ประเภทอาหารทางการแพทย์ (Type of diet in hospital)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ประเภทอาหารทางการแพทย์

ประเภทอาหารทางการแพทย์ (Type of diet in hospital) เป็นประเภทอาหารในโรคที่ต้องมีการแนะนำอาหาร, แพทย์ พยาบาล โภชนากร จึงแนะนำอาหารเป็นประเภทอาหารต่างๆ เช่น อาหารอ่อน, อาหารย่อยง่าย, อาหารรสจืด, หรือหลีกเลี่ยงอาหารท้องเสีย/เสาะท้อง, ดังนั้นผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรเข้าใจชนิดของประเภทอาหารทางการแพทย์ เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำได้ถูกต้อง ซึ่งอาหารทางการแพทย์เหล่านี้คือ อาหารประเภทต่างๆที่แพทย์ พยาบาล โภชนากรแนะนำสำหรับผู้ป่วยนั่นเอง ซึ่งมีความหมายดังนี้

  • อาหารปกติ: ได้แก่ อาหารที่กินเป็นประจำทุกวัน อาจเป็นข้าวสวย ข้าวต้ม แกงเผ็ด ผัดผักต่างๆ เป็นต้น และควรเป็นอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่
  • อาหารอ่อน: ได้แก่
    • อาหารที่ย่อยง่าย อ่อนนุ่ม มีน้ำมากกว่าปกติ และมีรสจืด เช่น ข้าวต้มหมูสับรสจืด ข้าวสวยหุงเปียก แกงจืดผักต้มเปื่อย แกงจืดหมูสับเต้าหู้
    • ไข่ปรุงสุกยกเว้นไข่ดาว, ไข่ตุ๋น
    • เนื้อปลา
    • เนื้อสัตว์ต้องต้มเปื่อย
    • ผักต้องต้มเปื่อยและเป็นชนิดใยอาหารต่ำ เช่น ผักกาดขาวต้ม แกงจืดผักกาดขาว
    • ผลไม้ต้องเป็นผลไม้สุกงอม
    • ขนมต้องเป็นขนมที่ย่อยง่ายเช่นกัน เช่น ข้าวเหนียวเปียก ขนมเปียกปูน ขนมเค้ก และ
    • อาหารทุกชนิดควรเป็นอาหารมีประโยชน์ครบห้าหมู่
  • อาหารเหลว/อาหารน้ำ: เป็นอาหารที่มีลักษณะเหลวเป็นน้ำ รสจืด มีคุณค่าอาหารน้อยกว่า 2 ชนิดแรกดังกล่าวมาก เช่น น้ำซุปต่างๆ น้ำแกงจืด หรือน้ำข้าว มักเป็นอาหารที่แพทย์แนะนำเมื่อ
    • หลังเพิ่งหยุดท้องเสีย
    • 1-3 วันหลังผ่าตัดลำไส้
    • ในช่วงฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะลำคอและเจ็บปากเจ็บคอมาก
    • ช่วงได้ยาเคมีบำบัดแล้วมีอาเจียนมาก
  • อาหารเสาะท้อง: ได้แก่ อาหารที่กินแล้วท้องเสียได้ง่าย เช่น ส้ม ส้มตำ หรือนมสำหรับคนที่ดื่มแล้วทำให้ท้องเสีย อาหารกลุ่มนี้ มักมี
    • รสจัด
    • รสเปรี้ยว
    • ใยอาหารสูง
  • อาหารป้องกัน/ลดอาการท้องเสีย: ได้แก่
    • อาหารอ่อน
    • อาหารเหลว/อาหารน้ำ
  • อาหารช่วยลดอาการท้องผูก: ได้แก่
    • อาหารกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ ทั้งชนิดดิบและชนิดสุก
  • อาหารย่อยง่าย: ได้แก่ อาหารอ่อน ซึ่งรวมทั้งไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ยกเว้นไข่ดาว
  • อาหารย่อยยาก: ได้แก่ อาหารใยอาหารสูง คือ ผักและผลไม้ดิบ นอกจากนั้นคือ เนื้อสัตว์ต่างๆ รวมทั้งอาหารทะเลยกเว้นปลา
  • อาหารใยอาหารสูง: ได้แก่ อาหารกลุ่มเดียวกับอาหารย่อยยาก
  • อาหารเค็ม: ได้แก่ อาหารที่มีเกลือแกง/เกลือทะเลสูง เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว อาหารเค็มจัด มันฝรั่งทอดคลุกเกลือ และขนมขบเคี้ยวต่างๆ
  • อาหารหวาน: ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาลสูงให้รสหวานจัด เช่น ขนมต่างๆ ผลไม้รสหวานจัด เช่น เงาะ ลำไย
  • อาหารรสจืด: ได้แก่ อาหารที่ ไม่เผ็ด ไม่หวาน ไม่เปรี้ยว ไม่เค็ม
  • อาหารรสจัด: คือ อาหารที่มีรสจัด อาจทั้ง เค็ม หวาน เปรี้ยว เผ็ด หรือ รสจัดเพียงรสใดรสหนึ่ง
  • อาหารโปรตีนสูง อาหารโปรตีนต่ำ:
    • อาหารโปรตีนสูงคือ เนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้ง ปลา อาหารทะเล ไข่ และตับ
    • อาหารโปรตีนต่ำคือ จำกัดอาหารที่มีโปรตีนสูง กินโปรตีนจากพืชแทนเป็นส่วนใหญ่
  • อาหารคาร์โบไฮเดรตสูง อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ:
    • อาหารคาร์โบไฮเดรตสูงคือ อา หารแป้งสูง หรือ อาหารหวาน ตรงข้ามกับ
    • อาหารแป้งต่ำคือ กินแป้ง หรือหวานให้น้อยลง หรือ จำกัดการกินแป้งรวมทั้งกินของหวาน กินข้าวเพียงมื้อละ 2 - 3 ช้อนโต๊ะ
  • อาหารไขมันสูง อาหารไขมันต่ำ:
    • อาหารไขมันสูงคือ มีไขมันสัตว์มาก หรือปรุงด้วยการทอด หรือผัดน้ำมัน
    • ส่วนอาหารไขมันต่ำคือ อาหารต้ม ปิ้ง ย่าง หลีกเลี่ยงการกินไขมัน เขี่ยไขมันทิ้ง หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารผัดน้ำมัน และหลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ แต่เมื่อจำเป็นควรใช้ไขมันพืชแทน
  • อาหารตามแต่ละประเภท/ชนิดของโรค ซึ่ง แพทย์ และโภชนากร จะให้คำแนะนำเป็นแต่ละโรค/ผู้ป่วย เช่น
    • อาหารสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดโรคหัวใจ
    • อาหารผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
    • อาหารผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ได้