ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง (Back pain: Spinal disc herniation)

สารบัญ

ทั่วไป

หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc) มีลักษณะรูปทรงกระ บอกสั้นๆ มีความสูงประมาณ 1/4 ของความสูงปล้องกระดูกสันหลัง หรือประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ส่วนประกอบแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1) ส่วนที่อยู่บริเวณใจกลางมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายวุ้น 2) ส่วนที่อยู่โดยรอบมีลักษณะเป็นพังผืด มีความเหนียวยืดหยุ่น และ 3) ส่วนที่ยึดกับปล้องกับกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้ายกระดูกอ่อน โครงสร้างทั้ง 3 ส่วนนี้ มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ทั้งนี้หมอนรองกระดูกสันหลังทำหน้าที่ช่วยรับแรงที่เกิดขึ้นและช่วยในการเคลื่อนไหวของลำกระดูกสันหลัง

อาการปวดหลัง (Back pain) จากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยทั้งเพศหญิง และเพศชาย พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี พบบ่อยที่กระดูกสันหลังส่วนเอวระดับล่างๆ (Low back) ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกระดูกสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมาก และต้องรับน้ำหนักมากที่สุด จึงเกิดการเสื่อม หรือแตกปลิ้นของหมอนรองกระดูกได้บ่อยกว่ากระดูกสันหลังในระดับอื่นๆ

ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่ออายุมากขึ้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างหมอนรองกระดูกสันหลังทั้ง 3 ส่วนโดยที่มีปริมาณน้ำลดลง และเกิดการเปลี่ยนทางชีวเคมี ส่งผลให้ความสูงของหมอนรองกระดูกสันหลังลดลง ความสามารถในการดูดซับแรงกระแทกลดลง มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อพังผืดที่อยู่โดยรอบทั้งในแนวเส้นรอบ วงและตามแนวรัศมี ทำให้ส่วนที่อยู่ใจกลางแตกปลิ้นออกมาตามรอยฉีกขาดของส่วนที่เป็นพังผืดได้ ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกมานี้ จะไปรบกวน หรือกดเบียดทับรากประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง?

ปัจจัยหลายประการที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้แก่

  • อายุที่สูงขึ้น
  • พันธุกรรม
  • การขาดสารอาหาร
  • การสูบบุหรี่
  • โรคเบาหวาน
  • แรงกระทำต่อหมอนรองกระดูกสันหลัง

ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังนำมาก่อน อาจมีประวัติหกล้ม หรือยกของหนัก ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดสะโพกร้าวลงไปด้านหลังของต้นขา น่องจนถึงหลังเท้า หรือฝ่าเท้า ในขณะยืนก้มหลัง ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาการปวดเพิ่มขึ้นเวลาไอ หรือจาม หรือยกของหนัก นั่ง หรือยืนนานๆไม่ได้เพราะอาการปวด ท่าเดินผิดปกติ บางรายจะมีอาการชาที่ขา และ/หรือ เท้า และ/หรือกล้ามเนื้อขา และ/หรือเท้า อ่อนแรง ถ้ามีอาการรุนแรงจะควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ และอุจจาระ ลำบาก

มีวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างไร?

การรักษาเบื้องต้นของปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง ที่สำคัญได้แก่้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด ได้แก่ การนั่ง หรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
  • งดเว้นกิจกรรม หรือเล่นกีฬา ที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อหลังมากๆ เช่นก้มหลังยกของ
  • กินยาแก้ปวด เช่นยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

เมื่อใดควรไปพบแพทย์?

ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้้

  • ถ้าไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ และอุจจาระได้ ต้องไปพบแพทย์ทันทีโดยเร็วที่สุด
  • มีอาการชาหลังเท้า หรือฝ่าเท้า ไม่สามารถกระดกข้อเท้า กระดกนิ้วหัวแม่เท้า หรืองอนิ้วหัวแม้เท้าได้เต็มที่เท่ากับเท้าอีกข้างหนึ่ง
  • อาการปวดหลังรุนแรง ไม่ทุเลาลงหลังการดูแลเบื้องต้นนาน 4 สัปดาห์

แพทย์วินิจฉัยปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอาการปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังโดยอาศัยสิ่งต่อไปนี้ คือ

  • ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วย ได้แก่ อายุ เพศ รูปร่าง ประวัติอาการของผู้ป่วย ก็สามารถวินิจฉัยได้เป็นส่วนใหญ่
  • ตรวจร่างกาย พบว่าผู้ป่วยจะมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาเลยเข่าจนถึงบริเวณน่อง หลังเท้าหรือฝ่าเท้ามีอาการชา หลังเท้าหรือฝ่าเท้า ไม่สามารถกระดกข้อเท้า กระดกนิ้วหัวแม่เท้า หรืองอนิ้วหัวแม่เท้าได้เต็มที่เท่ากับเท้าอีกข้างหนึ่ง
  • ภาพเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เพื่อดูสภาพหมอนรองกระดูกสันหลัง และเพื่อแยกโรคอื่นๆ
  • เอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (เอมอาร์ไอ/ MRI) กระดูกสันหลัง เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน สามารถดูพยาธิสภาพหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นได้ชัดเจน
  • การตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆ ไม่มีความจำเป็น และไม่ช่วยในการวินิจฉัย

แพทย์มีวิธีรักษาปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังอย่างไร? ค่ารักษาแพงหรือไม่?

การรักษาปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง มีหลายวิธี ขึ้นกับระดับอาการและความรุนแรงของโรค ดังนี้้

  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ประกอบด้วย
    • ในระยะเฉียบพลัน (4 สัปดาห์แรกหลังจากมีอาการ) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดหลังรุนแรงขึ้น หลีกเลี่ยงการนอนพักนานๆหลายวัน ถ้ามีอาการปวดหลังมาก อาจให้นอนพักไม่เกิน 48 ชั่วโมง และทำกิจวัตรประจำวันตามปกติเท่าที่สามารถทำได้
    • ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และระยะเรื้อรัง (เกิน 4 สัปดาห์ขึ้นไป) การรักษาที่มีหลักฐานวิจัยว่า มีประสิทธิผลได้แก่ การออกกำลังกาย การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูสหสาขา (กายภาพบำบัด) ส่วนการรักษาที่อาจมีผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีประสิทธิผลประกอบด้วย การประคบความร้อน และความเย็น การนวดโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ การฝังเข็ม เลเซอร์ การดึงหลัง และสวมเสื้อพยุงเอว

  2. การรักษาด้วยยา
    • ในระยะเฉียบพลัน รักษาด้วยยาแก้ปวด พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นตัวเลือกอันดับแรก เพราะมีประสิทธิผลใกล้เคียงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ แต่มีความปลอดภัยกว่า และราคาถูก แต่จะใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์เมื่อใช้พาราเซตามอลไม่ได้ผล ซึ่งข้อห้ามใช้ยากลุ่มนี้ คือผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ซึ่งเป็นข้อห้ามใช้ นอกจากนั้น คือ ยาคลายกล้ามเนื้อ
    • ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และระยะเรื้อรัง รักษาด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ยาต้านซึมเศร้า กาบาเพนติน (Gabapentin) และพรีกาบาลิน (Pregabalin) อาจช่วยให้อาการปวดร้าวลงขาดีขึ้น

  3. การฉีดยาสเตอรอยด์เข้าในช่องเหนือถุงหุ้มไขสันหลัง ช่วยลดอาการปวดร้าวลงขา ข้อบ่งชี้ คือเมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย 2 วิธีแรกแล้วไม่น้อยกว่า 4-6 สัปดาห์

  4. การทำหัตถการเพื่อเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกบางส่วนผ่านผิวหนัง เป็นวิธีการเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกโดยใช้สารเคมี ความร้อน ความถี่คลื่นวิทยุ เลเซอร์ อุปกรณ์ปั่นและดูดเนื้อหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือ รวมทั้งการใช้กล้องส่องผ่านผิวหนังเข้าไปเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกบางส่วน ข้อบ่งชี้ คือ เมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย 2 วิธีแรกไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ และเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นขนาดเล็กหรือปานกลาง ไม่มีชิ้นย่อยหลุดแยกออกมา หรือมีพังผืดติดกับรากประสาท หรือมีช่องกระดูกสันหลังตีบ หรือมีตัวกระดูกสันหลังเคลื่อนผิดที่ร่วมด้วย โอกาสประสบผลสำเร็จจากการรักษาด้วยวิธีนี้ เฉลี่ย 60-85%

