดจากเชื้อโรคแต่อย่างใด แต่การรักษานั้นต่างกัน อย่างไรก็ดีปอดบวมมักมีสาเหตุมาจากเชื้อโรคเป็นส่วนใหญ่ จากสาเหตุอื่นก็เป็นไปได้แต่พบได้น้อยกว่า ดังนั้นในทางปฏิบัติ คำว่าปอดบวมจึงเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึง ปอดติดเชื้อโดยอนุโลม และในบทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ปอดบวมจะหมายถึงปอดติดเชื้อ
ลักษณะปอดที่บวมเป็นอย่างไร?
เมื่อเนื้อปอดบวมและอักเสบจะมีลักษณะอย่างไรนั้น ขอให้ท่านลองนึกถึงผิวหนังที่เป็นฝี เวลาเป็นฝี ผิวหนังและเนื้อบริเวณนั้นจะอักเสบและบวม มีของเสียจากฝีคือน้ำเหลืองและหนองเกิดขึ้น เนื้อปอดซึ่งมีลักษณะเดียวกับปอดหมูดังกล่าวข้างต้นแล้วก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกันคือ อักเสบ บวม และมีของเสียจากปอด แต่ของเสียที่เกิดจากปอดบวมนี้ คือ เสมหะ
ปอดบวมเกิดได้อย่างไร? มีอาการอย่างไร?
ปอดบวมเกิดขึ้นได้จากที่มีเชื้อโรคเข้าสู่เนื้อปอด ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจหรือสำลักเอาเชื้อโรคเข้าไปในปอด มีบ้างที่เชื้อมาตามกระแสโลหิต (เลือด) มีบางครั้งแต่น้อยมากที่เชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรงจากการถูกวัตถุมีคมแทงเข้าปอด
อาการของปอดบวม ผู้ป่วยจะมีอาการ
- ไอ มักมีเสมหะ
- มีไข้
- เจ็บหน้าอก
- เหนื่อยง่าย
อาการดังกล่าวเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทุพพลภาพที่ไม่สามารถช่วยตัวเองและสื่อสารได้จำกัด, ผู้ดูแลควรให้ความสนใจและสงสัยมากกว่าปกติ เนื่องจากอาการอาจไม่ชัดเจน เช่น ในผู้สูงอายุอาจจะมีเพียงมีไข้หรือตัวอุ่นๆและซึมลงเท่านั้น อาจจะไอเพียงเล็กน้อยหรืออาจจะไม่ไอให้เห็นก็ได้ เนื่องจากมีความจำกัดในการเคลื่อนไหวและ/หรือกล้ามเนื้อไม่มีแรงพอที่จะไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดปอดบวมไหม? มีอันตรายมากหรือไม่?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปอดบวม ได้แก่
- อายุ ในเด็กเล็กๆและในผู้สูงอายุ เพราะร่างกายมีความบกพร่องในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค
- การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และ/หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคมะ เร็ง (ยาเคมีบำบัด) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และการกำจัดเชื้อโรค
- การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ฟันผุ และเหงือกเป็นหนอง โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ
- การไม่รักษาสุขภาพและอนามัย เช่น การขาดอาหาร สุขภาพทรุดโทรม อยู่อาศัยในสถานที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีพอ ในที่ที่มีมลภาวะที่ต้องหายใจและสูดมลภาวะเข้าไปในปอด
อนึ่ง อันตรายจากปอดบวมนั้นจะมีหรือไม่มี และหากมีแล้วจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ
- มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นหรือไม่ หากมีก็ถือว่ามีอันตรายกว่าไม่มี และในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงนั้น หากมีหลายๆปัจจัย ย่อมจะมีอันตรายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
- ปอดบวมนั้นรุนแรงและมีอาการแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) หรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา และมีผลต่อการรักษา ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้ป่วยหนุ่มๆที่สุขภาพแข็งแรงดีอยู่แล้ว เมื่อเกิดปอดบวม อาจให้การรักษาโดยไม่จำ เป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้การรักษาเพียงยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานแบบผู้ ป่วยนอกก็อาจเพียงพอ
