ปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ (Occipital Neuralgia)

สารบัญ

บทนำ

ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงเคยมีอาการปวดแปลบ (แปล๊บ) หรือ เสียว บริเวณต้นคอ บางครั้งปวดร้าวถึงกลางศีรษะ เป็นๆหายๆ บางครั้งที่ปวดก็เป็นนาน บางครั้งก็ไม่นาน สงสัยว่าตนเองเป็นอะไร บางคนก็บอกว่าเป็นกระดูกต้นคอเสื่อม บางคนก็บอกว่าเป็นไมเกรน ไปพบแพทย์ได้โรคใหม่ คือ เป็นโรคเส้นประสาทอักเสบ จึงสงสัยว่าเป็นอะไรกันแน่ ลองติดตามบทความนี้ แล้วท่านจะทราบว่าอาการดังกล่าว คืออะไร

อาการเจ็บแปล๊บๆ เสียว คืออาการอะไร?

อาการ เจ็บ/ปวดแปลบๆ (แปล็บ) หรือ เสียว ขึ้นมาทันทีนั้น คือ อาการปวดที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดของกล้ามเนื้อหรือปวดแผล อา การปวดเหตุจากระบบประสาทที่เราคุ้นเคยมากที่สุด คือ อาการปวดฟัน เนื่องจากมีรอยโรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณฟันซีกนั้นๆ อาการปวดจะเป็นขึ้นมาทันที เป็นระยะเวลาไม่นานเพียงแค่ไม่กี่วินาที ปวดแบบเจ็บแปล๊บหรือเสียวจนสะดุ้ง

อาการปวดเหตุเส้นประสาทคืออะไร?

อาการปวดเหตุเส้นประสาท (Neuralgia) คือ อาการปวดเหตุจากเส้นประสาท ที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทเป็นจุดเริ่มต้น โดยอาการปวดนั้น อาจเกิดจากกลไกผิดปกติเส้นประ สาท รากประสาท หรือจากสมองส่วนกลางที่มีการปรับการตอบสนองที่ไวผิดปกติ

อาการปวดเหตุเส้นประสาทพบบ่อยไหม?

อาการปวดเหตุประสาท (ปวดเหตุเส้นประสาท) เป็นกลุ่มอาการที่พบไม่บ่อยเมื่อเทียบกับอาการปวดอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และพบได้ในทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน

อาการปวดเสียวแปลบบริเวณต้นคอเป็นๆหายๆ คืออะไร? เกิดจากอะไร?

อาการปวดเสียวแปลบบริเวณต้นคอนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น กระดูกต้นคอเสื่อม หรือ จากหมอนรองกระดูกสันหลังคอเคลื่อนหลุดไปกดทับเส้นประสาทบริเวณต้นคอ (Cervical radiculopathy) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวไปบริเวณไหล่ ต้นแขน หรือเกิดจากกลุ่มอาการกล้าม เนื้อบริเวณต้นคอหดเกร็ง (Myofascial pain syndrome) ผู้ป่วยจะปวดตึงๆ บริเวณต้นคอ ไหล่ มีจุดกดเจ็บ คลำกล้ามเนื้อได้เป็นก้อนแข็ง ซึ่งที่พบบ่อย คือ กรณีปวดเสียวแปลบบริเวณต้นคอร้าวขึ้นไปตีนผม หรือด้านหลังของศีรษะจนถึงกลางศีรษะ อาการเป็นๆ หายๆ เหมือนไฟช๊อต ที่มักเกิดจากการปวด (เส้น) ประสาทต้นคอที่ 2 (Great occipital nerve) เรียกว่า ปวดเหตุประ สาทต้นคอ (Occipital neuralgia)

นอกจากปวดบริเวณต้นคอ ยังมีอาการอื่นๆอีกหรือไม่ ?

อาการอื่นๆที่พบร่วมกับปวดเหตุประสาทต้นคอ มีหลายอาการ ได้แก่ อาการปวดตื้อๆตลอดเวลาที่ต้นคอ ในช่วงระหว่างที่ไม่มีอาการปวดแปลบ หรือเสียวนั้น นอกจากอาการปวดบริเวณต้นคอแล้วยังพบอาการปวดบริเวณหลังลูกตาได้ มองภาพไม่ชัด มีเสียงดังในหู คลื่นไส้ อาเจียน และคัดจมูก

อาการปวดเส้นประสาทต้นคอที่ 2 เกิดจากอะไร?

