ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การปวดประจำเดือนคืออะไร?

โดยทั่วไปการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของผู้หญิง แต่สิ่งที่สร้างความรำคาญหรือสร้างความทรมานแก่ผู้หญิงคือ การปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) นั่นเอง

การปวดประจำเดือน คือ การปวดบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานในช่วงที่มีเลือดประจำ เดือนอยู่ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตามรอบของการมีประจำเดือน

การปวดประจำเดือนมีผลกระทบต่อสตรีอย่างไร?

ปวดประจำเดือน

ในช่วงหนึ่งของชีวิตผู้หญิงที่มีประจำเดือน มีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่ไม่มีอาการปวดประ จำเดือนเลยซึ่งถือว่าโชคดีมาก เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยรุ่นอาจมีจำนวนสูงถึง 90% ที่มีอาการปวดประจำเดือนมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป จะมีผู้หญิงประมาณ 2%- 29% ที่มีอาการปวดประจำเดือนมาก เช่น จนทำให้ต้องขาดเรียนหากยังเรียนหนังสืออยู่, หรือต้องขาดการทำงานบ่อยๆในช่วงที่มีประจำเดือนมา, ทำให้เสียโอกาสในการเรียนหรือในการทำงานซึ่งเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อจิตใจหรือผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวซึ่งประเมินเป็นมูลค่าทางการเงินไม่ได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

เมื่อมีอาการปวดประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นอาการปกติของการมีประจำ เดือนซึ่งก็เป็นความจริงบ้างและไม่จริงบ้าง โดยทั่วไปอาการปวดประจำเดือนเกิดจากมดลูกหดรัดตัวทำให้เกิดอาการปวดบริเวณท้องน้อย แต่หากมีอาการปวดมากจนมีผลกระทบต่อชีวิตประวัน ขาดโรงเรียน ขาดการทำงาน ควรต้องไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและเพื่อได้รับการรัก ษาที่ถูกต้อง เพราะสาเหตุที่ทำให้ปวดประจำเดือนมีหลายสาเหตุ ซึ่งการรักษาบางครั้งอาจถึง กับต้องผ่าตัด

โดยทั่วไป สาเหตุของการปวดประจำเดือนแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ

1. การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea): หมายถึงการปวดประ จำเดือนที่แพทย์ตรวจไม่พบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยที่ชัดเจน อาการปวดเกิดจากมีสารที่เรียกว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูก/เยื่อบุมด ลูก และสารตัวนี้จะดูดซึมผ่านกระแสเลือดและมาออกฤทธิ์ที่มดลูก ทำให้มดลูกเกิดการหดตัว และหลอดเลือดมดลูกหดตัว ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงมดลูกชั่วคราว ทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้น การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมินี้มักเกิดกับผู้หญิงวัยรุ่นคือในช่วง 2 - 3 ปีแรกของการมีประจำเดือน แล้วจะดีขึ้นตามวัยที่สูงขึ้น ลักษณะการปวดจะเริ่มปวดท้องน้อยก่อนที่เลือดประจำ เดือนจะออกมา พอเลือดประจำเดือนออกมาแล้วอาการปวดก็ดีขึ้นหรือบรรเทาลง

2. การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea): หมายถึงการปวดประจำเดือนที่แพทย์ตรวจพบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย ลักษณะการปวดจะมีอาการปวดก่อนมีเลือดประจำเดือนมาและยังปวดต่อไปเรื่อยๆจนกว่าประจำเดือนจะหยุดหรือหลังประ จำเดือนหยุด สาเหตุที่ทำให้เกิดปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิที่พบบ่อย ได้แก่

2.1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) โดยเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดมาจากท่อรังไข่ย้อนเข้ามาเจริญที่เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ บริเวณอุ้งเชิงกรานหรือลำไส้ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนในร่างกายที่หลั่งออกมาจากรังไข่เช่นเดียวกับเยื่อบุโพรงมดลูกในมดลูก ดังนั้นขณะที่มีประจำเดือนจะมีเลือดออกในช่องท้องด้วย ทำให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุช่องท้องจึงทำให้เกิดอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน

2.2 การมีเนื้องอกมดลูกโดยเฉพาะในโพรงมดลูก (Submucous myoma) มดลูกจะมีการบีบตัวเพื่อขจัดสิ่งที่ขัดขวางการหดรัดตัวในโพรงมดลูกออก ทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ

2.3 การใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) จะทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนเช่นกัน เนื่องจากร่างกายกายพยายามบีบตัวเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม

2.4 การมีพังผืดในช่องท้อง (Pelvic adhesion) พังผืดเกิดจากการผ่าตัดครั้งก่อนๆหรือจากที่เคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน (ที่ไม่ใช่จากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) จะทำให้เกิดการดึงรั้งของพังผืดกับเยื่อบุช่องท้องหรือเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดขึ้น ส่วนมากมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังมากกว่าจะปวดตามรอบของประจำเดือน

ลักษณะปวดประจำเดือนปฐมภูมิกับทุติยภูมิต่างกันอย่างไร?

ลักษณะความแตกต่างระหว่างการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิกับการปวดประจำเดือน ชนิดทุติยภูมิ
  การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ
ระยะเวลาที่เริ่มปวด ภายใน 6 เดือนแรกของการมีประจำเดือน อายุประมาณ 20 - 30 ปีขึ้นไป
ลักษณะที่ปวด ปวดบริเวณท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน เริ่มปวดก่อนหรือพร้อมกับมีประจำเดือนออกมาและอาการปวดจะประมาณ 2 - 3 วันอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วย ปวดจนกว่าเลือดประจำเดือนจะหยุด
อาการร่วม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ
  • ประจำเดือนออกมาก
  • อาจมีภาวะมีบุตรยาก
  • อาจมีภาวะเจ็บลึกๆในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีประวัติตกขาวและการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
การรับประทานยาแก้ปวดชนิด Non-steroidal anti-inflammatory/NSAID/เอ็นเสด มักดีขึ้น มักไม่ดีขึ้นจนกว่าจะรักษาสาเหตุได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดประจำเดือน ได้แก่

1. การมีประจำเดือนเร็ว มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี

2. การไม่มีลูกทำให้รังไข่ต้องทำงานตลอด จะมีรอบประจำเดือนมากกว่าคนที่มีลูก ซึ่งได้หยุดพักการมีประจำเดือนช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดระยะเวลาหนึ่ง

3. สูบบุหรี่

4. อ้วน

5. ประจำเดือนออกมากและนาน

6. การใส่ห่วงอนามัย

7. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)

8. การมีเนื้องอกมดลูก

การดูแลตนเองเบื้องต้นควรทำอย่างไร?

ผู้หญิงเกือบทุกคนจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปวดประจำเดือนมากบ้างน้อยบ้างแตก ต่างกันไป การดูแลตนเองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยลดอาการปวดหรือความทรมานระหว่างมีประ จำเดือน

วิธีการดูแลตนเองแบ่งเป็น

1. แบบไม่ต้องใช้ยา:

  • ออกกำลังกายเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย
  • การเล่นโยคะ
  • การนวด
  • ประคบอุ่นบริเวณท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน
  • การฝังเข็ม

2. แบบต้องใช้ยา:

  • ยาพาราเซทามอล (Paracetamol) ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกเพราะมีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงของยาต่ำ (ยกเว้นคนที่แพ้ยา) รับประทานขนาด 500 - 1,000 มิลลิ กรัม (1 - 2 เม็ด) ทุก 4 - 6 ชั่วโมงในช่วง 24 - 48 ชั่วโมงแรกของการเป็นประจำ เดือน
  • ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non steroidal anti-inflammatory drug : NSAIDs/เอ็นเสด) ควรเลือกใช้เป็นยาตัวต่อไปหากใช้ยาพาราเซตทามอลแล้วไม่ได้ผล ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิดที่นำมาใช้และมีขายตามร้านขายยาทั่วไปได้แก่ ยาพอนสแตน (Ponstan/Mefenamic) ขนาด 250 - 500 มิลลิกรัมรับประทาน 3 เวลาหลังอาหาร, ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ขนาด 200 - 400 มิลลิกรัมรับประทาน 3 เวลาหลังอาหารนาน 2 - 3 วัน

ควรจะพบแพทย์เมื่อใด?

