ปวดคอ (Neck pain)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปวดคอ (Neck pain) เป็นอาการที่พบบ่อยรองจากปวดหลัง โดยมีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ กล้ามเนื้อล้า ตกหมอน พังผืดกล้ามเนื้ออักเสบ ได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม กระดูกคออักเสบติดเชื้อเป็นหนองและวัณโรคกระดูกสันหลังส่วนคอ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (โรคข้อรูมาตอยด์) เนื้องอก และมะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกต้นคอหรือเยื่อหุ้มสมอง ภาวะเหล่านี้ อาจทำให้เกิดเฉพาะอาการปวด หรือทำให้เกิดอาการชาแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินเกร็ง ใช้มือลำบาก ถ้าอาการรุนแรงอาจเกิดอัมพาตทั้งแขนและขาได้ อาการต่างๆนอกเหนือจากอาการปวด บ่งถึงสัญญาณอันตรายและควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

ปวดคอเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ปวดคอ

สาเหตุของอาการปวดคอที่พบบ่อยที่สุดประการหนึ่งคือ กล้ามเนื้อล้า และพังผืดกล้าม เนื้อบริเวณคออักเสบ ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงวัยทำงาน สาเหตุเกิดจากการทำงานที่ใช้กล้าม เนื้อคอและไหล่มาก เช่น การสะพายเป้ หรือกระเป๋าหนักๆ การเล่นกีฬา งานที่ต้องยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ และก้มคอทำงานนานๆ ท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ การวางตำแหน่งของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไม่ถูกต้อง เช่น ต้องกางข้อศอกขึ้นใกล้หัวไหล่ การนอนคว่ำใช้คอมพิวเตอร์พกพาบนเตียงนอน เป็นต้น

อาการปวดที่เรียกว่า “ตกหมอน” เกิดจากการที่ศีรษะและคออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะ สมขณะนอนหลับ วินิจฉัยจากการที่ก่อนเข้านอน ผู้ป่วยไม่มีอาการปวดใดๆ เมื่อตื่นนอนแล้ว พบว่ามีอาการปวดคอรุนแรงทันที อาการปวดเกิดขึ้นทุกการเคลื่อนไหวทั้งก้ม เงย เอียงซ้ายขวา และหมุนซ้ายขวา

สำหรับอาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆ เกิดขึ้นตามพยาธิสภาพของโรค เช่นได้รับบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง ข้อและเอ็นกระดูกสันหลัง บริเวณคอได้รับบาดเจ็บ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังและข้อกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกคออักเสบติดเชื้อเป็นหนองและวัณโรคกระดูกสันหลังเกิดจากการได้รับเชื้อโรคเกิดหนองหรือเชื้อวัณโรค ส่งผลให้กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังถูกทำลาย ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกสันหลังส่วนคอโดยเฉพาะกระดูกสันหลังคอชิ้นที่ 1 และ 2 เกิดความไม่มั่นคง (ขยับ เคลื่อนที่ผิดปกติ) เนื้องอก และมะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกต้นคอส่งผลให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังส่วนต่างๆถูกทำลาย ส่งผลให้เกิด

1.อาการปวด

2.รากประสาทและไขสันหลังถูกกดเบียด

3.กระดูกสันหลังผิดรูป

4.กระดูกสันหลังไม่มั่นคง

และ/หรือ 5.คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ

อาการทั้ง 5 ประการนี้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพเพียงเล็กน้อยอาจมีเฉพาะอาการปวด เมื่อพยาธิสภาพของโรคลุกลามมากขึ้นจะเกิดการกดเบียดรากประสาทหรือไขสันหลัง กระดูกสันหลังผิดรูป และกระดูกสันหลังไม่มั่นคง

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของปวดคอ?

