ปรอทปลอดไม่จริง (ตอนที่ 2)

ปรอทปลอดไม่จริง

องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะหญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรว่า ไม่ควรรับประทานอาหารทะเลและปลาที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารปรอท เช่น ปลากระโทงดาบ ปลาฉลาม ปลาทูน่า ปู หอย ในปริมาณเกินกว่า 200 กรัมต่ออาทิตย์ หรือไม่ควรเกิน 1 - 2 ครั้งต่ออาทิตย์

และอีกวิธีที่สามารถช่วยลดการได้รับสารปรอท คือ การลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารปรอท โดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้รับมาตรฐานหรือไม่ได้รับสัญลักษณ์ความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการทาเล็บติดต่อกันเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการทำสีผมบ่อยครั้ง ก็จะช่วยลดการได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย

ปรอท (Mercury) เป็นโลหะหนักที่มีหลายรูปแบบ เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะพิษปรอท (Mercury poisoning / Hydrargyria / Mercurialism) ซึ่งสามารถทำลายสมอง ไต และปอด ทำให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรค Acrodynia (Pink disease) โรค Hunter-Russell syndrome และ โรคมินามาตะ Minamata disease

อาการของโรคมักมีผลกระทบเกี่ยวกับการรับความรู้สึก เช่น การมองเห็น การได้ยิน การพูด โดยอาการขึ้นกับปริมาณสารพิษที่ได้รับ วิธีและระยะเวลาที่ได้รับสารพิษ

อาการโดยทั่วไปได้แก่

  • ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy)
  • สีผิวที่เปลี่ยนไป (แก้ม นิ้วมือ เท้า กลายเป็นสีชมพู)
  • บวม
  • ผิวหลุดลอก ตกสะเก็ด (Desquamation)
  • เหงื่อออกมาก
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia)
  • หลั่งน้ำลายมาก (Salivation)
  • ความดันโลหิตสูง

สำหรับเด็กอาจปรากฏอาการ

  • แก้ม จมูก ปาก เป็นสีแดง
  • ผม ฟัน เล็บ หลุด
  • มีผื่นคันชั่วคราว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Hypotonia)
  • ไวต่อแสง (Sensitivity to light)
  • ไตทำงานผิดปกติ
  • ความจำเสื่อม (Memory impairment)
  • นอนไม่หลับ (Insomnia)

แหล่งข้อมูล

  1. ระวังอันตรายจากสารปรอทอาจก่อให้เกิดโรคภูมิต้านตนเอง/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000022913 [2015, March 8].
  2. Mercury poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Mercury_poisoning [2015, March 8].