เมื่อมีอาการปวดประจำเดือน ควรพบแพทย์เมื่อ หากใช้ยาที่กล่าวมาแล้ว 4 - 6 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมว่ามีพยาธิสภาพอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่หรือเพื่อการเปลี่ยนเป็นยากลุ่มอื่น ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลหรือคำ แนะนำของแพทย์

วิธีการสืบค้นหาสาเหตุของการปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดประจำเดือนได้โดย

  • ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง/อัลตราซาวด์ : มีทั้งการตรวจผ่านทางหน้าท้อง (Trans-abdominal ultrasonography) หรือผ่านทางช่องคลอด (Trans-vaginal ultrasonography) จะทำให้เห็นพยาธิสภาพของอวัยวะเพศเช่น เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroid) หรือถุงน้ำรังไข่ (Chocolate cyst) ข้อดีของการตรวจนี้คือ ราคาถูก ไม่ต้องเจ็บตัว ข้อด้อยของวิธนี้คือ จะไม่สามารถบอกเกี่ยวกับพังผืดในช่องท้องได้ หรือไม่สามารถบอกกรณีที่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ (Endometriosis)
  • ตรวจเลือดดูค่าสาร CA 125: ในภาวะที่มีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ชนิดรุนแรงอาจทำให้ ผลการตรวจ CA 125 สูงขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจชนิดนี้มีความจำเพาะต่ำสามารถตรวจพบได้ในภาวะอื่นๆได้ด้วยเช่น ภาวะการอักเสบในอุ้งเชิงกราน การตั้งครรภ์ การมีเนื้องอกรังไข่ ดังนั้นจึงไม่นิยมตรวจเพื่อใช้หาสาเหตุของการปวดประจำเดือน
  • การส่องกล้องวีดิทัศน์ทางหน้าท้อง (Diagnostic laparoscopy): เป็นวิธีการมาตรฐานในการสืบค้นหาสาเหตุของอาการปวดประจำเดือนหรือปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานเรื้อรัง หากผู้ ป่วยยังมีอาการปวดประจำเดือนมากหลังรับประทานยาไปได้สักระยะ หรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ ผู้ป่วยต้องได้รับคำแนะนำวิธีการตรวจชนิดนี้ซึ่งเป็นการตรวจในโรง พยาบาล ต้องเจ็บตัวเพราะจะมีการเจาะหน้าท้อง มีแผลที่หน้าท้อง อาจต้องให้ยาดมสลบหรือยาชาเฉพาะที่ การตรวจวิธีนี้จะสามารถเห็นรอยโรคภายในช่องอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจน เห็นพังผืด จุดเลือดออกที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรืออาจไม่พบสิ่งผิดปกติเลยก็ได้

การรักษาการปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ในกรณีที่ตรวจพบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนก็ให้รักษาตามสาเหตุนั้นๆ

แต่หากทำการสืบค้นแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ ยาที่แพทย์จะใช้ต่อไปได้คือ

1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม (Oral combined contraceptive pills): เป็นยาตัวต่อไปที่แพทย์จะเลือกใช้ โดยสามารถให้รับประทานแบบเป็นรอบๆแบบปกติ หรือแบบรับประทานติด ต่อกันไปเลยนานประมาณ 6 เดือนแล้วจึงให้มีประจำเดือนมา เป็นยาที่นิยมใช้ ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือ บริหารยาง่าย ราคายาถูก ผลข้างเคียงต่ำ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมเป็นฮอร์โมนมีผลลดการสร้างพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ลดการการหดรัดตัวของมดลูก ลดอาการปวดประจำเดือน ประกอบกับเมื่อรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดจะทำให้ลดปริมาณประจำเดือนหรืออาจไม่มีประจำเดือนจึงใช้รักษาภาวะปวดประจำเดือนได้ เป็นการนำประโยชน์ของยามาใช้รัก ษาโรคอื่นๆนอกจากการใช้คุมกำเนิด