ในทางตรงข้าม โรคแบบเดียวกันนี้ หากเกิดกับผู้สูงอายุ หรือมีปัญหาสุขภาพบก พร่องอยู่เดิม เช่น รับประทานอาหารได้น้อยมาก่อน ก็จะมีอาการแทรกซ้อนและควรรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งๆที่เป็นปอดบวมอย่างเดียวกัน - ยิ่งกว่านั้น หากในกรณีเช่นเดียวกันนี้เกิดกับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ไม่ควบคุมให้ดีมาก่อน และมีโรคไตเรื้อรัง มาพบแพทย์ล่าช้า อาการแทรกซ้อนนั้นก็จะมากขึ้นตามส่วน อาจถึงขั้นเสียชีวิต และอาจต้องรับตัวไว้ในห้องไอซียู (ICU, Intensive care unit) แทนที่จะรักษาในห้องพักผู้ป่วยทั่วไป
- ผู้ป่วยหนุ่มๆที่สุขภาพแข็งแรงดีอยู่แล้ว เมื่อเกิดปอดบวม อาจให้การรักษาโดยไม่จำ เป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้การรักษาเพียงยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานแบบผู้ ป่วยนอกก็อาจเพียงพอ
ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนจากปอดบวม เช่น การเกิดมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด การเกิดมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด การหายใจล้มเหลว ไตล้มเหลว เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต (โลหิตเป็นพิษ หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ช็อกหมดสติ ฯลฯ
โดยสรุป อันตรายจากปอดบวม และการมีผลแทรกซ้อนจะมากหรือน้อยขึ้นกับ อายุ สุขภาพของผู้ป่วย และความรุนแรงของปอดบวมที่เกิดขึ้นว่า เป็นมากหรือน้อยเพียงใด ดังนั้นการไม่รักษาสุขภาพและอนามัย การมีโรคประจำตัว การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และรับประทานยาที่มีผล กระทบต่อสุขภาพ ฯลฯ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความรุนแรงของปอดบวม
แพทย์วินิจฉัยโรคปอดบวมได้อย่างไร?
ปอดบวมวินิจฉัยได้โดย
- ประวัติการมีไข้ ไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย และจากการตรวจร่างกาย
- ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (เอกซเรย์ปอด)
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น การตรวจเลือดซีบีซี การตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะ การเพาะเชื้อจากโลหิต ฯลฯ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเหล่านี้ แพทย์ผู้รักษาจะเลือก ใช้เป็นกรณีตามความเหมาะสม ตามความจำเป็น และตามดุลพินิจของแพทย์
รักษาปอดบวมได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาปอดบวม ประกอบด้วย
- การให้ยาปฏิชีวนะ หากในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีอาการแทรกซ้อนอาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยยาชนิดรับประทาน กรณีนอกจากนี้การรักษาควรให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดแบบผู้ป่วยใน
- การรักษาประคับประคองตามอาการทั่วๆไปเช่น การให้ยาลดไข้ การให้สารน้ำทางหลอดเลือด การให้ออกซิเจน การให้อาหารเหลวทางสายให้อาหารลงกระเพาะอาหารในรายที่รับประทานอาหารเองไม่เพียงพอ ฯลฯ
- การรักษาอาการแทรกซ้อนเช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่เหนื่อยและหายใจเองไม่เพียงพอ การให้ยาเพิ่มความดันโลหิตหากมีความดันโลหิตลดต่ำลง ฯลฯ
ปอดบวมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ความรุนแรงและผลข้างเคียง (ภาวะแทรกซ้อน) ของปอดบวมอาจมีเพียงเล็กน้อยหรือถึงขั้นรุนแรงจนอาจตายได้ สามารถแยกได้เป็นกรณี ดังนี้
ก. รุนแรงเพียงเล็กน้อย: สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานแบบผู้ป่วยนอก ผู้ ป่วยประเภทนี้มักเป็นผู้ป่วยที่อายุไม่มาก มีสุขภาพ และรักษาสุขภาพและอนามัยดีอยู่ก่อนแล้ว และปอดบวมที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงอาการป่วยไม่ได้หนัก