ปัจจัยที่มีหลักฐานว่า น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดคอที่ไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง ได้แก่

  • อายุ (ความชุกจะเพิ่มตามอายุจนถึงวัยกลางคนแล้วจะลดลงหลังจากนั้น)
  • เพศหญิง พบความชุกมากกว่าเพศชาย
  • การที่มีอาการปวดในส่วนอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณคอมาก่อน
  • ปวดศีรษะ
  • การพร่องสมรรถภาพทางเพศ
  • สุขภาพทั่วไปไม่ดี
  • การนอนไม่หลับ
  • สุขภาพจิตไม่ดี วิตกกังวล ซึมเศร้า
  • และการสูบบุหรี่ (Hogg-Johnson et al., 2008)

สำหรับอาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆ ปัจจัยเสี่ยงขึ้นกับชนิดของโรค แต่ปัจจัยเสี่ยงทั่วไป ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่สุขภาพไม่ดี
  • มีโรคเบาหวาน
  • ดื่มสุราจัด
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
  • โรคเอดส์
  • ผู้สูงอายุ
  • ฉีดสารเสพติด
  • ได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • โรคมะเร็ง
  • ไตวาย
  • ตับวาย
  • โรคตับแข็ง (Skaf et al., 2010)

ปวดคอมีอาการอย่างไร?

อาการปวดคอจากกล้ามเนื้อล้า ผู้ป่วยจะมีเฉพาะอาการปวด ส่วนพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอร้าวไปที่สะบัก/ไหล่ แขน และศีรษะได้ การเคลื่อนไหวคอจำกัดในทิศทางที่ต้องใช้กล้ามเนื้อล้าทำงาน

อาการปวดจาก “ตกหมอน” อาการปวดคอเกิดขึ้นทุกๆการเคลื่อนไหวคอ ทั้ง ก้ม เงย เอียงซ้ายขวา และหมุนซ้ายขวา

อาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ ส่วนใหญ่มีอาการปวดลึกๆบริเวณสะบัก /ไหล่ข้างที่มีอาการ อาจคลำพบจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อ เมื่อกดจุดนี้แรงๆจะมีอาการปวดร้าวขึ้น มาที่ต้นคอ หรือศีรษะ หรือร้าวลงแขน

สำหรับอาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆ อาการเกิดขึ้นตามชนิดและความรุนแรงของพยาธิสภาพ 5 ประการดังนี้

1. ปวด แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ

1.1) ปวดคอตามแกน หมายถึงการปวดเฉพาะที่ ไม่มีอาการปวดร้าวไปบริเวณใด

1.2) ปวดส่งต่อ เป็นลักษณะอาการปวดที่ตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุของอาการปวด และร่วมกับอาการปวดในตำแหน่งที่อยู่คนละตำแหน่งกับสาเหตุ

1.3) ปวดร้าวไปตามรากประสาท เป็นอาการปวดซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รากประสาทถูกกดเบียดหรือระคายเคืองทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามบริเวณของผิวหนังที่เลี้ยงโดยรากประสาทเส้นนั้นๆ

2. รากประสาทและไขสันหลังถูกกดเบียด

3. กระดูกสันหลังไม่มั่นคง

4. กระดูกสันหลังผิดรูป

5. คลำพบก้อน

ทั้งนี้ อาการเหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หรือมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น อาการปวด อาจเกิดจาก

  • กระดูกสันหลังไม่มั่นคง เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกสันหลังส่วนคอโดยเฉพาะกระดูกสันหลังชิ้นที่ 1 และที่ 2 เลื่อนเข้าออกขณะก้มและเงยคอ
  • อาการปวดร้าวตามรากประสาทเกิดจากการที่รากประสาทถูกกดเบียด
  • อาการปวดจากกระดูกสันหลังผิดรูป เช่น การติดเชื้อกระดูกสันหลัง
  • และอาการปวดจากการบวม
  • หรือมีก้อนเนื้อ เช่น ผู้ป่วยเนื้องอก หรือ โรคมะเร็ง
  • หรือการติดเชื้อกระดูกสันหลัง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างอาการเหล่านี้อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือ 2 ทาง ดังภาพที่ 1

