ปลูกไขกระดูก ปลูกชีวิตใหม่ (ตอนที่ 6)

ปลูกไขกระดูก

อาการแทรกซ้อนของผู้ป่วยแต่ละคน จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ

  • ชนิดของโรคที่เป็น
  • อายุและสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย
  • ปริมาณการได้รับเคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัดก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ชนิดของการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อระหว่างผู้ป่วยและผู้บริจาค

โดยอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้แก่

  • การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีมากที่สุด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) และมีภาวะโลหิตจาง (Anemia) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ อันเนื่องมาจากการที่ไขกระดูกไม่ทำงาน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้เพราะมีเลือดออกในปอด ทางเดินอาหาร และสมอง
  • อาการปวดและอักเสบ ที่ปากและทางเดินอาหาร จากการให้เคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัด
  • สารน้ำมากเกิน (Fluid overload) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนิวมอเนีย ตับถูกทำลาย และความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ เนื่องจากไตไม่สามารถรับน้ำปริมาณมากที่มาจากการให้ยา สารอาหาร และเลือด ผ่านทางหลอดเลือด (Intravenous = IV) หรือไตอาจถูกทำลายจากโรค การติดเชื้อ เคมีบำบัด รังสีบำบัด หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
  • ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย (Graft-versus-host disease = GVHD) สามารถเป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงในการปลูกถ่ายไขกระดูกที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เมื่อระบบภูมิต้านทานของผู้บริจาคไม่สามารถเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของผู้รับ ระบบภูมิต้านทานใหม่อาจทำลายอวัยวะทั้งหมดของผู้รับได้ เพราะเซลล์ใหม่ไม่ยอมรับเนื้อเยื่อและอวัยวะของผู้ป่วย ต้องอาศัยยากดภูมิจนกว่าจะเกิดการยอมรับ โดยบริเวณส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะต่อต้าน ได้แก่ ทางเดินอาหาร ตับ ผิวหนัง และปอด
  • ภาวะหายใจลําบาก (Respiratory distress) อันเนื่องมาจากการติดเชื้อ การอักเสบของทางเดินหายใจ สารน้ำมากเกิน มีภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย และเลือดออกที่อาจเกิดในปอดและระบบหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • อวัยวะถูกทำลาย (Organ damage) เช่น ตับ ไต ปอด และหัวใจ ความเสียหายของอวัยวะเพียงชั่วคราวหรือถาวรอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย การได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดในปริมาณที่มาก และสารน้ำมากเกิน
  • การปลูกถ่ายไม่สำเร็จ (Graft failure) เพราะมีการติดเชื้อ โรคกลับเป็นซ้ำ (Recurrent disease) หรือปริมาณสเต็มเซลล์ใหม่ที่ได้รับไม่พอเพียง
  • เด็กอาจมีภาวะการหยุดเจริญเติบโต
  • มีวัยหมดระดูเร็วกว่ากำหนด (Early menopause)
  • มีการอักเสบและปวดที่ปาก คอ หลอดอาหาร และท้อง หรือที่เรียกว่า เยื่อเมือกอักเสบ (Mucositis)
  • มีปัญหาเกี่ยวกับท้อง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน

แหล่งข้อมูล

1. Bone Marrow Transplantation. http://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/hematology_and_blood_disorders/bone_marrow_transplantation_85,P00086/ [2016, October 5].

2. Bone marrow transplant. https://medlineplus.gov/ency/article/003009.htm [2016, October 5].