ยกตัวอย่าง: เช่น คนไข้อายุ ๒๕ ปี สบายดีมาตลอด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราและไม่ติดยาเสพติด รู้สึกมีไข้ เจ็บหน้าอก ไอมีเสมหะ แต่ยังรับประทานอาหารได้ดี ไม่รู้สึกเหนื่อย ได้รับประทานยาลดไข้ และมารับการตรวจพบมีปอดบวม ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปรับประทานที่บ้านและนัดมาติดตามผลการรักษาแบบผู้ป่วยนอก
จะเห็นได้ว่า อาการปอดบวมในรายนี้ อาจมีเพียงมี ไข้ ไอ มีเสมหะ ไม่เหนื่อย ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หรือใกล้เคียงปกติ การดูแลและรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานแบบผู้ป่วยนอก และไม่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล การรักษาไม่ยุ่ง ยากแต่ประการใด
ข. รุนแรงปานกลาง: ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยสูบบุหรี่และดื่มสุราประจำ เกิดปอดบวม ไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ มาพบแพทย์หลังจากมีอาการหลายวัน การรักษาในกรณีนี้จำเป็น ต้องรักษาในโรงพยาบาลและฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีอาการเหนื่อยกว่าปกติและเบื่ออาหาร จำเป็นต้องให้ออกซิเจนและสารน้ำทางหลอดเลือด หากรับประ ทานอาหารไม่ได้หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และหากไม่มีอาการแทรกซ้อนอาจใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน เมื่ออาการทุเลาไม่มีไข้ ผู้ป่วยสบายขึ้น แพทย์จึงอาจอนุญาตให้กลับบ้านได้และรักษาต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอก
ปอดบวมในกรณีเดียวกันนี้ เมื่อเกิดกับผู้สูงอายุ ไม่รักษาสุขภาพและอนามัย ไม่ได้มาพบแพทย์และไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่แรก จำเป็นต้องรับไว้รักษาและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดในโรงพยาบาล หากรับประทานอาหารไม่ได้หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด และหากไม่มีอาการแทรกซ้อนอาจใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน เมื่ออาการทุเลาไม่มีไข้ ผู้ป่วยสบายขึ้น อาจอนุญาตให้กลับบ้านและรักษาต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอก
แต่รายเดียวกันนี้หากมีอาการแทรกซ้อนเช่น ความดันโลหิตต่ำก็จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดนานขึ้น และหากยังเบื่ออาหารไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ แพทย์จะพิจารณาให้อาหารเหลวทางสายให้อาหารลงกระเพาะอาหาร หรือหากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิม การให้ออกซิเจนอย่างเดียวไม่พอ อาจต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมและช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย
จะเห็นได้ว่าการรักษามีความยุ่งยากขึ้นตามลำดับต่างจากรายแรก คือ
- ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลแทนที่จะเป็นการรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก
- ต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดแทนที่จะให้โดยการรับประทาน
- ให้การรักษาเสริมด้วยสารน้ำทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน
- อาจต้องช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ
ค. ระดับรุนแรง : เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ เป็นโรคเบาหวานและมีโรคหัวใจประจำตัว เมื่อเกิดปอดบวม มีไข้สูง หนาวสั่น ผลการวินิจฉัยพบว่าเป็นปอดบวมและมีน้ำท่วมปอด การรักษาในกรณีนี้นอกจากต้องรับไว้รักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ไอ ซี ยู) แทนที่จะเป็นการรักษาในหอผู้ป่วยทั่วไป และต้องได้รับการเจาะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดออกมาวิเคราะห์ทางห้อง ปฏิบัติการ และหากผลการวิเคราะห์น้ำที่เกิดจากปอดบวมนี้เป็นหนอง แพทย์จะต้องใส่ท่อระบายของเหลวเข้าไปเพื่อระบายเอาหนองออก และหากใช้วิธีนี้แล้วไม่สามารถระ บายหนองออกได้หมด จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเข้าช่องอกเพื่อเอาหนองที่เกิดขึ้นนั้นออกมาให้หมด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ปัญหาคนไข้รายนี้มีความซับซ้อนมากกว่าและเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการรักษาผู้ป่วยรายที่ได้กล่าวข้างบนได้รับ คือ