  5. การผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออก แบ่งย่อยเป็น 2 วิธี คือ
    • โดยวิธีเปิดแผลเล็ก แผลจะมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร
    • และโดยวิธีเปิดแผลผ่าตัดตามวิธีมาตรฐาน แผลจะมีขนาดประมาณ 5-7 เซนติเมตร

สามารถรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทุกชนิด มีประสิทธิผลสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ ข้อบ่งชี้คือเมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย 2 วิธีแรกไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ โอกาสประสบผลสำเร็จจากการรักษาด้วยวิธีนี้เฉลี่ยมากกว่า 90%

ป้องกันไม่ให้เกิดปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังได้อย่างไร?

การป้องกัน ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง คือ หลีกเลี่ยง หรือลดปัจจัยเสี่ยง เช่น กิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด ได้แก่ การนั่ง หรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อหลังมากๆ เช่น ก้มหลังยกของ และบริหารกล้ามเนื้อหลังให้มีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ตามแพทย์ และนักกายภาพบำบัดแนะนำ

ป้องกันโรคหมอนรองกระดูกสันหลังได้อย่างไร?

เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญปัจจัยหนึ่งของโรคหมอนรองกระดูก คือ การเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การป้องกันโรคไม่ให้เกิดเต็มร้อย จึงเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถช่วยชะลอการเกิดให้ช้าลง และลดความรุนแรงของอาการได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่

  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน เพื่อลดแรงกดกระแทกหมอนรองกระดูกจากน้ำหนักตัว
  • ออกกำลังกายอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
  • รู้จักท่านั่ง ยืน ก้ม ยกของหนักที่ถูกต้อง
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมในทุกๆมื้อ
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

เนื้อความสรุป

อาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี พบบ่อยที่กระดูกสันหลังส่วนเอวระดับล่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกระดูกสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากและต้องรับน้ำหนักมากที่สุด จึงเกิดการเสื่อมหรือแตกปลิ้นได้บ่อยกว่าในส่วนกระดูกสันหลังในระดับอื่นๆ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังนำมาก่อน อาจมีประวัติหกล้ม หรือยกของหนัก ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดสะโพกร้าวลงไปด้านหลังของต้นขา น่องจนถึงหลังเท้า หรือฝ่าเท้าขณะยืนก้มหลังซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อาการปวดเพิ่มขึ้นเวลาไอหรือจาม หรือยกของหนัก นั่งหรือยืนนานๆไม่ได้ อาจมีอาการชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

การรักษาเบื้องต้นที่สำคัญ ได้แก่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด ได้แก่ การนั่ง หรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ งดเว้นกิจกรรม หรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อหลังมากๆ เช่น ก้มหลังยกของ

การรักษามีหลายวิธี ขึ้นกับระดับอาการ และความรุนแรงของโรค การรักษาในช่วง 4 สัปดาห์แรก ได้แก่ การรักษาโดยไม่ใช้ยา การรักษาด้วยยา ในช่วงหลัง 4 สัปดาห์เมื่อการรักษาวิธีแรกไม่ได้ผล ได้แก่ การฉีดยาสเตอรอยด์เข้าในช่องเหนือถุงหุ้มไขสันหลัง การทำหัตถการเพื่อเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกบางส่วนผ่านทางผิวหนัง การผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกโดยวิธีเปิดแผลเล็ก และการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกโดยเปิดแผลผ่าตัดตามวิธีมาตรฐานซึ่งเป็นวิธีที่สามารถรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทุกชนิด และมีประสิทธิผลสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ

บรรณานุกรม

  1. กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย, เสมอเดือน คามวัลย์, ชัช สุมนานนท์. โรคกระดูกสันหลังเสื่อมหลักฐานเชิงประจักษ์. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2554.