ตัวอย่างปฏิสัมพันธ์ทางเดียว เช่น กระดูกสันหลังไม่มั่นคง ทำให้เกิดอาการปวด แต่อาการปวดไม่ทำให้กระดูกสันหลังไม่มั่นคง

ตัวอย่างปฏิสัมพันธ์ 2 ทาง เช่น การกดเบียดรากประสาท หรือไขสันหลังอาจทำให้กระ ดูกสันหลังผิดรูป ขณะเดียวกัน กระดูกสันหลังผิดรูป ก็ทำให้รากประสาท หรือไขสันหลังถูกกดเบียดได้เช่นเดียวกัน กระดูกสันหลังผิดรูป และกระดูกสันหลังไม่มั่นคงก็มีปฏิสัมพันธ์ 2 ทางเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการทั้ง 5 ประการ (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ) ร่วมกัน เช่น ผู้ป่วยวัณโรค หรือโรคมะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง ส่งผลให้มีการทำลายกระดูกสันหลังมากจนกระดูกสันหลังยุบตัวมากจนกดเบียดรากประสาทและไขสันหลัง จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวด (จากโรค จากการกดเบียดรากประสาท และ/หรือจากกระดูกสันหลังไม่มั่นคง) แขน ขาชาและ/หรืออ่อนแรงจากการกดเบียดรากประสาทหรือไขสันหลัง หลังโก่ง และกระดูกสันหลังไม่มั่นคงจากกระดูกสันหลังยุบผิดรูป และมีก้อนเนื้อซึ่งอาจเป็นหนองจากวัณโรค หรือจากก้อนมะเร็ง

มีวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างไร?

อาการปวดจากกล้ามเนื้อล้า ตกหมอน และพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ มีวิธีการรักษาเบื้องต้นประกอบด้วย

  • การกินยาแก้ปวด และ/หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และ/หรือยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การใส่ปลอกคออ่อนช่วยลดอาการปวดจากการจำกัดการเคลื่อนไหวคอในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากกล้ามเนื้อล้าและตกหมอน
  • รวมถึงการลดกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการปวดจะทุเลาภายใน 2-3 สัปดาห์

อาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ บางส่วนไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยาคลายกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องทำกายบริหาร/กายภาพบำ บัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อที่เกิดอาการปวด ผู้ป่วยบางส่วนจะทุเลาภายใน 4-6 สัปดาห์ ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานกว่าอาการปวดจากกล้ามเนื้อล้าหรือตกหมอน

อาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆ ในระยะแรก อาการปวดอาจตอบสนองต่อยาแก้ปวด แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา

เมื่อใดควรไปพบแพทย์?

ผู้ที่มีประวัติอาการปวดและอาการแสดงต่างๆตามตารางที่ 1 ควรไปพบแพทย์ทันที

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดคออย่างไร?

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ และประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ การตรวจร่างกาย และอาจทำการสืบค้น/Investigation (การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกซเรย์เพิ่มเติม) ในกรณีที่การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ หรือมีสัญญาณอันตรายตามตารางที่ 1

อาการปวดจากกล้ามเนื้อล้า ตกหมอน และพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยไม่ต้องทำการสืบค้นใดๆต่อ

อาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆ ส่วนใหญ่ต้องทำการสืบค้นเพื่อวินิจฉัยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสัญญาณอันตราย วิธีการสืบค้น ได้แก่ การตรวจทางรังสี (ภาพเอกซเรย์ และ/หรือภาพเอมอาร์ไอกระดูกสันหลัง) การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyelography) การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับพยาธิสภาพของโรค

แพทย์มีวิธีรักษาอย่างไร? ค่ารักษาแพงหรือไม่?