- ต้องได้รับการเจาะน้ำที่เกิดขึ้นในโพรงเยื่อหุ้มปอดซึ่งเกิดแทรกซ้อนจากปอดบวม
- หลังจากนั้นอาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมด้วยการใส่สายระบายเข้าระบายของเหลว/หนอง และ
- หากการระบายหนองไม่เพียงพอก็ต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาหนองออก
ง. ระดับรุนแรงมาก: ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยสูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ (โรคหัวใจ) โรคไตเรื้อรัง รับประทานอาหารได้น้อย เป็นปอดบวม, ซึมลง, ไม่ค่อยรู้สึกตัว, ได้รับการนำ ส่งโรงพยาบาลพบว่าความดันโลหิตต่ำ, ไม่รู้สึกตัว, ไม่สามารถดื่มน้ำ,และกลืนอาหารได้, ผลการตรวจเลือดพบว่า ไตบกพร่องมาก, น้ำตาลสูงมากจำเป็นต้องฉีด ยาอินซูลิน (ยาเบาหวาน) เพื่อควบคุมน้ำตาล, ผลวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดงบ่งชี้ว่าออกซิเจนในเลือดต่ำ, ผลเอกซเรย์ปอดพบว่าปอดบวมรุนแรงและเป็นบริเวณกว้างและ หัวใจมีขนาดโตขึ้น, ผลเพาะเชื้อจากโลหิตพบมีเชื้อขึ้นในกระแสโลหิต (โลหิตเป็นพิษหรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
การรักษากรณีนี้จำเป็นต้องกระทำในห้องไอซียู โดยให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด ใส่ท่อเข้าหลอดลม และใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยการหายใจ ใส่สายให้อาหารเข้ากระเพาะอาหารเพื่อให้อาหารทางสายนี้ ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต และอาจต้องทำการฟอกไต
ปัญหาและอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยรายนี้มีเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นกว่าผู้ป่วยรายข้างต้น คือ
- มีโรคประจำตัวหลายโรคและมีสุขภาพบกพร่องมาก่อน
- มีอาการแทรกซ้อนหลายประการ คือ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถดื่มน้ำและกินอาหารได้ ไตเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ (ภาวะช็อก) , ภาวะหายใจล้มเหลว และโลหิตเป็นพิษ (ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
- ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ, ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต, ให้อาหารทางสายให้อาหารลงกระเพาะอาหาร, ให้ยาอินซูลินควบคุมน้ำตาลในเลือด, และอาจต้องทำการฟอกไต
โดยสรุปจากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นได้ว่าปอดบวมจะรุนแรงและมีอาการแทรกซ้อนได้ตั้งแต่
- อาการเล็กน้อย สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยารับประทานแบบผู้ป่วยนอกและไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่ประการใด
- อาการปานกลาง ต้องรักษาในโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด ให้ออกซิเจน แต่ทันทีที่อาการทุเลา ก็สามารถกลับมารักษาและรับประทานยาปฏิชีวนะต่อที่บ้านได้
ในกรณีเดียวกันนี้แต่หากยังรับประทานอาหารไม่ได้ ความดันโลหิตต่ำ ก็จำเป็น ต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นและต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดและได้รับอาหารทางให้อาหารลงกระเพาะอาหาร