สาเหตุปวดประสาทต้นคอที่ 2 เกิดจากมีความผิดปกติของเส้นประสาทคอที่ 2 โดยส่วนใหญ่ คือ

  • ชนิดหาสาเหตุไม่พบ
  • เส้นประสาทคอที่ 2 ถูกกดเบียดจากหลอดเลือดที่ผิดปกติ หรือจากเนื้องอก หรือจากการอักเสบของเส้นประสาท (สาเหตุเหล่านี้พบได้น้อยมาก)
  • และบางรายพบร่วมกับอาการปวดศีรษะไมเกรน

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอที่ 2?

แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นการปวดศีรษะเส้นประสาทต้นคอที่2 จากการสอบถามอาการ ซึ่งจะมีลักษณะอาการปวดแบบดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการตรวจร่างกาย พบการกดเจ็บบริเวณที่ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทต้นคอที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยบางรายตรวจพบอาการชา หรือเจ็บเวลาสัมผัสบริเวณต้นคอ แต่จะไม่พบความผิดปกติอื่นๆ

การวินิจฉัยจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์หรือไม่?

ในบางครั้งการวินิจฉัยอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอที่ 2 แพทย์อาจต้องส่งตรวจเอกซเรย์กระดูก (ต้น) คอ เพื่อดูให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติของกระดูกต้นคอ เพราะบางครั้งอาการผู้ป่วยจาก 2 โรคนี้จะคล้ายกันมาก อีกทั้งต้องดู (จากเอกซเรย์) ว่า มีการอักเสบของกระดูกต้นคอหรือไม่

ใครมีโอกาสเกิดอาการปวดเส้นประสาทต้นคอที่ 2?

อาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอที่ 2 ดังกล่าว พบได้ไม่บ่อย จากการศึกษาหลายการ ศึกษา พบปัจจัยเสี่ยง คือ

  • ผู้ป่วยที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่คอ เช่น รถยนต์ถูกชนและมีการสะบัดของคอ หลังจากนั้นก็จะมีอาการปวดเส้นประสาทต้นคอที่ 2
  • ในผู้ที่ทำงานและมีการก้มเงยคอมากตลอดเวลา
  • ในผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์

เมื่อมีอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ ดูแลตนเองได้ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

กรณีที่อาการปวดเหตุประสาทต้นคอ เป็นครั้งแรกและมีอาการรุนแรง ควรพบแพทย์ เพื่อประเมินว่ามีสาเหตุของการปวดเกิดจากอะไร แต่ถ้าอาการปวดนั้นไม่รุนแรงและไม่มีความผิด ปกติอื่นๆ ก็สามารถดูแลตนเองได้ โดยการทานยาแก้ปวดธรรมดา เช่น พาราเชตามอล (Para cetamol) แต่ถ้าดูแลตนเองแล้ว อาการปวดไม่ดีขึ้น หรือปวดมากขึ้น หรือมีอาการอื่นๆดังกล่าวแล้วในหัวข้ออาการอื่นๆร่วมด้วย ก็ควรไปพบแพทย์

มีวิธีรักษาแตกต่างหรือเหมือนกับการปวดเหตุเส้นประสาทอื่นๆ?

วิธีรักษาอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ คล้ายกันกับการรักษาอาการปวดเหตุประสาทอื่นๆ (อ่านเพิ่มเติมในบท ปวดเหตุประสาท) คือ หาสาเหตุและแก้ไขที่สาเหตุ ร่วมกับการใช้ยารักษาอาการปวดเหตุประสาท

การรักษาอาการปวด (เส้น) ประสาท แพทย์ก็จะใช้ยาแก้ปวด เช่น คาร์บามาซีปีน (Car bamazepine) อะมีทิพทีลีน (Amitriptyline) กาบาเพ็นติน (Gabapentin) รวมทั้งกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด/NSAID, Non-steroidal anti-inflammatory drug) เช่น บรูเฟน (Brufen) โวลทาเรน (Voltaren) เพื่อรักษาอาการปวด โดยการใช้ยาต่างๆแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัวผู้ป่วย และประเมินการตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา

มีวิธีรักษาอื่นๆอีกหรือไม่?