2. การคุมกำเนิดด้วยยาฉีด นานประมาณ 9 เดือน: เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เยื่อบุโพรงมด ลูกบางตัวลง ลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกหรือไม่มีประจำเดือนเลย จึงใช้รักษาภาวะปวดประจำเดือนได้ เป็นผลพลอยได้จากยาฉีดคุมกำเนิด ผลข้างเคียงที่พบได้คือเลือดออกกระปริด กระปรอยและน้ำหนักตัวเพิ่ม

3. การใช้ยาฝังคุมกำเนิด: เป็นการนำประโยชน์ของยาที่ใช้คุมกำเนิดมาใช้รักษาอา การปวดประจำเดือนด้วย ตัวยามี 2 ขนาดคือ ชนิด 2 ปี และ3 ปี เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกหรือไม่มีประจำเดือนเลย จึงใช้รักษาภาวะปวดประจำเดือนได้ เป็นผลพลอยได้จากยาฝังคุมกำเนิด ผลข้างเคียงที่พบได้คือเลือดออกกระปริด กระปรอยและน้ำหนักตัวเพิ่ม

4. ยา Danazol : เป็นยาฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศชาย รับประ ทานนาน 6 เดือน ทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อ ลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกหรือไม่มีประจำเดือน จึงใช้รักษาภาวะปวดประจำเดือนได้ ยานี้ราคาค่อนข้างแพง ผลข้างเคียงที่พบได้จะเป็นผลของฮอร์โมนเพศชายได้แก่ เสียงห้าว เสียงแหบเหมือนผู้ชาย หน้าเป็นสิว และผิวมัน

5. ยากลุ่ม Gonadotropin releasing hormone agonist (GnRH agonist): เป็นยาฮอร์โมนที่มีฤทธิ์แรง จะทำให้รังไข่ไม่ทำงานระยะหนึ่งคล้ายกับการตัดรังไข่จึงทำให้ไม่มีเป็นประจำเดือน เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดือนละครั้งนาน 6 เดือน ราคายาแพงมาก ผลข้างเคียงสูง คือมีอาการของการหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือน) มีอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ผล ข้างเคียงที่รุนแรงหากใช้ยานานเกินไปคือทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

ป้องกันการปวดประจำเดือนได้อย่างไร?

การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดกับผู้หญิงที่ปกติทุกคน ดังนั้นเราควรคิดว่าเป็นธรรมชาติของผู้หญิง เป็นสิ่งปกติ มีปวดประจำเดือนได้ก็หายได้ไม่ต้องเครียด อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเครียดมากก็จะทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้น หากปวดประจำเดือนไม่มากเราสามารถดูแลตนเองตามที่กล่าวมาแล้ว แต่หากปวดมากก็ควรพบแพทย์เพื่อหาค้นหาสาเหตุที่ร้ายแรง ส่วนวิธีที่จะช่วยป้องกันการปวดประจำเดือน ได้แก่

1. ทำจิตใจให้ร่าเริงไม่เครียด

2. พักผ่อนให้เพียงพอ

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน จะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น เมื่อเวลาออกกำลังกายจะมีฮอร์โมนเอนโดร์ฟีน (Endorphine) หลั่งออกมาซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรามีความสุข

4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีนเช่น ชา กาแฟ หรือช็อกโกแลต

5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

6. ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม

7. รับประทานอาหารประเภทธัญพืช ถั่ว ผักใบเขียวและผลไม้มากๆ

8. ควรรับประทานปลามากกว่าเนื้อแดง (เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)

บรรณานุกรม

  1. French L. Dysmenorrhea. Am Fam Physician 2005; 71:285-91.
  2. Proctor M, Farquhar C. Diagnosis and management of dysmenorrhoea. BMJ 2006; 332:1134-8.
  3. Rapkin AJ, Howe CN. Pelvic pain and dysmenorrheal. In: Berek, JS, ed. Berek & Novak's Gynecology, 14th Edition.2007 London: Lippincott Williams & Wilkins: 505-40.
  4. Wong CL, Farquhar C, Roberts H, Proctor M. Oral contraceptive pill as treatment for primary dysmenorrhoea. Cochrane Database Syst Rev. 2009;CD002120.
  5. Ziaei S, Zakeri M, Kazemnejad A. A randomised controlled trial of vitamin E in the treatment of primary dysmenorrhoea. BJOG 2005; 112:466-9.
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Dysmenorrhea [2021, Jan30]