- อาการรุนแรง มีอาการแทรกซ้อนจากปอดบวม เกิดมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ต้องได้รับการเจาะน้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอด หากน้ำที่เกิดแทรกซ้อนเป็นหนอง จำเป็น ต้องใส่สายระบายเข้าโพรงเยื่อหุ้มปอด ยิ่งไปกว่านั้นอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาหนองออกหากการใส่สายระบายไม่สามารถทำให้หนองหมดไปได้
- อาการรุนแรงมาก เนื่องจากสูงอายุ มีโรคประจำตัวหลายชนิด ไตเสื่อม ไม่รู้สึก ตัว และปอดบวมกระจายเป็นบริเวณกว้าง มีเชื้อกระจายเข้าสู่กระแสโลหิต จำเป็นต้องได้ รับการรักษาเช่นเดียวกับกรณีข้างบนร่วมกับใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาเพิ่มความดันโล หิต หากไตเสื่อมมากขึ้นอาจต้องทำการฟอกไต
ควรดูแลตนเองที่บ้านอย่างไรเมื่อมีปอดบวม? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อท่านสงสัยว่าจะเป็นปอดบวมโดยมีอาการต่างๆดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นกล่าวคือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และเหนื่อยง่าย ท่านควรรีบมาพบแพทย์ ภายใน 1-2 วัน เพื่อรับการวินิจฉัย ไม่ควรดูแลตนเอง
อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองเมื่อเป็นปอดบวมน่าจะมี ๒ กรณี คือ
- ปอดบวมเล็กน้อย ที่แพทย์พิจารณาให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ และ
- กรณีที่เป็นปอดบวมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว และแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านเพื่อรักษา และพักฟื้นต่อที่บ้าน
ทั้ง 2 กรณี ควรปฏิบัติตนดังนี้
- ควรรับประทานยาต่อตามแพทย์สั่งอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่ควรหยุดยาเอง
- รับประทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพลังงานในการต่อสู้กับโรค และซ่อมแซมร่างกายให้ฟื้นตัว
- ควรใส่ใจสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจจะมีเกิดขึ้น เช่น มีไข้เกิดขึ้นใหม่หลังจากไข้ลงแล้ว 1-2 วัน รู้สึกว่าไม่สุขสบายเพิ่มขึ้น มีอาการเจ็บภายในทรวงอก มีอาการหายใจไม่ค่อยสะดวก รับประทานอาหารได้น้อยลง ไอมีเสมหะปนเลือด ฯลฯ และหากมีอาการแทรกซ้อนหรือสงสัยว่าจะมี แนะนำให้มาพบแพทย์ก่อนกำหนดนัด ควรภายใน 1-2 วัน หลังจากมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
ปอดบวมป้องกันได้อย่างไร?
การป้องกันปอดบวมสามารถทำได้ไม่ยาก โดย
- รักษาสุขภาพและอนามัยให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอเช่น การรับประทานอาหาร พักผ่อน ออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับสภาพและวัยของท่าน (รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่ง ชาติ)
- การงดและเลิก บุหรี่ สุรา และยาเสพติด
- หากท่านมีโรคประจำตัวอยู่ ให้รักษาตามแผนและคำแนะนำของการรักษาโรคนั้นๆอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว
- การป้องกันการรับเชื้อโดยการปิดปากและจมูกเมื่อต้องสัมผัสผู้ป่วยที่ไอ หรือจาม และผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม ควรป้องกันการแพร่กระจายฝอยละอองไปยังผู้อื่น ด้วยการปิดปากและจมูกด้วยกระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัย
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ควรพิจารณาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำปีทุกปี เช่น
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ,
- ผู้ได้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง/ ยาเคมีบำบัด
บรรณานุกรม
1. โรคปอดอักเสบ ในโรคระบบการหายใจ นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ.
2. Managing CAP: An evidence – based algorithm. The Journal of Family Practice. 2007;56:722-726.
3. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pneumonia/symptoms-causes/syc-20354204 [2020,Jan11]