การรักษาวิธีอื่นๆที่ได้ผล คือ การฉีดยาชาโบทูไลนุ่มทอกซิน (Botulinum toxin หรือที่เราคุ้นเคย คือ ยาโบทอก/Botox) หรือ ยาสเตียรอยด์บริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังต้นคอ และการกระตุ้นไฟฟ้าบริเวณต้นคอก็มีรายงานว่าได้ผล

โรคปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ อันตรายไหม? รักษาหายไหม? ต้องรักษานานเท่าไร?

อาการปวดดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ไม่มีอันตราย กรณีที่หาสาเหตุไม่พบซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของอาการปวดนี้ การรักษาคือการรักษาตามอาการ กรณีที่ได้รับยาแล้ว อาการปวดดีชึ้น หรือหาย ไป แพทย์ก็จะค่อยๆลดขนาดยาลงจนหยุดยาได้ ถ้าหลังหยุดยาแล้วมีอาการกลับเป็นซ้ำ ก็จะเริ่มรักษาใหม

แต่กรณีที่มีสาเหตุจากหลอดเลือด เนื้องอก หรือโรคข้อรูมาตอยด์นั้น วิธีการรักษาและผลการรักษาขึ้นกับสาเหตุนั้นๆ

โรคปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ไหม?ควรดูแลตนเองอย่างไร?

กลุ่มอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอนี้ ไม่ก่อให้เกิดอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาตแน่นอน ยกเว้นมีสาเหตุจากหลอดเลือด เนื้องอก หรือความผิดปกติของกระดูกคอกดทับเส้นประสาท และเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเหตุนั้นๆกดทับหลอดเลือดบริเวณก้านสมอง ก็อาจเกิดอาการอัม พาตได้

เมื่อรักษาแล้วเมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การรักษาอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอนั้น ผู้ป่วยต้องพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรงขึ้นมาก มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเกิดขึ้นใหม่ เช่น ปากเบี้ยว ชาหน้า ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด อีกกรณีหนึ่งที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด คือ เกิดผลแทรกซ้อนจากยาที่ใช้รักษา หรือสงสัยว่าแพ้ยา เช่น มีผื่นลมพิษ ผื่นแดงคันตามตัว ใบหน้า หรือไข้ขึ้น มีแผลในปาก ซึ่งการแพ้ยาส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นภายใน 1-6 สัปดาห์แรกหลังได้ยา

เมื่อเป็นโรคปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ จะดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแตนเองที่สำคัญในโรคปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ คือ

  • การทานยาที่แพทย์แนะนำสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์ตามนัด
  • ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวต้นคอมากๆ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอา การได้มากขึ้น
  • ต้องสังเกตอาการแพ้ยา และความผิดปกติทางระบบประสาทที่อาจพบร่วมได้ เช่น อาการชา ซึ่งเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ อาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อกัง วลในอาการ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
  • ป้องกันโรคปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอ ได้ไหม?

    การป้องกันอาการปวดเหตุเส้นประสาทต้นคอนี้ ไม่มีวิธีโดยตรงที่จะป้องกัน เพราะส่วนใหญ่แล้ว ไม่พบสาเหตุของอาการ ยกเว้นกรณีที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่กระดูกคอ เช่น การเกิดอุบัติ เหตุทางรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ ควรรักษากับแพทย์ให้ดี เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกคอผิดปกติ อีกวิธีหนึ่ง คือ หลักเลี่ยงการสะบัดคอ ดัดคอ หรือใช้คอผิดหน้าที่ เช่น การแบกหามของหนัก เป็นต้น

    สรุป

    จากข้อมูลที่เล่ามาให้ฟังข้างต้นนั้น ผมหวังว่าผู้อ่านคงมีความสบายใจขึ้นว่าอาการผิดปกติดังกล่าวสามารถรักษาได้ โชคดีทุกคนครับ