วิธีการรักษาอาการปวดจากกล้ามเนื้อล้าและตกหมอน ประกอบด้วย การพักการใช้คอ การลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความปวด กินยาลดปวด/ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ยาสเตีย รอยด์ (NSAID)และยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าอาการปวดรุนแรง อาจใส่ปลอกคออ่อนเพื่อจำกัดการเคลื่อน ไหวของคอ จนกว่าอาการปวดจะทุเลา ทั้งนี้ค่ารักษาพยาบาลไม่สูง

วิธีการรักษาอาการปวดจากพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ ในระยะ 4 สัปดาห์แรก รัก ษาเช่นเดียวกับการรักษาอาการปวดจากกล้ามเนื้อล้าและตกหมอน ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรัก ษา แพทย์ต้องให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆต่อ เช่น การบริหารร่างกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ (กายภาพฟื้นฟู) การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ โดยฉีดเข้าไปยังจุดกดเจ็บ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลจะสูงกว่าในกลุ่มแรก

วิธีการรักษาอาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆ ขึ้นกับการวินิจฉัยพยาธิสภาพแต่ละโรคว่า มีระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการสืบค้น และอาจจำเป็นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลจึงค่อน ข้างสูง หรือสูงมาก

ป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดคอได้อย่างไร?

หลักฐานงานวิจัยที่ศึกษาวิธีป้องกันอาการปวดคอที่ไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง มีน้อยกว่าอาการปวดหลังมาก ไม่พบหลักฐานว่าการรักษาชนิดใดที่มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการปวดคอที่ไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง หรือป้องกันการเกิดซ้ำ (Hurwitz et al., 2008)

อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ การคงพิสัย (ขอบเขต) การเคลื่อนไหวคอ และการบริหารกล้ามเนื้อคอและสะบัก รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน อาจมีประโยชน์ในการลดจำนวน และความรุนแรงของอาการปวดที่เกิดจากจากกล้ามเนื้อล้า ตกหมอน และพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบได้

ส่วนวิธีป้องกันอาการปวดคอจากสาเหตุอื่นๆไม่มีวิธีการเฉพาะนอกเหนือไปจากการหลีก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง (งดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด) กินอาหารถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เนื้อความสรุป

อาการปวดคอ เกิดจากสาเหตุหลายประการ บางชนิดส่งผลให้เกิดเฉพาะอาการปวดเพียงอย่างเดียว (กล้ามเนื้อล้า ตกหมอน และพังผืดกล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบ) บางชนิดส่งผลให้เกิดอาการปวด รากประสาทและไขสันหลังถูกกดเบียด กระดูกสันหลังผิดรูป กระดูกสันหลังไม่มั่นคง หรือคลำพบก้อนเนื้อ

ถ้ามีเฉพาะอาการปวด วิธีการรักษาเบื้องต้นประกอบด้วยการกินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ และ/หรือยาคลายกล้ามเนื้อ และการใส่ปลอกคออ่อน

ถ้าอาการปวดไม่ทุเลาภายใน 4 สัปดาห์ หรืออาการปวดรุนแรงขึ้น หรือมีสัญญาณอัน ตรายเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

บรรณานุกรม

  1. กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย, เสมอเดือน คามวัลย์, ชัช สุมนานนท์. โรคกระดูกสันหลังเสื่อม: หลักฐานเชิงประจักษ์. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2554.
  2. Hogg-Johnson S, van der Velde G, Carroll LJ, Holm LW, Cassidy JD, Guzman J, et al. The burden and determinants of neck pain in the general population: results of the Bone and Joint Decade 2000-2010 Task Force on Neck Pain and Its Associated Disorders. Spine 2008; 33(Suppl 4): S39-51.
  3. Hurwitz EL, Carragee EJ, van der Velde G, Carroll LJ, Nordin M, Guzman J, et al. Treatment of neck pain: noninvasive interventions: results of the Bone and Joint Decade 2000-2010 Task Force on Neck Pain and Its Associated Disorders. Spine 2008; 33(Suppl 4): S123-52.
  4. Skaf GS, Kanafani ZA, Araj GF, Kanj SS. Non-pyogenic infections of the spine. Int J Antimicrob Agents. 2010; 36(2): 99-105.
Updated 2017,Feb18